เบเกอรี่กับคนอินเดีย

เบเกอรี่กับคนอินเดีย

พูดถึงเรื่องอาหารการกินในประเทศอินเดีย เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะนึกถึงโรตีขึ้นมาทันที แต่จริงๆ แล้วอาหารประเภทแป้งของอินเดียมีมากกว่าโรตี

เช่น นาน จาปาตี พาราธา รวมทั้งข้าว ซึ่งอินเดียถือเป็นชาติหนึ่งที่รับประทานอาหารประเภทแป้งเป็นหลักกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันเลยทีเดียว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะพบเห็นคนอินเดียส่วนใหญ่ทั้งหญิงและชายอ้วนลงพุงกันเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากนิยมรับประทานอาหารประเภทแป้งกันอยู่เป็นประจำ แถมช่วงอาหารค่ำก็ยังรับประทานกันดึกมาก พอรับประทานเสร็จก็เข้านอนเลย ก็ยิ่งทำให้เกิดอาการพุงพลุ้ยกันทั่วหน้าอย่างที่เห็นนี่แหละครับ


แต่ที่หนักกว่านั้นก็คือ นอกจากจะนิยมบริโภคอาหารหลักประจำชาติที่ทำจากแป้งอย่าง โรตี จาปาตีพาราธา และนานอย่างที่กล่าวมาแล้ว ปรากฏว่าคนอินเดียปัจจุบันยังนิยมเสริมความอ้วนและเสริมพุงด้วยการเลือกรับประทานอาหารประเภทแป้งแบบฝรั่งหรือที่เรียกกันว่าเบเกอรี่อีกต่างหาก โดยตลาดเบเกอรี่ในอินเดียแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ ขนมปัง บิสกิต และขนมเค้กกับแพสตรี้ ทั้งนี้ ตลาดเบเกอรี่ของอินเดียถือเป็นตลาดที่มีการขยายตัวมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของอินเดีย เนื่องจากปัจจุบันอินเดียมีการขยายตัวของเมืองมากขึ้น ผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีรสนิยมที่เป็นตะวันตกมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการที่คนอินเดียมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศและเปิดรับสื่อต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อที่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต


คนอินเดียปัจจุบันนิยมบริโภคเบเกอรี่มากขึ้น ซึ่งจากสถิติล่าสุดรายงานโดย eRPI Research พบว่าในปีงบประมาณ 2013-14 (1 เมษายน 2013 - 31 มีนาคม 2014) ตลาดเบเกอรี่ของอินเดียมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2.63 แสนล้านรูปี หรือประมาณ 1.31 แสนล้านบาทเลยทีเดียว โดยปริมาณการบริโภคเบเกอรี่ของคนอินเดียต่อคนจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเบเกอรี่คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงขนมปังกับขนมเค้กเป็นหลัก แต่ที่อินเดียตลาดเบเกอรี่หลักกลับกลายเป็นบิสกิตซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดถึง 86% ของตลาดเบเกอรี่ทั้งหมด รองลงมากคือ ขนมเค้กและแพสตรี้ 8% และตามมาด้วยขนมปัง 6% ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้บิสกิตมีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดก็มาจากการที่คนอินเดียต้องดื่มชาร้อนตามธรรมเนียมอังกฤษอยู่แล้ววันละ 2-3 ครั้งและมักจะดื่มชาร้อนกับบิสกิตเป็นหลัก


ซึ่งชาร้อนที่ว่านี้จะชงมากับนมสดและส่วนใหญ่จะผสมเครื่องเทศมาด้วยที่เรียกว่าชามาซาล่า (Masala Chai หรือ Tea) โดยเฉพาะในช่วงบ่ายระหว่างมื้อกลางวันกับมื้อค่ำซึ่งจะเป็นช่วงที่ยาวนานมากเพราะคนอินเดียจะรับประทานอาหารค่ำดึกมากถึงขนาดเลยไป 4-5 ทุ่มกันเลยทีเดียว ก็เลยต้องหาอาหารว่างมารับประทานคั่นรายการแก้หิวไปพลางๆ ก่อน ซึ่งอาหารว่างที่ราคาย่อมเยาและสะดวกในการซื้อหามากที่สุดก็คือ บิสกิตนี่เอง นอกจากนั้น ก็เป็นธรรมเนียมของคนอินเดียที่มักจะต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยชาร้อนที่จะเสิร์ฟมาพร้อมกับบิสกิต ไม่ว่าจะเป็นแขกที่มาเยือนที่สำนักงานหรือที่บ้าน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ในตลาดเบเกอรี่ของอินเดีย บิสกิตจะเป็นสินค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดเมื่อเทียบกับขนมเค้กกับแพสตรี้ และขนมปัง


กล่าวเฉพาะตลาดบิสกิตซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 86% ของตลาดเบเกอรี่รวมของอินเดีย หรือคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2.25 แสนล้านรูปีหรือประมาณ 1.125 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2013-14 และมีปริมาณการผลิตมากถึง 2.2 ล้านตันเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีประมาณ 6-8% อย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการบริโภคบิสกิตเฉลี่ยของคนอินเดียจะอยู่ที่ประมาณคนละประมาณ 2 กิโลกรัมต่อปีซึ่งรัฐที่มีการบริโภคบิสกิตสูงที่สุดในอินเดียคือ รัฐมหาราษฏระและรัฐเบงกอลตะวันตก รองลงมาคือ รัฐอานธรประเทศ รัฐกรณาฏกะ และรัฐอุตตรประเทศ ตามลำดับ โดยบิสกิตที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ บิสกิตประเภทคุกกี้ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 28% ของตลาดบิสกิตทั้งหมด รองลงมาคือ บิสกิตไส้ครีมที่มีส่วนแบ่งตลาด 21% โดยเฉพาะคุกกี้กับบิสกิตไส้ครีมนี้มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยถึง 15-17% ต่อปีเลยทีเดียว รองลงมาคือ ขนมปังกรอบหรือ Cracker ที่มีส่วนแบ่งตลาด 16% ส่วนบิสกิตเพื่อสุขภาพอย่างเช่น Digestive Biscuit หรือบิสกิตประเภทไร้น้ำตาล (Sugar Free) หรือบิสกิตประเภทให้เส้นใยอาหารสูง (High Fibre) ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดน้อยที่สุดคือ 2% แต่มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้บริโภคสมัยใหม่ของอินเดียเริ่มมีความตระหนักถึงสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ บิสกิตเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


สำหรับตลาดขนมเค้กกับแพสตรี้ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 8% ของตลาดเบเกอรี่รวมของอินเดียในปีงบประมาณ 2013-14 คิดเป็นมูลค่า 2.2 หมื่นล้านรูปีหรือประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีแนวโน้มการขยายตัวที่น่าจับตามอง เนื่องจากคนอินเดียรุ่นใหม่เปิดกว้างและกล้าเปิดรับอาหารต่างชาติโดยเฉพาะอาหารจากโลกตะวันตกมากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปัจจุบันจะเห็นขนมเค้กกับแพสตรี้ที่วางจำหน่ายในอินเดียมีความหลากหลายมากขึ้นเช่นเดียวกับประเทศในโลกตะวันตก เช่น คัพเค้ก เป็นต้น ส่วนขนมเค้กที่มีการตกแต่งหน้าเค้กสวยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นที่นิยมในกลุ่มคนอินเดียที่มีรายได้สูงเป็นหลัก แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะสำหรับขนมเค้กกับแพสตรี้ที่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นมังสวิรัติซึ่งจะรับประทานได้เฉพาะขนมเค้กกับแพสตรี้ที่ไม่ใส่ไข่เท่านั้น กับอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มรักสุขภาพที่จะนิยมรับประทานขนมเค้กกับแพสตรี้ที่หวานน้อยหรือประเภทไร้น้ำตาล (Sugar Free) ไปเลย รวมทั้งกลุ่มที่แพ้ Gluten ก็จะเลือกรับประทานเฉพาะขนมเค้กกับแพสตรี้ที่ไม่มีส่วนผสมของ Gluten เท่านั้น


