ทิศทางต่อไปของการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ทิศทางต่อไปของการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ต้นเดือนเมษายน ผมได้ไปร่วมประชุมกับกลุ่มประเทศ G20 และองค์กร OECD (Organization for Economic Co-operation and Development)

ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี เรื่อง หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของโออีซีดีที่โออีซีดีกำลังพิจารณาปรับปรุง (Revision) และคงจะนำฉบับปรับปรุงใหม่ออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการปลายปีนี้ การปรับปรุงครั้งนี้เป็นการปรับปรุงใหญ่ครั้งที่สอง นับจากที่โออีซีดีได้นำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาเผยแพร่ให้เป็นแนวปฏิบัติทั่วไปครั้งแรกในปี 1999 และมีการปรับปรุงใหญ่ครั้งแรกปี 2004 ครั้งนี้เป็นการปรับปรุงใหญ่ครั้งที่สอง ซึ่ง น่าสนใจว่าการปรับปรุงทั้งสองครั้งเกิดขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติหรือเหตุการณ์ใหญ่ในเรื่องธรรมาภิบาลหรือเรื่องเศรษฐกิจ


กล่าวคือ การปรับปรุงเมื่อปี 2004 เกิดขึ้นหลังมีบริษัทในสหรัฐและยุโรปหลายแห่งล้มละลายจากความบกพร่องด้านธรรมาภิบาลช่วงปี 2000-2002 ที่เกิดจากการตบแต่งตัวเลขทางบัญชี ที่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกี่ยวกับคุณภาพการเปิดเผยข้อมูลและการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ ที่สำคัญความบกพร่องสะท้อนความอ่อนแอเชิงสถาบันของบริษัทเอกชน ที่จะนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของโออีซีดีไปปฏิบัติใช้อย่างเหมาะสม การปรับปรุงครั้งแรกจึงเน้นไปที่บทบาทผู้ถือหุ้นในการสร้างกระบวนการต่างๆ ที่บริษัทควรมี เพื่อลดความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล เช่น การแต่งตั้งกรรมการ การคานอำนาจเพื่อลดประเด็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การเปิดเผยข้อมูล การให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีต่อผู้ถือหุ้น และความรับผิดรับชอบของคณะกรรมการบริษัทต่อผู้ถือหุ้นในการทำหน้าที่ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี


ในคราวนี้การปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการของโออีซีดี ก็สะท้อนชัดเจน ผลของวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นช่วงปี 2008-2009 ที่เกิดจากความบกพร่องในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทในประเด็น เช่น การบริหารความเสี่ยง การจ่ายผลตอบแทนต่อผู้บริหารที่นำไปสู่การสร้างแรงจูงใจที่ผิดพลาดในการทำธุรกิจ นำไปสู่การทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง และที่สำคัญวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นสะท้อนอย่างชัดเจนถึงบทบาทที่สำคัญของภาคการเงินในระบบเศรษฐกิจ ที่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งเศรษฐกิจได้ กล่าวคือ ถ้าการกำกับดูแลกิจการในภาคการเงินบกพร่องเกิดปัญหาขึ้นมา ปัญหาดังกล่าวก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจทั้งระบบได้ ประเด็นนี้ทำให้การปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของโออีซีดีคราวนี้ จึงให้ความสำคัญมากกับการมีธรรมาภิบาลที่ดีในภาคการเงิน โดยเฉพาะบทบาทนักลงทุนสถาบันในฐานะเจ้าของ การกำกับดูแลกิจการที่ดีในตลาดหุ้น และในบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงิน หรือ Financial Intermediaries เพราะจะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือ Growth จึงเป็นเรื่องที่โออีซีดีเน้นมากในการปรับปรุงคราวนี้


