กำเนิดกองกำลังป้องกันตนเอง (2)

กำเนิดกองกำลังป้องกันตนเอง (2)

อีกด้านหนึ่ง สหรัฐอเมริกาที่รู้สึกเบื่อกับการเมืองในญี่ปุ่นเป็นอย่างมากและได้ย้ำว่า “ความปลอดภัยของญี่ปุ่นถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

ต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออก” และพยายามกระตุ้นโดยการมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ญี่ปุ่น ในเดือนเม.ย. 1952 สนธิสัญญาความร่วมมือกับความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกาเริ่มมีผลบังคับใช้และมีใจความระบุให้ญี่ปุ่น “มีภาระรับผิดชอบมากขึ้นๆ ในการป้องกันตนเองต่อการรุกรานทั้งทางตรงและทางอ้อม” ซึ่งหมายถึงจะต้องค่อยๆ เพิ่มกำลังป้องกันตนเอง


ในปี 1952 พลโทริดจ์เวย์ ซึ่งรับหน้าที่ต่อจากนายพลแมคอาเธอร์ ได้กำหนดให้กองกำลังสำรองตำรวจมีกำลัง 8 กองพล หรือ 180,000 คน เพิ่มจากเดิมที่มีเพียง 4 กองพล หรือ 75,000 คน และยังได้กดดันให้เพิ่มขึ้นอีกในปี 1953 ให้เป็น 10 กองพลหรือ 325,000 คน


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศดัลเลสของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่าในเดือนพ.ค. 1953 รัฐสภาได้เตรียมการให้ความช่วยเหลือแก่ญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาความร่วมมือและความมั่นคงระหว่างกัน เมื่อเขามาเยือนญี่ปุ่นและพบปะกับนายกรัฐมนตรีโยชิดะในเดือนส.ค. ก็ยังย้ำถึงการเพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยเป็น 10 กองพลตามความเห็นของพลโทริดจ์เวย์ แต่นายกรัฐมนตรีโยชิดะได้ตอบไปว่า “สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย” ทำให้ฝ่ายสหรัฐอเมริกาไม่พอใจอย่างยิ่ง


สนธิสัญญาความร่วมมือและความมั่นคงระหว่างกันมีทั้งด้านความช่วยเหลือทางทหารและด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชนได้คาดหวังเป็นอย่างมากต่อนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยใช้ความต้องการจากสงครามเกาหลี นายกรัฐมนตรีโยชิดะได้ตัดสินใจที่จะเริ่มการเจรจากับสหรัฐอเมริกาและแสวงหาความตกลงในเรื่องนโยบายเป็นการด่วนกับไคชินโตอันเป็นพรรคลำดับที่ 2


การเจรจาระหว่างโยชิดะกับชิเงมิทสึ มาโมรุ หัวหน้าไคชินโต เกิดขึ้นในวันที่ 27 ก.ย. เนื้อหาข้อเสนอตามที่ มิยาซาวา คิอิจิ (วุฒิสมาชิกในขณะนั้น) ได้ทำขึ้นไว้ดั้งเดิม มีดังนี้ 1) วางแผนการป้องกันประเทศระยะยาวและค่อยๆ เพิ่มกำลังป้องกันตนเอง 2) ให้เปลี่ยนชื่อกองกำลังรักษาความปลอดภัยเป็นกองกำลังป้องกันตนเองและให้สามารถป้องกันการรุกรานโดยตรงได้ 3) ปัญหาทางรัฐธรรมนูญที่อาจเกิดขึ้นให้ทำการตกลงกันภายหลัง ในการเจรจาจริงนั้น ผลก็ปรากฏตามนี้คือ ปัญหารัฐธรรมนูญให้ยกขึ้นหิ้งไว้ก่อน และความเป็นชอบให้จัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเองขึ้น


ประเด็นสำคัญถัดมาอยู่ที่ขนาดของกองกำลังป้องกันตนเองซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกามีความเห็นที่ห่างกันมาก โยชิดะส่งทูตพิเศษ อิเคดะ ฮายาโตะ ไปสหรัฐอเมริกาในเดือนต.ค. และได้พบปะเจรจากับผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศโรเบิร์ตสัน เขาได้อธิบายให้ฝ่ายสหรัฐอเมริกาทราบว่า “ฝ่ายญี่ปุ่นมีข้อจำกัดทางกฎหมาย ทางการเมือง ทางสังคม และทางเศรษฐกิจ” ในการทำตามคำมั่นสัญญาในการเพิ่มกองกำลังป้องกันประเทศที่ให้ไว้กับสหรัฐอเมริกา อิเคดะยืนยันว่า “ถ้าหากไม่สามารถใช้การเกณฑ์ทหารซึ่งถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ การมีกำลังรบก็เป็นไปไม่ได้” แม้ว่าการเจรจาจะมีขึ้นอีกกี่ครั้ง ทั้งสองฝ่ายก็ยังตกลงกันไม่ได้


โรเบิร์ตสันเห็นว่าอิเคดะไม่ยอมเสียที จึงโดยคำถามกลับไปบ้างว่า “แล้วท่านมีแผนการอย่างไรบ้าง” อิเคดะก็ตอบตามความเห็นส่วนตัวไปว่า กองกำลังทางบกสามารถเพิ่มได้ถึง 10 กองพล หรือ 180,000 คนใน 3 ปี แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นจำนวนเดียวกับการลดบุคลากรแนวหลังที่ฝ่ายสหรัฐฮเมริกามีแผนงานอยู่ แต่สหรัฐอเมริกาก็ยอมให้มีแถลงการณ์ร่วมออกมาว่า “กองกำลังป้องกันประเทศจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น”


หัวใจสำคัญของการยอมรับในสนธิสัญญาความร่วมมือและความมั่นคงระหว่างกันนั้นอยู่ที่การรวมความช่วยเหลือทางทหารและทางเศรษฐกิจไว้ด้วยกันเป็นมูลค่ารวม 50 ล้านดอลลาร์ และร้อยละ 20 เป็นส่วนที่จะเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ในเดือนมี.ค. 1954 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสัญญา 4 ฉบับด้วยกันที่เกี่ยวเนื่องกับความช่วยเหลือดังกล่าว ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคก็สามารถทำความตกลงเกี่ยวกับการจัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเองในเวลาใกล้เคียงกัน


ในการเจรจากันนั้น ยิยิวโตอันเป็นพรรครัฐบาลระมัดระวังในเรื่องการย้ำความเป็นมาตรการสำหรับการรุกรานโดยตรง แต่ก็ยินยอมในที่สุดเพื่อให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาความร่วมมือและความมั่นคงระหว่างสองประเทศที่ยกเอามาตรการสำหรับการรุกรานทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเป็นสำคัญ เมื่อเป็นเช่นนี้ “หน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยสาธารณะ” ที่มีมาตั้งแต่ยุคกองกำลังสำรองตำรวจกลายเป็นความสำคัญลำดับรองทันที คุณลักษณะในฐานะองค์กรทางทหารที่มีหน้าที่หลักเป็น “มาตรการต่อการรุกรานโดยตรง” จึงมีความเด่นชัดขึ้นมาโดยทันที


ในส่วนของการร่างกฎหมายรองรับนั้น แบ่งออกเป็นกฎหมายจัดตั้งองค์กรเพื่อการบริหารงานและกฎหมายการจัดองค์กรของกองกำลังป้องกันตนเอง นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้มีการประชุมการป้องกันประเทศและทบวงป้องกันประเทศที่แยกตัวต่างหากออกจากสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย


การจัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศเป็นองค์กรอิสระต่างหากจากกองกำลังป้องกันตนเองทางบกและทางเรือก็เกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ สืบเนื่องจากความตระหนักอย่างยิ่งต่อความจำเป็นของกำลังรบทางอากาศ ที่ได้รับจากบทเรียนการพ่ายแพ้สงครามที่ปราศจากอำนาจการควบคุมน่านฟ้าในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่เดือนพ.ย. 1952 เครื่องบินรบของโซเวียตละเมิดน่านฟ้าญี่ปุ่นเรื่อยมา ถ้าหากญี่ปุ่นมีกองทัพอากาศก็ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป


ในเดือนมี.ค. 1954 กฎหมายการจัดตั้งทบวงป้องกันประเทศและกฎหมายกองกำลังป้องกันตนเองถูกเสนอเข้าสภาและผ่านเป็นกฎหมายในเดือนมิ.ย ทบวงป้องกันประเทศจึงถือกำเนิดขึ้นโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองกำลังป้องกันตนเองทั้งทางบก เรือ และอากาศ


อย่างไรก็ตาม ความมีอยู่ของกองกำลังป้องกันตนเองไม่ได้มีการระบุแน่ชัดในรัฐธรรมนูญแม้แต่สถานะตามกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายกองกำลังป้องกันตนเองก็ไม่ได้ระบุไว้เช่นเดียวกัน จนกระทั่ง 3 ปีต่อมา “แนวทางหลักของการป้องกันประเทศ” อันถือเป็นรัฐธรรมนูญของกองกำลังป้องกันประเทศจึงได้กำเนิดขึ้น แต่สภาพดังกล่าวก็ยังถือเป็นสุญญากาศมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2003 กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ไม่ปกติที่กำหนดให้มีปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ถือกำเนิดขึ้น


ดังนั้น กองกำลังป้องกันตนเองจึงถือกำเนิดขึ้นภายใต้สภาวะที่ปัญหาทางรัฐธรรมนูญถูกยกขึ้นหิ้งและกลายเป็นข้อถกเถียงต่างๆ นานาที่ตามมาว่า กองกำลังป้องกันตนเองเป็นไปตามหรือขัดกับรัฐธรรมนูญ ตลอดจนข้อถกเถียงเรื่องการเคารพศาลเจ้าของผู้ที่ทำสงครามในภายหลัง


วิวัฒนาการของกองกำลังป้องกันตนเองบอกได้อย่างดีว่า สงครามครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นหนีไม่พ้นเป็นความกระเหี้ยนกระหือรือทั้งของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น


ที่มา: “昭和時代” 読売新聞 2015年2月14日 土曜日 p.17.