ส่วนตลาดขนมปังก็ถือว่ามีความสำคัญเช่นกันเพราะคนอินเดียปัจจุบันหันมารับประทานขนมปังเพิ่มขึ้น เรียกว่าแทบจะทุกครัวเรือนจะมีขนมปังแผ่นเป็นอาหารหลักประจำครอบครัวกันเลยทีเดียว เพราะสะดวกกว่าการทำโรตีหรือจาปาตีเองทุกวัน ทำให้ตลาดขนมปังในอินเดียมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปีงบประมาณ 2013-14 ตลาดขนมปังในอินเดียมีมูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านรูปีหรือประมาณ 8 พันล้านบาท ทั้งนี้ ขนมปังในอินเดียสามารถหาซื้อได้สะดวกง่ายดายและราคาย่อมเยาเป็นอย่างมากเนื่องจากอินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวสาลีได้เอง


สำหรับการบริโภคขนมปังของคนอินเดียนอกจากจะรับประทานเป็นอาหารเช้าที่บ้านแล้ว ก็ยังบริโภคเป็นอาหารกลางวันตามร้านอาหารฟ้าสต์ฟู้ดสมัยใหม่เช่น ร้าน Subway เป็นต้น แต่ที่จะเห็นอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในเมืองใหญ่ๆอย่างมุมไบก็คือ ร้านขายแซนวิชตามข้างถนนที่มีคนสัญจรไปมาจำนวนมาก โดยร้านค้าหรือน่าจะเรียกว่าแผงขายแซนวิชเล็กๆ เหล่านี้จะขายแซนวิชที่มีไส้เป็นมันฝรั่งบดผสมเครื่องเทศแบบอินเดียหรือไส้อื่นๆ ประกบด้วยขนมปัง (ราคาถูก) สองแผ่น วางลงบนแม่พิมพ์แล้วกดทับให้แน่นก่อนนำไปปิ้งบนเตาถ่านจนแซนวิชเหลืองหอมอร่อย ถ้ายังนึกภาพไม่ออกก็ขอให้จินตนาการถึงเครื่องทำแซนวิชไฟฟ้าที่เราใช้ที่บ้านนั่นแหละครับ เพียงแต่ที่อินเดียเขาทำแซนวิชทีละคู่แล้วนำไปปิ้งบนเตาถ่านเท่านั้นเอง ซึ่งแซนวิชข้างถนนแบบนี้เป็นที่นิยมมาก เหมาะสำหรับเป็นอาหารกลางวันหรือเป็นอาหารว่างสำหรับคนอินเดียที่ต้องรอคอยเวลาอาหารค่ำที่ยังอยู่อีกยาวไกล


ขนมปังที่คนอินเดียนิยมบริโภคส่วนใหญ่จะเป็นขนมปังสีขาวซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 75% ของตลาดขนมปังทั้งหมด รองลงมาคือ ขนมปังสีน้ำตาลและขนมปังที่ใส่ธัญพืชต่างๆ (Multigrain Bread) มีสัดส่วน 22% และขนมปังปรุงรส เช่น ขนมปังกระเทียม ขนมปังผลไม้ เป็นต้น มีสัดส่วน 3% เท่านั้น แต่โดยแนวโน้มแล้ว ขนมปังสีน้ำตาลและขนมปังที่ใส่ธัญพืชต่างๆ กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากผู้บริโภคที่รักสุขภาพ


แต่ดูจากข้อมูลข้างต้นแล้วผมคิดว่าตลาดบิสกิตเป็นตลาดที่น่าสนใจที่สุดในกลุ่มตลาดเบเกอรี่ของอินเดียเพราะมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 86% ด้วยมูลค่า 1.31 แสนล้านบาท แถมยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อไปอย่างต่อเนื่องอีกด้วย การเข้าไปลงทุนผลิตและจำหน่ายบิสกิตในตลาดอินเดียน่าจะเป็นช่องทางที่เหมาะสมที่สุดและสอดคล้องกับนโยบาย Make in India ของท่านนายกรัฐมนตรีโมดีคนเก่งพอดี น่าสนใจครับ