ผู้บริหารสุดสองขั้ว

ผู้บริหารสุดสองขั้ว

เช้าว่าต้องประหยัดรัดเข็มขัดกันหน่อย บ่ายบอกว่าต้องทุ่มทุนขยายกิจการโดยเร็ว เป็นนโยบายการบริหารที่ใครที่ต้องปฏิบัติตามคงประสาทเสียไปตามๆ กัน

ผู้บริหารที่ดีไม่กำหนดนโยบายที่ขัดแย้งกันเองให้คนทำงานต้องปวดหัวว่าจะทำงานกันอย่างไรดีหว่า แต่ไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีที่ได้ทำงานกับผู้บริหารที่กำหนดทิศทางที่ชัดเจน จนสามารถปฏิบัติได้โดยทั่วหน้า การกำหนดทิศทางที่ขัดแย้งกันอย่างตรงข้าม สุดขั้วไปสองทางนั้น ไม่ต้องใช้ความชาญฉลาดใดๆ ก็พอจะบอกได้ว่านำไปปฏิบัติให้ได้ผลเป็นรูปธรรมทั้งสองขั้วนั้นพร้อมๆ กันไม่ได้แน่ ทุ่มทุนขยายกิจการไปพร้อมๆ กับรัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่ายคงเกิดขึ้นพร้อมกันได้ไม่ง่ายนัก แต่ทำไมผู้บริหารบางคนจึงหลุดนโยบายต่างสุดขั้วออกมาได้ ทั้งๆ ที่ต่างก็ดูมีสติปัญญา ไม่น่าเชื่อว่าจะหลุดนโยบายที่เหมือนสีขาวกับสีดำออกมาจากความเขลาเบาปัญญา ผู้บริหารที่ดูเก่งแสนเก่งหลุดเรื่องที่ใครๆ ก็รู้ว่าไม่ฉลาดออกมาได้อย่างไร


ทิศทางที่ต่างกันสุดขั้วมักเกิดมาจากผู้บริหารที่ไม่ได้เต็มใจจะมาเป็นผู้บริหาร ซึ่งอาจสงสัยกันว่าถ้าไม่อยากเป็นก็ไม่ได้มีใครมาบังคับให้เป็นผู้บริหาร ไม่อยากเป็นก็ไม่ต้องรับตำแหน่งหน้าที่ คำตอบคือหน้าที่ตามตำแหน่งนะไม่อยากได้ แต่อยากได้อำนาจและผลตอบแทนที่มากขึ้นจากการได้เก้าอี้นั้นมาต่างหาก เมื่อเป็นผู้บริหารเพราะอยากได้อำนาจ อยากได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ไม่ได้อยากทำงานที่ท้าทายความสามารถมากขึ้น จึงไม่มีความพร้อมสำหรับการบริหารบนเก้าอี้ตัวนั้น บางคนก็กลายเป็นตรายางให้กับงานที่ลูกน้องคนเก่งทำมาให้ บางคนก็กำหนดทิศทางส่งเดชไปในแต่ละวัน เพื่อให้ดูเหมือนว่าตนเองเป็นผู้บริหารที่มากด้วยวิสัยทัศน์ ซึ่งค่อนข้างจะแน่นอนว่าวิสัยทัศน์ของคนที่ไม่ได้มุ่งมั่นกับหน้าที่การงานที่ท้าทายในตำแหน่งบริหารนั้น


ไม่แตกต่างไปจากอาการตาบอดคลำช้าง เราต่างทราบกันดีว่าการงานทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมากมาย จึงมีเฉพาะแต่คนที่ใส่ใจ ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะบริหารงานภายใต้ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงนั้น ที่จะบริหารงานในวันนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล ใครที่ไม่ได้สนุกกับการงานในตำแหน่งนั้น ต้องนึกเสมอว่าสิบปีของแต่ก่อนไม่นานเท่าหนึ่งปีของวันนี้ในเชิงของการเปลี่ยนแปลง ทำงานหนึ่งปีในโลกเราวันนี้ ยากกว่าทำงานสิบปีในโลกวันวาน


