มาตรการเข้มงวด รณรงค์เข้มข้น...ทำไมอุบัติเหตุยังเพิ่มขึ้น!

มาตรการเข้มงวด รณรงค์เข้มข้น...ทำไมอุบัติเหตุยังเพิ่มขึ้น!

ในที่สุดเทศกาลสงกรานต์ ปี 2558 ก็ผ่านพ้นไปแล้ว พร้อมกับสถิติการเกิดการอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย (9-15 เม.ย. 2558)

ที่เกิดอุบัติเหตุมากถึง 3,373 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บรวม 3,559 คน และมีผู้เสียชีวิตรวม 364 ราย เปรียบเทียบกับสงกรานต์ปี 2557 ที่ผ่านมาซึ่งมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 2,992 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 3,225 ราย และผู้เสียชีวิต 322 รายแล้วปรากฏว่า จำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนทุกรายการ และที่สำคัญสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ยังเกิดจากการเมาสุราเช่นเดิม โดยในปี 2557 มีสัดส่วนร้อยละ 36.76 แต่ในปี 2558 นี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 39.1

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ?

ทั้งๆ ที่ในปีนี้ รัฐบาลได้กำหนดมาตรการเข้มข้นในการควบคุมการเล่นสงกรานต์ให้ปลอดภัยถึง 8 ข้อด้วยกัน ซึ่งหากพิจารณามาตรการทั้ง 8 ข้อดังกล่าวแล้วพบว่า มีอย่างน้อย 3 ข้อที่เป็นมาตรการที่ค่อนข้างชัดเจนในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน กล่าวคือในข้อ 2) การห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณที่มีการจัดกิจกรรมงานสงกรานต์ ข้อ 5) การห้ามขับรถกระบะบรรทุกน้ำในการเล่นน้ำสงกรานต์ไปในที่ชุมชนหรือบริเวณจัดงาน และข้อ 8) ขอให้มีการกำหนดเวลาการเล่นน้ำที่ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาการจราจร และการเกิดอาชญากรรมในยามวิกาล นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐอีกหลายหน่วยงานยังได้มีการรณรงค์เพิ่มเติมจากมาตรการดังกล่าวอีก เช่น การรณรงค์ให้สวมหมวกนิรภัยสำหรับผู้ขับขี่จักรยานยนต์ การตั้งจุดตรวจสกัดเพื่อควบคุมและบังคับใช้กฎหมายจราจร และกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด เป็นต้น

นอกเหนือจากมาตรการของภาครัฐแล้ว ยังมีเครือข่ายภาคประชาชน หรือประชาสังคมหลายเครือข่ายได้ร่วมกันรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัยในหลากหลายรูปแบบในพื้นที่ ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย เช่น การจัดโซนนิ่งสงกรานต์ปลอดภัย ปลอดเหล้า ปลอดโป๊ ปลอดความรุนแรง หรือบางพื้นที่ได้มีการเฝ้าระวังเพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น เพื่อจะได้ลดอุบัติเหตุจากการเมาสุราลง

ดูเหมือนว่า ทิศทางการรณรงค์ และมาตรการของภาครัฐที่มีการบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคมน่าจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดี ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเองก็หวังไว้ว่า จำนวนอุบัติเหตุทางถนน การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตของประชาชนน่าจะลดลงไปจากปีที่ผ่านมาได้มากพอสมควร รวมไปถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่มาจากการเมาสุราเป็นอันดับหนึ่ง ก็น่าจะมีสัดส่วนลดลง และตกอันดับไปในปีนี้ แต่สุดท้ายแล้วก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม ไม่แตกต่างอะไรไปจากปีที่ผ่านๆ มา มิหนำซ้ำตัวเลขสถิติของการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิต รวมไปถึงสัดส่วนของสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่มาจากเมาสุรากลับเพิ่มขึ้นในทุกรายการทีเดียว เรียกว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นยกแผงกันเลยทีเดียว

นั่นแสดงว่า ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด และการรณรงค์ที่เข้มข้นดังกล่าวข้างต้นยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มาก จึงทำให้ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายจึงควรเร่งพิจารณาหาสาเหตุที่แท้จริงในเชิงลึก แล้วนำไปแก้ไขปรับปรุงในการดำเนินงานในปีต่อๆ ไป

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์และจากการที่ได้ตระเวนสังเกตการณ์ในหลายพื้นที่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้เขียนขอวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินตามมาตรการและการรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัย ปี 2558 โดยสรุปดังนี้

1. การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายจราจร และกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องยังไม่เข้มงวดและจริงจัง ทั้งนี้ พบเห็นได้ในถนนหลายสายยังมีการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายไม่สวมหมวกนิรภัยกันมากมาย มีการขับรถกระบะบรรทุกน้ำและเล่นน้ำสงกรานต์กันในที่ชุมชนและบนถนนขณะรถกำลังแล่น มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถกระบะที่แล่นอยู่ในทาง การดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะและริมถนนสองข้างทางในถนนหลายสาย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายทั้งสิ้น และการกระทำเช่นว่านี้ก็เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยทางถนนได้ง่ายขึ้น

2. จิตสำนึกและทัศนคติที่มีต่อความปลอดภัยของตนเองและของผู้อื่นยังมีน้อย และน้อยกว่าความต้องการสนุกสนาน ความคึกคะนองส่วนตน สะท้อนได้จากพฤติกรรมของผู้คนจำนวนมากที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐและกฎหมายที่มีการบังคับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการจราจร และการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ บางคนยังมีแนวคิดต่อต้านมาตรการของภาครัฐดังกล่าวด้วยโดยเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ทำไม่ได้

3. การรณรงค์เพื่อปลูกสร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และเน้นประสิทธิผล โดยส่วนใหญ่การรณรงค์มักดำเนินการในช่วงเวลากระชั้นชิดกับเวลาที่จะมีเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งอาจได้ผลในแง่การสร้างการรับรู้ในเบื้องต้น แต่ไม่ได้ผลในด้านการปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัย และการลดหรือเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในเชิงพฤติกรรม

4. กลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์ยังมุ่งเน้นการจัดกิจกรรม เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงเทศกาลดังกล่าวเช่นเดิม เพียงแต่มีการจัดกิจกรรมการตลาดที่แยบยลมากขึ้นด้วยการพยายามเลี่ยงกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทั้งหมดนี้ เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้มาตรการ และการรณรงค์ลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ศึกษากันลึกๆ แล้วยังมีอีกหลายสาเหตุที่ต้องค้นหา และนำไปแก้ปัญหากันต่อไป แต่ประการสำคัญที่สุดก็คือ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่มาร่วมกันทำงาน

ต้องเอาจริงเอาจัง และมีความจริงใจในการแก้ปัญหา!!