การสร้างคุณค่าของแบรนด์

การสร้างคุณค่าของแบรนด์

ทุกวันนี้ใครๆ ก็หันมาให้ความสนใจกับเรื่องของการสร้างแบรนด์มากขึ้น

ซึ่งผมเชื่อว่า เป้าหมายของการสร้างแบรนด์ คือ การสร้างคุณค่าของแบรนด์ สินค้า หรือธุรกิจนั้นๆ แต่คุณค่าของผลิตภัณฑ์ หรือแบรนด์นั้นคืออะไร จะสามารถสร้างขึ้นและสื่อสารให้กับผู้บริโภคได้รับรับรู้ได้อย่างไร สอดคล้องกับยุคการตลาด 3.0 ที่เป็นยุคที่การตลาดเน้นการขับเคลื่อนด้วย "ค่านิยม"

นั่นคือ ตัวแบรนด์หรือธุรกิจเองก็ต้องปรับตัวเพื่อที่จะสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภคนั้นมองเห็น พร้อมทั้งสร้างค่านิยมในการบริโภคสินค้าเหล่านั้น ซึ่งแต่ละประเภทของธุรกิจก็จะมีรูปแบบในการปรับตัวที่ต่างกันไป

คงไม่ผิดนักที่จะบอกว่า ปัจจุบันนี้แทบทุกธุรกิจ นอกเหนือจากเป้าหมายด้านยอดขายแล้ว การสร้างการยอมรับ เห็นคุณค่า และภักดีในตราสินค้าเหล่านั้น ถือว่ามีความสำคัญมากพอกัน

แต่จะมีซักกี่แบรนด์ที่จะประสบความสำเร็จสร้างค่านิยมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นตรงตามเป้าของเรา การสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ดังกล่าวมีทั้งในแง่ของการปรับปรุงสินค้าและบริการ และการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ด้วย        

นอกจากนี้ แบรนด์ไม่ได้มีคุณค่าสำหรับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าสำหรับผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทุกคน ตั้งแต่ระดับเจ้าของแบรนด์สินค้า หากสินค้ามีคุณค่ามากขึ้น ขายสินค้าได้ราคาสูงขึ้น ก็จะมีกำไรมากขึ้นตามมา คู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ก็รู้สึกมีความมั่นคงในการทำธุรกิจกับแบรนด์เป็นผู้นำตลาด

แม้กระทั่งพนักงานทุกคนก็มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ดัง และมีภาพลักษณ์ที่ดี ไปไหนมาไหนก็รู้สึกว่าตนเองมีสถานะทางสังคมที่ดีที่ได้ทำงานในองค์กร และสุดท้ายเมื่อลูกค้ามาซื้อสินค้าหรือบริการ ก็มีความสุข ภาคภูมิใจที่ใช้สินค้าแบรนด์นี้ และรู้สึกว่าคุณค่าของแบรนด์คุ้มกับเงินที่จ่ายไป อยากให้คนอื่นได้รับรู้ว่าเราใช้แบรนด์นี้ หรืออาจชักนำ บอกต่อเพื่อนฝูงอีกด้วย

ไม่ว่าผมจะไปบรรยายที่ไหน หรือแม้กระทั่งเล่าให้น้องที่บริษัทฯ ฟังอยู่เสมอว่าธุรกิจของเราตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก จำเป็นต้องนำเสนอไอเดียที่แตกต่าง และแปลกใหม่อยู่เสมอ นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ผมพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในองค์กรของผม รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานนั้น จะเป็นตัวสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจของเรานั่นเอง คือสิ่งทำให้บริษัทเรามีความแตกต่าง จนกลายเป็น signature ให้ลูกค้ารับรู้ว่านี่ล่ะเรา

รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นว่างานที่ผ่านเรานั้นได้มาตรฐานแน่นอน และหากเราทำได้มากกว่าที่ลูกค้าคาดคิด หรือเหนือกว่ามาตรฐานทั่วไปก็จะยิ่งเป็นแต้มต่อ ถึงแม้ว่าธุรกิจจัดอีเว้นท์จะเป็นงานเบื้องหลังก็ตาม แต่ถ้าลูกค้าที่เคยใช้บริการแล้ว มั่นใจ ใช้บริการซ้ำ เกิดการบอกต่อ และที่สำคัญลูกค้ารายเดิมก็ให้โจทย์ที่ท้าท้ายกับเรามากขึ้นทุกปี นั่นก็เป็นเพราะความเชื่อมั่นในคุณค่า และความสามารถของเรา ว่าเราจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ผ่านไอเดีย นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ตลอดเวลานั่นเอง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถ้าคุณสามารถสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดีในสายตาของลูกค้า รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกส่วน บุคคลเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสะท้อนคุณค่าแบรนด์ของคุณอีกทางหนึ่ง และแบรนด์ของคุณก็จะเป็นเหมือนสินทรัพย์ที่จะมีแต่เพิ่มมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ

เช่นเดียวกับแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย