อยู่อย่างไรกับอิทธิพล จีน สหรัฐ ในเอเชีย

อยู่อย่างไรกับอิทธิพล จีน สหรัฐ ในเอเชีย

อำนาจในระบบการเงินโลกขณะนี้กำลังเปลี่ยนมือ โดยเฉพาะในเอเชียจากที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลสหรัฐ ขณะนี้ศูนย์อำนาจกำลังเปลี่ยนไปที่จีน

ล่าสุดเห็นได้จากการจัดตั้งธนาคารเอเชียเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือ AIIB ที่เป็นข้อเสนอของจีนที่มีมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมสนับสนุน รวมถึงประเทศพันธมิตรสหรัฐ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งชี้ว่าอิทธิพลของสหรัฐในเอเชียกำลังลดถอยลงขณะที่บทบาทของจีนในเอเชียนับวันจะมีมากขึ้น ประเทศไทยเองก็จะถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของศูนย์อำนาจนี้ และคงต้องปรับตัวอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้ถูกบังคับโดยสถานการณ์ให้ต้องเลือกข้าง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้


ความสำเร็จของการจัดตั้งธนาคาร AIIB ของจีนมีนัยสำคัญในแง่การเมืองระหว่างประเทศอยู่สามประเด็น หนึ่ง อิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียลดลงชัดเจน และมีอิทธิพลของจีนเข้ามาแทนที่ สอง การยอมรับการเปลี่ยนแปลงของศูนย์อำนาจเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางโดยกว่า 40 ประเทศทั่วโลกสนใจที่จะเป็นสมาชิกก่อตั้งธนาคาร AIIB รวมถึงประเทศที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ซึ่งชี้ว่าแม้แต่อิทธิพลของสหรัฐเอง ที่จะโน้มน้าวประเทศพันธมิตรดั้งเดิมของตนให้คล้อยตาม และปฏิเสธจีนก็ยังยาก และสาม ประเทศที่อาจเป็นคู่แข่งกับจีน เช่น อินเดีย ก็เลือกที่จะยอมรับบทบาทของจีนในเอเชีย แทนที่จะสนับสนุนสหรัฐ ทั้งหมดชี้ว่า ในแง่การเมืองระหว่างประเทศบทบาทที่สูงขึ้นของจีนในภูมิภาคเอเชียขณะนี้เป็นที่ยอมรับและไม่มีใครปฏิเสธ


ในทางตรงข้าม ความสำเร็จของธนาคาร AIIB ก็สะท้อนความล้มเหลวของสหรัฐที่ไม่สามารถรักษาอิทธิพลของตนในเอเชียให้คงอยู่ได้ โดยมีสาเหตุมาจากทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และวิธีการทำงานด้านระหว่างประเทศของสหรัฐเอง กล่าวคือ


ด้านการเมือง การเข้าโจมตีอิรักในปี 2003 ภายใต้เหตุผลของการสะสมอาวุธอานุภาพร้ายแรง (นิวเคลียร์) ที่ในที่สุดไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ ที่นำมาสู่ความไม่มีเสถียรภาพของประเทศอิรัก และได้ลามไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพในตะวันออกกลางนั้น ถือได้ว่าเป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญในการตัดสินใจของสหรัฐที่ทำให้ภาวะความเป็นผู้นำ และความน่าเชื่อถือของสหรัฐในฐานะประเทศผู้นำได้เสื่อมถอยลง


ด้านเศรษฐกิจ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐตั้งแต่ปี 2008 และยังแก้ไขไม่ได้ ได้ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของสหรัฐอ่อนแอลงมาก กระทบความเป็นผู้นำทางการเมืองของสหรัฐ ขณะนี้สหรัฐเป็นประเทศลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในโลก ตรงข้ามกับจีนที่มีเศรษฐกิจที่อาจใหญ่เป็นที่หนึ่งของโลก นอกจากนี้ที่ผ่านมาสหรัฐได้แสดงให้เห็นว่าขาดความเด็ดขาดที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตนเองมีอยู่ เช่น ปัญหาหนี้สาธารณะ ความอ่อนแอดังกล่าวทำลายความเชื่อมั่นที่นักลงทุนทั่วโลกมีต่อความสามารถของระบบการเมืองสหรัฐที่จะแก้ไขปัญหา และบั่นทอนความเชื่อมั่นของตลาดที่มีต่อความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของสหรัฐ


ด้านการทำงาน การเมืองระหว่างประเทศ สังเกตได้ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐบางส่วนยังวางตัวแบบไม่ตระหนักว่า ฐานะของประเทศตนในเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว คือ ยังวางตัวเป็นใหญ่แบบเดิมในเวทีระหว่างประเทศ แม้ฐานะของสหรัฐในเวทีเศรษฐกิจโลกได้อ่อนแอลงมาก ขณะที่จีนวางบทบาทลึกซึ้งกว่า เงียบกว่า และดูจะให้เกียรติกับทุกๆ ประเทศ สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศในเอเชียพร้อมที่จะรับฟังและใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น โดยมองว่าสหรัฐยังไม่ปรับตัวกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น


