“ชนบท” บนความเคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย (2)

“ชนบท” บนความเคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย (2)

ดังได้กล่าวไว้ในตอนที่ผ่านมาว่า ความเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนทุกมิติของ “ชนบท” ในภูมิภาคต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างสังคมชนบท และส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคมและโครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนกลุ่มต่างๆ ในชนบท ผู้คนในชนบทส่วนใหญ่ได้ปรับเปลี่ยนตนเองเข้าสู่การเป็น “ผู้ประกอบการ” ในระดับต่างๆ ซึ่งทำให้คนชนบทเหล่านี้เคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายลักษณะที่ถือได้ว่าเป็นกระบวนการเคลื่อนเข้าสู่ประชาธิปไตยจากข้างล่าง (Democracy from below) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าไปมีส่วน “กำกับและกำหนด” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นฐานในการปรับตัวในสถานะใหม่ที่เกิดขึ้น


ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นแนวโน้มหรือทิศทางที่ชนบทไทยกำลังจะเดินทางไปร่วมกัน แน่นอนว่าในวันนี้ ความเข้มแข็งของชาวบ้านในการ “กำกับและกำหนด” อาจจะมีไม่เท่าเทียมกัน แต่เมื่อมองพลวัตนี้ไปในอนาคตแล้ว ทุกพื้นที่ล้วนแล้วแต่ต้องการที่จะควบคุมการใช้จ่ายทรัพยากรจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น


ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญในสังคมไทยว่า “สังคมชาวนา” แบบเดิมนั้นถูกแทนที่ด้วยการเป็น “สังคมผู้ประกอบการ” ไปแล้ว


การแปรเปลี่ยนรูปแบบลักษณะของการผลิตในชนบทจาก “สังคมชาวนา” มาสู่ “สังคมผู้ประกอบการ” ทำให้สังคมไทยต้องทบทวนการนิยามลักษณะสังคมไทยโดยรวมไปพร้อมๆ กัน


ราวต้นทศวรรษ 2500 นักวิชาการอเมริกันได้ปิดป้ายสังคมไทยว่าเป็น “สังคมโครงสร้างหลวม” (Loosely Structure) เพราะความเข้าใจผิดอันเกิดจากการเข้าไปศึกษาหมู่บ้านบางชันที่มีนบุรี แล้วเหมารวมว่าเป็นคุณลักษณะของสังคมไทยที่ไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ควบคุมพฤติกรรมของผู้คน ต่อไปอีกราวหนึ่งทศวรรษ ก็มีกลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งโต้เถียงว่าสังคมไทยไม่ได้หลวมไปทั้งหมดดังที่ปิดป้ายไว้ นักวิชาการอเมริกันอีกท่านหนึ่งศึกษาที่อำเภอสารภีและพบว่ามีมิติการควบคุมผู้คนในชนบทนับเป็นสิบกว่าด้านทีเดียว กรอบความคิดเรื่องโครงสร้างหลวมจึงหมดพลังในการอธิบายไป


กรอบความคิดว่าสังคมไทยมีโครงสร้างหลวมไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ทำให้เป็นโอกาสของรัฐที่ขยายอำนาจรัฐเข้ามาควบคุมประชาชน บนฐานความเชื่อที่ว่าหากปราศจากอำนาจรัฐควบคุมผู้คนก็จะทำให้สังคมปั่นป่วนและวุ่นวาย อำนาจเผด็จการของรัฐบาลทหารจึงอยู่มาได้จนถึงปลายปี พ.ศ.2516


กรอบการคิดว่าสังคมไทยมีโครงสร้างกระชับที่เข้ามาแทนที่สังคมโครงสร้างหลวมได้ส่งผลทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของปัญญาชนนักวิชาการและปัญญาชนอิสระจำนวนหนึ่งที่ “รื้อฟื้น” วัฒนธรรมชุมชนขึ้นมาเพื่อใช้เป็นฐานในการต่อรองและต่อสู้กับรัฐและทุนเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของชาวบ้านในทุกภูมิภาค โดยเน้นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีมาแต่โบราณกาล


แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบทไม่สามารถที่จะอธิบายได้จากกรอบแนวความคิดสังคมกระชับหรือวัฒนธรรมชุมชนได้ทั้งหมดอีกแล้ว ขณะเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็น “สังคมโครงสร้างหลวม” ทุกมิติอย่างที่เคยเชื่อกันในต้นทศวรรษ 2500


สังคมชนบทไทยได้เริ่มหลุดออกจากพันธะทางสังคมแบบเดิมมากขึ้น ในด้านหนึ่ง จึงกล่าวได้ว่าสังคมไทยเริ่มมีโครงสร้างหลวมมากขึ้น จนทำให้ดูเหมือนว่ากรอบความคิดเรื่อง “โครงสร้างหลวม” จะสามารถนำกลับมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ในวันนี้ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ กรอบการคิดบนพื้นฐานวัฒนธรรมชาวบ้านในการพัฒนาที่เน้น “บ้าน วัด โรงเรียน” ให้ทำหน้าที่สอดประสานกันในการพัฒนาเด็กในชนบทและคนในชนบทตามแนวคิด “วัฒนธรรมชุมชน” ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลใดๆ อีกแล้ว เพราะ บ้าน วัด และโรงเรียนเปลี่ยนแปลงไปจนสิ้นเชิง จนทำให้รู้สึก/คิดไปได้ว่าสังคมไทยนั้นหลวมจริงๆ


แต่ขณะเดียวกัน แม้เราจะพบว่าสังคมชนบทไทยกำลังสลัดหลุดจากพันธะทางสังคมแบบเดิม แต่ผู้คนในสังคมชนบทก็กำลังร่วมกันสร้างความหมายของความสัมพันธ์ทางสังคมชุดใหม่ขึ้นมารองรับ เช่น แทนที่จะปล่อยให้วัดหรือโรงเรียนทำหน้าที่อิสระตามแบบเดิม กลับเริ่มที่จะเข้าไปควบคุมและเปลี่ยนแปลงบทบาทของวัดและโรงเรียนมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างพระ/เจ้าอาวาส กับชาวบ้านในชุมชนเกิดบ่อยขึ้น เพราะวัดปรารถนาที่จะได้ “ศรัทธาทางไกล” จากกรุงเทพฯไม่สนใจชาวบ้านรอบๆ วัด เพราะ “ศรัทธาทางไกล” บริจาคให้วัดได้มากกว่าชาวบ้านมาก (ประเด็นนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงทางศาสนาที่สำคัญ จะขอกล่าวในคราวต่อๆ ไป) ชาวบ้านก็เริ่มนินทาและในหลายกรณีก็ย้ายไปทำบุญที่วัดอื่นๆ


ที่สำคัญ ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายของกลุ่มอาชีพ “ผู้ประกอบการ” ได้เริ่มการรักษากลุ่มกลายเป็นพันธะกิจที่ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องรักษากฎเกณฑ์ความไว้เนื้อเชื่อใจเอาไว้ให้มั่นคงที่สุด ขณะเดียวกันก็สามารถใช้ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นลักษณะนี้ขับเคลื่อนไปสู่การกำกับและควบคุมสถาบันตามประเพณีแบบเดิม รวมถึงการสร้างแนวทางการเข้าไปกำกับและควบคุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


ความสัมพันธ์ทางสังคมลักษณะเดิมเริ่มคลายลง จึงกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะของสังคมโครงสร้างหลวม แต่ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็ได้เริ่มสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมลักษณะใหม่ที่ผูก “ปัจเจกชน” เอาไว้กับเครือข่ายทางสังคมชุดใหม่ที่เหมาะสมกว่า จึงกล่าวได้ว่าได้เริ่มสังคมที่มีกฎเกณฑ์อีกชุดหนึ่งและแสดงให้เห็นว่าไม่ได้กลายเป็นสังคมหลวมโดยสิ้นเชิง


การสร้างคุณลักษณะของสังคมที่จัดความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนกับสังคมให้ลงตัวที่ทำให้ปัจเจกชนสามารถแสดงศักยภาพของปัจเจกภาพได้อย่างเต็มที่ พร้อมไปกับการมีพันธะที่จะต้องกระทำให้แก่สังคม ไม่ใช่สังคมที่มีแต่คนเห็นแก่ตัวเท่านั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคิดกันในวันนี้