สังคมจะยั่งยืนต้องให้ Stakeholders อยู่เหนือ Shareholders

สังคมจะยั่งยืนต้องให้ Stakeholders  อยู่เหนือ Shareholders

แนวคิดการทำธุรกิจยุคใหม่ต้องคิดมากกว่าแค่ “กำไร” สำหรับ “ผู้ถือหุ้น” (shareholders)

 แต่ต้องให้ ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ทุกส่วนได้ประโยชน์โดยถ้วนหน้าด้วย

หาไม่แล้วความยั่งยืนจะไม่เกิด และ กำไร ของผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวจะกลายเป็นการ ขาดทุน ของคนส่วนอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแสวงหากำไรอย่างไร้ความสำนึกต่อสังคมในส่วนรวม

คำว่าในธุรกิจปกติ ผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมหมายรวมถึงพนักงาน, ลูกค้า, ผู้บริโภค, suppliers, และคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การธุรกิจ

ยิ่งเป็นสื่อสารมวลชนด้วยแล้ว “ผู้มีส่วนได้เสีย” ยังต้องหมายรวมถึงสาธารณชน, คนอ่าน, คนดู, คนฟัง, และผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารและสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วย

ใครที่ทำธุรกิจสื่อและหวังแต่เพียงทำกำไรให้ เจ้าของ หรือ ผู้ถือหุ้น อย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงการสร้างความน่าเชื่อถือและสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมอาจจะเรียกว่าเป็นผู้ประกอบการที่ไร้ความตระหนักถึงบทบาทของธุรกิจวันนี้

ธุรกิจที่ยั่งยืนในยุคสมัยนี้ไม่ใช่เครื่องจักร ไม่ใช่ตึก และไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ หากแต่อยู่ที่สินทรัพย์ทางปัญญาที่อาจมองไม่เห็น แต่มีค่ามหาศาลหากนำมาใช้ให้ถูกที่ถูกทางและได้ประโยชน์ต่อ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างแท้จริง

ทรัพย์สินที่ว่านี้คือแบรนด์ ลิขสิทธิ์ และนวัตกรรม กับคุณภาพของบุคลากรที่เป็นมืออาชีพและที่สำคัญยิ่งกว่าอะไรทั้งหมดคือ

จริยธรรมกับธรรมาภิบาลในการทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นระดับบริหาร ปฏิบัติการ และพนักงานในทุกแผนก

ดังนั้น คุณค่า ของบริษัทจึงไม่ได้อยู่ที่ราคาหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่อยู่ที่ ความยั่งยืน ในรูปแบบของการทำให้สังคมดีขึ้นจากกิจกรรมของธุรกิจนั้น ๆ อย่างเป็นรูปธรรม

ศัพท์ใหม่ในแวดวงความยั่งยืนแห่งธุรกิจ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ผมคิดว่าสะท้อนถึงแนวคิดใหม่นี้ได้อย่างดีเยี่ยมคือ

The mindful corporation

อันหมายถึงธุรกิจที่มีความ ตระหนักรู้ ถึงบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบต่อ “ผู้มีส่วนได้เสีย” ทุกภาคส่วน มิใช่เพียงแค่ทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวเท่านั้น

ยิ่งนานวันผมก็ยิ่งเห็นว่าหากคนรุ่นใหม่จะทำธุรกิจให้เติมเต็มความฝันของการเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็จะต้องทำงานแบบ mindful entrepreneur ซึ่งก็คือ “ผู้ประกอบการที่ตระหนักผลตอบแทนต่อสังคม มิใช่เพื่อกำไรของตนและพวกอย่างเดียว”

เพียงแค่ทำ CSR หรือ Corporate Social Responsibility ด้วยการแจกเงินแจกเสื้อเพื่อทำข่าวถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์และออกทีวีเท่านั้น ย่อมมิใช่การ “ตระหนักรู้” ว่าธุรกิจของตนทำคุณประโยชน์ต่อสังคมเพื่อความยั่งยืนอย่างไร

บางธุรกิจไร้ธรรมาภิบาล หนีภาษี ให้สินบน ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม แต่ทำกิจกรรม CSR สร้างภาพลักษณ์เพื่อการประชาสัมพันธ์ เช่นนี้ย่อมไม่ใช่วิถีแห่งการสร้างความถูกต้องชอบธรรมเพื่อความยั่งยืน

การมีเป้าหมายเพื่อทำกำไรสูงสุดเพื่อคนกลุ่มเดียวนำไปสู่ ทุนสามานย์ อย่างที่เห็นกันอย่างกว้างขวางในสังคมธุรกิจไทยวันนี้

สังคมเช่นนี้เปราะบางและอ่อนแอ สร้างความขัดแย้งรุนแรงเพราะมีเป้าหมายเพียงเพื่อสร้างประโยชน์ให้คนกลุ่มเดียว

  สังคมไทยจะยั่งยืนและก้าวหน้าไปพร้อมกันได้ ก็ด้วยการให้ ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิมีเสียงและแบ่งปันประโยชน์อย่างยุติธรรมเท่านั้น