ดัชนีความสุขคนไทยดีขึ้น ต้องสานต่อความยั่งยืน

ดัชนีความสุขคนไทยดีขึ้น ต้องสานต่อความยั่งยืน

ไทยรั้งดัชนีความสุขโลกดีขึ้น 2 อันดับจากระดับ 36 เมื่อปี 2556 มาอยู่ที่อันดับ 34 ในปีนี้

 และรั้งอันดับ 2 ในอาเซียน จากการจัดอันดับดัชนีความสุขโลกล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ปี 2558 ขณะที่ชาวสวิสมีความสุขมากที่สุดในโลก ทั้งนี้ยูเอ็นและเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เปิดเผยรายงานความสุขของประชากรโลกปีนี้ จากการประเมินผล 158 ประเทศทั่วโลก ซึ่งปรากฏว่า 5 อันดับแรกของโลกอยู่ในกลุ่มประเทศตะวันตก ทั้งสวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์กที่ตกจากแชมป์เมื่อ 2 ปีก่อนลงมาเป็นอันดับ 3 ตามมาด้วยนอร์เวย์ และแคนาดา ส่วนมหาอำนาจอย่างสหรัฐตามมาในอันดับที่ 15 และอังกฤษอยู่อันลำดับที่ 21

สำหรับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน 10 ประเทศ แน่นอนว่าสิงคโปร์ซึ่งรั้งอันดับที่ 24 ของโลกยังคงรักษาแชมป์ความสุขสูงสุดในอาเซียน ขณะที่ไทยมาเป็น 2 ในอาเซียนติดอันดับโลกที่ 34 ดีขึ้นหลังจากบรรยากาศความอึมครึมของความขัดแย้งทางการเมือง ที่ปะทุเป็นความรุนแรงในช่วงปลายปี 2556 ถึงเดือนพ.ค.2557 กำลังเดินเข้าสู่โหมดของการปฏิรูปประเทศและสร้างการปรองดอง ที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช.เข้ามาควบคุมดูแลนโยบายและเดินแนวทางปฏิบัติภายใน 2 ปีโดยคาดว่าจะดำเนินให้มีการเลือกตั้งราวเดือนเมษายน 2559 ส่วนมาเลเซียอันดับที่ 61 อินโดนีเซียอันดับที่ 74 และเวียดนามอันดับที่ 75 ของโลกตามลำดับ

ทั้งนี้รายงานดัชนีความสุขของโลกฉบับนี้ได้จัดทำขึ้น โดยประเมินผลและวัดจากตัวเลขรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี การมีอายุยืนอย่างมีสุขภาพดีของประชากร การเกื้อกูลที่เป็นแรงสนับสนุนทางสังคม เสรีภาพในการเลือกดำเนินชีวิต การปลอดจากภัยคุกคามของการคอร์รัปชัน และท้ายที่สุดความมีน้ำจิตน้ำใจของคนในสังคมนั้นๆ อย่างไรก็ตามความสุขของประชาชนยังต้องมีองค์ประกอบอีกหลายปัจจัยรวมกัน จึงไม่ใช่เพียงตัวเลขทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงความเป็นธรรม ความซื่อสัตย์ ความไว้วางใจต่อกัน และการมีสุขภาพพลานามัยที่ดี สำหรับกรณีของไทยคงต้องมองดูที่ผลของการปฏิรูปประเทศที่มีรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะคสช. จะกำหนดอยู่ในกรอบของการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับการปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดอง ที่มีเป้าหมายสำคัญคือ หนุนสังคมที่เป็นธรรมและการนำประเทศสู่สันติสุข

จะสามารถบรรลุผลได้จาก 5 วาระหลัก ในการปฏิรูปเศรษฐกิจที่การปฏิรูปด้านการเงิน การคลัง กับภาษีอากร, การปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อม, การปฏิรูปด้านพลังงาน, การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจมหภาค และการปฏิรูปเศรษฐกิจรายสาขาที่เน้นด้านการเกษตร และการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับระบบขนส่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะการกระจายถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนพร้อมกับการจัดตั้งธนาคารที่ดิน รวมถึงการปฏิรูปการคลัง และภาษีอากรที่ให้มีกฎหมายกำหนดให้บุคคลต้องแสดงรายได้ต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ผู้มีรายได้ทุกคนสามารถเข้าสู่ระบบภาษีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยที่ผู้เสียภาษีมีสิทธิได้ประโยชน์ตามกฎหมายได้อย่างยั่งยืนหรือไม่

เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีคลัง ได้ให้สัมภาษณ์โดยยอมรับว่า เวลานี้เศรษฐกิจของไทยถดถอย คล้ายกับอาการของเศรษฐกิจโลก เพราะแม้ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรก็ไม่เป็นผล เพราะหนี้ครัวเรือนที่มีถึง 86%ของจีดีพี ก็เกือบจะสูงที่สุดในโลก ซึ่งหนี้ครัวเรือนนี้เป็นผลพวงที่เกิดจากโครงการประชานิยมของรัฐบาลในอดีต ที่ทำให้คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ที่ร้ายกว่านั้น ถ้าหากจะให้เศรษฐกิจทุกเครื่องยนต์เดินหน้าได้ ก็ต้องเก็บภาษีเพิ่มเพื่อที่จะหารายได้มาสำหรับการใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ จากคำพูดของนายสมหมายเชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราเติบโตที่ต่ำมากนี้ ไม่ใช้แค่เป็นปัญหาระยะสั้น แต่เป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้าง เพื่อทำให้คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยที่สามารถลดภาระหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้ความสุขที่แท้จริงของคนไทยเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนในที่สุด