การให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อระหว่างการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการเติบโตของเศรษฐกิจ สะท้อนข้อเท็จจริงว่าปัจจุบันตั้งแต่เกิดวิกฤติปี 2009 เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มโออีซีดียังมีปัญหามาก การฟื้นตัวยังอ่อนแอ ทำให้ความท้าทายด้านนโยบายก็คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศโออีซีดีฟื้นตัว ซึ่งในข้อเท็จจริงการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อภาคเอกชนมีการลงทุน และการลงทุนของภาคเอกชนจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อระบบการเงินสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลาดการเงินมีความน่าเชื่อถือ และการเข้าถึงทรัพยากรการเงินเปิดกว้างให้กับธุรกิจทุกประเภท ทุกขนาด ประเด็นนี้ทำให้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ได้ถูกมองว่าจะเป็นกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ ที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน และเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีฉบับใหม่ จึงถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นบรรทัดฐานสำคัญต่อมาตรฐานการทำนโยบายต่อไป ที่จะนำไปสู่การสร้างประสิทธิภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ


โดยสรุป แนวคิดสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการปรับปรุงหลักการกำกับดูแลกิจการของโออีซีดีคราวนี้ คงมีสามประเด็นคือ


หนึ่ง ความต้องการที่จะให้การกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นหลักที่จะนำไปสู่มาตรฐานการทำนโยบายในส่วนต่างๆ ที่จะยืนอยู่บนหลักธรรมาภิบาลคล้ายๆ กัน ที่จะสร้างประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ สร้างการเติบโตที่ยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน


สอง เน้นความสำคัญในเรื่องสิทธิและประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผลที่จะมีต่อการประกอบการของบริษัทและความยั่งยืนของธุรกิจ ทำให้ธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมมากขึ้น


สาม ความสำคัญของหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่จะมีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน นำไปสู่การลดต้นทุนในการระดมทุน และสร้างความมั่นใจว่าสิทธิของผู้ถือหุ้นและของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้รับการคุ้มครอง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการระดมทุนของบริษัทเอกชน


ในรายละเอียดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีฉบับใหม่ของโออีซีดี ยังคงมีหกบท (Six Chapters) เหมือนเดิม แต่ที่จะแตกต่างจากฉบับปัจจุบันก็คือ ประเด็นเรื่องสิทธิผู้ถือหุ้น และการดูแลผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน ได้ถูกนำมารวมเป็นบทเดียวกันจากที่เดิมแยกเป็นสองบท แต่ในส่วนนี้ก็ได้เพิ่มความสำคัญเรื่องความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นมากขึ้น ส่วนบทที่เพิ่มใหม่ก็คือ บทว่าด้วยนักลงทุนเชิงสถาบัน ตลาดหุ้น และบริษัทตัวกลางทางการเงิน เพื่อสะท้อนความสำคัญของธรรมาภิบาลในภาคการเงินต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ ส่วนที่เหลืออีกสามบทยังเหมือนเดิม คือ บทผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บทการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และบทว่าด้วยความรับผิดชอบของคณะกรรมการ


ในการประชุม ที่ประชุมได้เน้นมากว่า แม้หลักการกำกับดูแลกิจการฉบับปรับปรุงล่าสุดนี้ จะมีบริษัทจดทะเบียนเป็นเป้าหมายหลัก แต่การปฏิบัติใช้ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ และธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก นอกจากนี้ที่ประชุมก็ให้ความสำคัญกับข้อจำกัด ในการนำหลักการดังกล่าวมาปฏิบัติใช้ เพราะหลักการก็คือหลักการ แต่ปัญหาส่วนใหญ่จะอยู่ที่การปฏิบัติ เรื่องนี้ก็หวังให้สถาบันกรรมการประเทศต่างๆ เป็นทัพหน้าที่จะสร้างความเข้าใจในหลักปฏิบัติที่ปรับปรุง ให้กรรมการทราบ เพื่อทราบถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่กำลังเกิดขึ้น และให้เกิดการนำไปปฏิบัติใช้จริง


สำหรับประเทศไทย สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี ก็คงต้องทำหน้าที่นี้ เพื่อให้กรรมการบริษัทเอกชนไทย เข้าใจในทิศทางการกำกับดูแลกิจการที่กำลังเกิดขึ้นในเวทีโลก