หากต้องทำงานกับนโยบายสุดสองขั้ว ก็ต้องคิดดูว่าจะอยู่กันแบบนั้นต่อไปกันหรือไม่ ถ้าคำตอบคือเป็นอย่างไรก็ต้องอยู่ ก็ต้องหาทางอยู่อย่างปวดหัวน้อยที่สุด โดยอาศัยเทคนิคที่ไม่ได้มีแนวคิดสลับซับซ้อน แต่ไม่ง่ายนักที่จะปฏิบัติ เริ่มต้นจากการรับนโยบายหรือทิศทางการทำงานใดๆ ที่ผู้บริหารกำหนดขึ้นมาเป็นเอกสาร มีประกาศ มีเว็บให้เห็นกันทั่วหน้า อย่ารับนโยบายที่เป็นคำพูดลอยๆ เป็นแค่อีเมล์ แค่ไลน์ส่งมาให้เฉพาะตัวเราเท่านั้น นึกไว้ก่อนว่าอะไรที่ขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น เปลี่ยนได้ยากกว่า และผู้คนรอบด้านมองเห็นความขัดแย้งในนโยบายนั้นได้ง่ายกว่า แม้แต่คนที่กำหนดนโยบายนั้นขึ้นมาเองก็ยังมีโอกาสที่จะสังเกตเห็นสองขั้วของนโยบายของตนเองได้ด้วย เราอาจโชคดีโดยไม่ต้องออกแรงใดๆ ถ้าผู้บริหารรู้ตัวเองหลังจากได้ทบทวนนโยบายที่ขีดเขียนเอาไว้


อย่าเกรงใจที่จะสอบถามให้ชัดเจนว่าทิศทางที่ต้องการให้เราเดินหน้าทำงานนั้นเป็นไปอย่างที่เราคิดหรือไม่ ถ้าจะบอกไปตรงๆ ว่าสองขั้วทิศทางนี้ ทำไปพร้อมกันไม่ได้ อาจโดนเล่นงานกลับมา อย่าลืมว่าการทำงานในบ้านเรามักไม่ค่อยจะยอมรับความเป็นจริงว่ามีความไม่สอดคล้องเกิดขึ้นในทิศทางวันหน้า เราอยากเป็นหลายๆ อย่างที่ต่างคนต่างรู้ว่าเป็นพร้อมกันไม่ได้ แต่ไม่สามารถพูดหารือกันว่าเป็นไปไม่ได้ หนทางเดียวที่ทำได้ท่ามกลางทิศทางการบริหารที่ไม่สอดคล้องกัน คือหาทางให้ผู้บริหารเป็นผู้บอกมาเองว่าจะให้เดินหน้าอย่างไร สอบถามให้กระจ่างว่าอยากให้รัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่ายใช่หรือไม่ สอบถามให้ชัดเจนย้ำอีกว่าอยากให้ทุ่มทุนขยายกิจการใช่หรือไม่


หากคำตอบจากผู้บริหารคือใช่ นั่นคือโอกาสดีที่เราจะได้ความกระจ่างว่ารัดเข็มขัดนั้นไม่ครอบคลุมการขยายกิจการใช่หรือไม่ หรือได้คำตอบอื่นที่แตกต่างออกไป ซึ่งอย่างน้อยที่สุดเราจะเดินหน้าทำงานไปได้สักระยะหนึ่ง อย่ารีรอที่จะขอการยืนยันเป็นระยะๆ ว่าที่เราได้ทำหรือกำลังทำอยู่นั้นตรงกับทิศทางสุดขั้วของผู้บริหารหรือไม่ ใช้ความพยายามส่งความไม่ชัดเจนกลับไปที่คนที่สร้างความไม่ชัดเจนนั่นขึ้นมาเอง แล้วเราจะได้ความชัดเจนกลับมาบ้าง แม้นิดหน่อยก็ยังดีกว่างงอยู่คนเดียว


จะเชื่อหรือไม่ว่าผู้บริหารสุดสองขั้วหูตาไม่ค่อยกว้างขวาง มักจมอยู่กับโลกแคบๆ ในจินตนาการของเขา แม้ว่าจะเดินทางเป็นว่าเล่น แต่ได้รู้ได้เห็นอะไรมากก็กรองเอาเฉพาะที่สนับสนุนมโนของตนเอง ดังนั้น ตัวช่วยตัวหนึ่งที่จะทำให้เราได้ทิศทางที่ชัดเจนจากคนสองขั้วนี้คือ ส่งข้อมูลสาระที่สะท้อนความจริงเกี่ยวกับสองขั้วที่ขัดแย้งกันนั้นให้ผู้บริหารได้รู้ได้เห็น ในจังหวะเวลาอันสมควรที่มีเพียงจังหวะเดียวเท่านั้นคือเวลาที่ท่านผู้บริหารได้พบเห็นเป็นที่ประจักษ์กับตนเองว่าบางเรื่องที่ท่านเชื่อท่านคิดนั้นไม่เป็นจริงส่งสาระความจริงให้ในเวลาอื่นไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะมโนบังตาจนหมดไปนานแล้ว