สำหรับจีน แม้จีนจะมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทางทะเลกับหลายประเทศในเอเชีย แต่จีนก็ระมัดระวังพอที่จะไม่ให้ข้อพิพาทเหล่านี้ เป็นปัญหาที่จะกระทบภาพใหญ่ของเป้าหมายการขยายบทบาท และอิทธิพลของจีนในทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตเราเคยมีประเทศมหาอำนาจมากมายในโลกที่ขึ้นมา และตกไปในประวัติศาสตร์ เช่น สเปนในศตวรรษที่ 16 ดัตช์ในศตวรรษที่ 17 อังกฤษและฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 และ 19 เยอรมนี ญี่ปุ่น โซเวียต และสหรัฐในศตวรรษที่ 20 ขณะที่จีนเองก็เคยรุ่งเรืองมากในศตวรรษที่ 15 สมัยที่นายพลเจิ้งเหอ (Zheng He) ออกเดินทางทางทะเลไปค่อนโลก และจีนค้าขายกับโลกผ่านเส้นทางสายไหม หรือ Silk Road ดังนั้น การจะกลับมาขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียอีกครั้ง ภายใต้ฐานะทางเศรษฐกิจของจีนที่เข้มแข็งอย่างปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่คาดหวังได้ว่าจีนจะเรียกคืนประวัติศาสตร์ และต้องการขยายบทบาทและอิทธิพลของตนในภูมิภาคเอเชีย ให้สมกับการเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ


เป้าหมายและความต้องการของจีนดังกล่าวนี้ เห็นได้ล่าสุดจากเอกสาร “แนวทางและแผนการสร้างถนนและการเชื่อมต่อร่วมกัน” (Vision and Actions on Jointly Building Belt and Road) ที่รัฐบาลจีนเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ที่กำหนดยุทธศาสตร์ของการสร้างเส้นทางสายไหมใหม่ รวมถึงเส้นทางทะเลสำหรับเศรษฐกิจโลกศตวรรษที่ 21 ที่จะเป็นกลไกเชื่อมต่อประเทศต่างๆ ที่จะนำมาสู่สันติสุข ความร่วมมือ การเรียนรู้ และประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นสปิริตของเส้นทางสายไหมเดิมที่ส่งผ่านมารุ่นสู่รุ่นเป็นพันๆ ปี โดยจีนอยากให้เส้นทางสายไหมใหม่นี้ ทำหน้าที่ตามสปิริตดังกล่าวอีกครั้งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกปัจจุบันตกต่ำ ผ่านการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในห้าด้านคือ ประสานนโยบายเพื่อให้เกิดความร่วมมือทุกระดับ (Policy Coordination) สร้างกลไก (Facilities Connectivity) ให้เกิดการเชื่อมต่อของสาธารณูปโภคและถนนหนทาง เปิดกว้างของการใช้กลไกการเชื่อมต่อ เพื่อส่งเสริมการค้าขายอย่างไม่มีข้อจำกัด (Unimpeded Trade) การรวมตัวภาคการเงิน (Financial Integration) เพื่อสนับสนุนการค้า และสร้างความเป็นมิตรระหว่างประชาชนในพื้นที่ต่างๆ (People to People Bond)


เอกสารนี้แสดงความต้องการที่ชัดเจนของจีนที่จะใช้การเชื่อมต่อเป็นเครื่องมือแพร่อิทธิพลทางเศรษฐกิจของตนในลักษณะที่จะสร้างความมั่นคงและประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ที่ทุกประเทศจะได้ประโยชน์ โดยจีนประเมินว่า จีนต้องนำเข้าสินค้าในมูลค่ากว่าสิบล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงห้าปีข้างหน้า จีนมีแผนที่จะลงทุนต่างประเทศในวงเงินกว่า 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่นักท่องเที่ยวจากจีนกว่า 500 ล้านคนก็จะเดินทางไปต่างประเทศ ตัวเลขเหล่านี้จีนแสดงให้เห็นว่า จีนจะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย โดยประโยชน์ต่างๆ จะเกิดขึ้นและกระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ตามการเชื่อมต่อทางกายภาพที่จะเกิดขึ้น ในบริบทนี้ การจัดตั้งธนาคาร AIIB จึงเป็นเพียงกลไกเล็กๆ กลไกหนึ่งในภาพใหญ่ของเป้าหมายนี้


บทบาทที่สูงขึ้นของจีน ทำให้ทุกประเทศในเอเชีย รวมถึงไทยต้องปรับตัวต่อระเบียบการเงินโลกใหม่ที่จีนจะมีอิทธิพลมากขึ้น การปรับตัวที่ดีที่สุดของไทยคงไม่ใช่การเลือกข้าง ว่าจะเป็นชอบระเบียบของสหรัฐหรือของจีน แต่ควรเป็นการปรับตัวที่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของศูนย์อำนาจที่ได้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็พร้อมร่วมสร้างระเบียบการเงินโลกใหม่สำหรับภูมิภาคที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เป็นระเบียบใหม่ที่ความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของหลายประเทศ เพื่อประโยชน์ของภูมิภาค นี่คือแนวทางที่ประเทศไทยควรเดิน เพื่อสร้างประโยชน์และสันติสุขให้กับภูมิภาค และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและถาวร