กัปตันสบายดีไหมครับ?

กัปตันสบายดีไหมครับ?

หลังกรณีผู้ช่วยนักบินของเที่ยวบินที่ 4U 9525 Germanwings ขับเครื่องบินโหม่งเทือกเขาแอลป์ทางใต้ของฝรั่งเศส

 จนผู้โดยสารและลูกเรือ 150 คนเสียชีวิตหมด จากนี้ไปหนีไม่พ้นว่าผมขึ้นเครื่องบินทุกครั้งจะต้องถามว่า นักบินเที่ยวนี้สบายดีหรือเปล่า?”

และไม่ใช่เพียงแค่ถามไถ่สุขภาพกายของนักบินและผู้ช่วยนักบินเท่านั้น แต่ยังต้องการรู้ว่า สุขภาพจิต ของเขาเป็นอย่างไรด้วย

เพราะการสอบสวนนาย Andreas Lubitz ที่ก่อเรื่องนี้เผยให้รู้ว่าเขาป่วยด้วยโรคทางจิต ภาวะความคิดอ่านไม่ปกติ หมอให้กินยารักษา และมีใบเตือนว่าสภาพจิตใจไม่เหมาะสมกับการบิน

แต่หมอไม่แจ้งนายจ้าง และเจ้าตัวปิดบังความลับจากหัวหน้า อีกทั้งผู้โดยสารไม่มีทางรู้ได้เลยว่าชีวิตตนเองกำลังตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงอย่างยิ่ง

จากนี้ไป ผมเชื่อว่ารัฐบาล, องค์กรการบินระหว่างประเทศ, สายการบินและผู้ที่ต้องใช้บริการทางอากาศทุกคน จะต้องเรียกร้องให้มีมาตรฐานใหม่สำหรับ ความเหมาะสมทางด้านสุขภาพจิต ของนักบินและผู้ช่วยนักบินรวมไปถึงลูกเรือทุกคนที่ทำหน้าที่ทุกเที่ยวบิน

ข่าวบอกว่าสายการบินบางสายเช่น Lufthansa (บริษัทแม่ของสายการบินราคาประหยัด Germanwings ที่เกิดเรื่อง) และ Jetstar Asia ของสิงคโปร์ มีกฎใหม่ที่บอกว่าจะต้องมีเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 2 คนในห้องนักบินตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องร้ายแรงอย่างที่เกิดกับเที่ยวบินมรณะเที่ยวนี้

เหตุที่เกิดครั้งนี้มาจากการที่นักบินออกจากห้องนักบินเพื่อเข้าห้องน้ำ แต่ผู้ช่วยนักบินคนนี้ล็อกประตูไม่ให้หัวหน้ากลับเข้ามา แม้ว่าจะมีเสียงทุบประตูดังลั่นก่อนเครื่องบินจะดิ่งลงอย่างฉับพลันจนนำไปสู่การสังหารหมู่

หากนักบินอยู่ในห้องนักบิน นักบินผู้ช่วยคนนี้คงไม่กล้ากระทำการเช่นนี้ หรือหากเขาคิดจะทำอะไรแผลง ๆ อย่างนั้นก็จะต้องมีการสกัดกั้น และอาจจะไม่เกิดเหตุการณ์น่าสยองเช่นนี้

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ความเชื่อถือและไว้วางใจระหว่างนักบินและผู้ช่วยนักบิน หรือระหว่างนักบินกับผู้โดยสารขาดสะบั้นลง

สมัยก่อนเหตุการณ์ 9/11 ห้องนักบินเปิดปิดได้ง่าย บางครั้งผู้โดยสารสามารถเข้าไปนั่งในห้องนักบินเพื่อดูวิวด้วยซ้ำ แต่เหตุก่อการร้ายระดับโลกครั้งนั้นทำให้ห้องนักบินกลายเป็นป้อมปราการที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น

แต่เรื่องที่ไม่คาดฝันครั้งนี้เกิดในห้องนักบินนั้นเอง ทั้ง ๆ ที่แต่ไหนแต่เราผู้ใช้บริการสายการบินมักเชื่อว่านักบินและผู้ช่วยนักบินใน cockpit นั้นเป็นคนที่มีความเก่ง ผ่านฝึกฝนมาอย่างดีทั้งทางด้านการบินและสภาพร่างกายและจิตใจ เพราะพวกเขาต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้โดยสารจำนวนมากทุกครั้งที่ได้รับมอบหมายให้นำเครื่องบินจากจุดหนึ่งไปถึงอีกจุดหนึ่ง

มีคนเสนอว่า หากเราไม่สามารถจะประเมินว่า มนุษย์ที่ฝึกฝนด้านการบินอาจจะมีความเครียดและความกดดันทางจิต ที่แม้แต่จิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญที่สุดก็ไม่อาจจะตรวจพบได้หากเจ้าตัวไม่ยอมรับความจริง เป็นไปได้ไหมว่าการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้การขับเคลื่อนเครื่องบินทำโดยระบบอัตโนมัติ ที่ไม่ต้องพึ่งพาความปกติของสุขภาพจิตของคน?

นั่นอาจจะเป็นความคิดก้าวไกลเกินเหตุ แต่เมื่อมาถึงจุดที่เราไม่อาจจะเชื่อวิจารณญาณของมนุษย์ ที่ยากที่จะหยั่งรู้สภาพจิตได้ตลอดเวลา และความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้โดยสารจำนวนมากตกอยู่ในภาวะไม่แน่นอนสูง ก็ย่อมจะต้องมีคนเสนอทางออกอื่นๆ มาทดแทนมนุษย์ได้

แม้ว่าสถิติจะยืนยันว่าการเดินทางทางอากาศเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ๆ แต่การที่นักบินคนหนึ่งสามารถคร่าชีวิตของคนในเที่ยวบินของตัวเอง เพียงเพราะความไม่ปกติทางจิตก็ย่อมเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากยิ่ง

หรือก่อนจองตั๋วครั้งบินทุกครั้งจากนี้ไป เราต้องขอรู้ชื่อนักบิน ผู้ช่วยนักบิน และลูกเรือทุกคนพร้อมประวัติสุขภาพจิตใจด้วย?