ความสำคัญของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

ความสำคัญของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

ท่านผู้อ่านบทความนี้และอื่นๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจทุกคนคงรู้จักชื่อ Janet Yellen เป็นอย่างดี

และน่าจะจำได้ว่าหน้าตาของผู้ว่าการธนาคารกลางหญิงคนแรกของสหรัฐเป็นอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าไม่กี่คนจะจำได้ว่ารัฐมนตรีคลังของสหรัฐชื่ออะไร (ชื่อสั้นกว่า Janet Yellen อีก) และคงจะมีท่านผู้อ่านน้อยคนที่นึกออกว่านาย Jack Lew หน้าตาเป็นอย่างไรและจำนวนน้อยกว่านั้นจะรู้ว่านโยบายการคลังสำคัญที่นาย Lew ขับเคลื่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจคืออะไร แต่ท่านผู้อ่านทุกคนจะรู้ว่าคิวอีคืออะไรและติดตามอย่างใจจดใจจ่อว่า Yellen จะปรับดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐขึ้นเมื่อใด เมื่อเดือนที่แล้วนักลงทุนทุกคนเฝ้าจับตามองว่า Janet Yellen จะเอาคำว่า “patient” ออกจากแถลงการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐหรือไม่ และนักวิเคราะห์หลายร้อยคนพยายามฟังคำสัมภาษณ์ทุกคำของ Yellen และนำมาตีความว่าจะหมายความอย่างไรในการดำเนินนโยบายในอนาคต


ในขณะเดียวกันมีใครรู้บ้างว่านโยบายสำคัญที่นาย Jack Lew พยายามขับเคลื่อนในฐานะรัฐมนตรีคลังของสหรัฐคืออะไร? นโยบายหลักคือโน้มน้าวให้บริษัทห้างร้านต่างๆ ปรับค่าจ้างขึ้นจาก 7.50 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงมาเป็น 10.10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง โดยพูดว่าเงินค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแรงขึ้น


ประเด็นคือในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกคือสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น (ซึ่งจีดีพีรวมกันกว่า 50% ของจีดีพีโลก) ต่างก็มีข้อจำกัดด้านการคลังอย่างมาก จึงต้องอาศัยนโยบายการเงินแบบสุดโต่งคือการลดดอกเบี้ยลงเหลือศูนย์และแถมด้วยการพิมพ์เงินใหม่ออกมาอีกหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลทั้งระยะสั้นและระยะยาว กล่าวคือโดยปกติธนาคารกลางจะกำหนดเฉพาะดอกเบี้ยระยะสั้น (มักจะเป็นดอกเบี้ยกู้-ยืม 1 วัน) เป็นเป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน แต่คิวอีคือการที่ธนาคารกลางพยายามกำหนดดอกเบี้ยทั้งหมดของระบบเศรษฐกิจ


กล่าวคือการไล่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรชั้นดีอื่นๆ นั้นจะทำให้ราคาพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีผลให้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยของพันธบัตรลดต่ำลงอย่างมาก การคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะต้องทำคิวอีและในที่สุดก็ทำจริงในต้นเดือนมีนาคมได้ช่วยทำให้ดอกเบี้ยระยะยาว (พันธบัตรรัฐบาล 10 ปี) ของอิตาลีและสเปนต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นการบิดเบือนตลาดอย่างมากเพราะ “คุณภาพ” หนี้ของรัฐบาลสหรัฐไม่ควรจะใกล้เคียงกับคุณภาพของหนี้รัฐบาลอิตาลีและสเปน ทั้งนี้โดยยังไม่ต้องคำนึงว่าเงินยูโรนั้นมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปเรื่อยๆ และได้อ่อนตัวลงมา 30% ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว


การใช้มาตรการคิวอีนั้นเป็นการทดลองนอกตำราเศรษฐศาสตร์ เพราะเดิมทีนั้นเศรษฐศาสตร์สมัยก่อนเคนส์จะประยุกต์เอาเศรษฐศาสตร์จุลภาคมาเป็นเศรษฐศาสตร์มหภาค จึงเรียกได้ว่าสมัยก่อนจะไม่ต้องมีนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเพื่อบริหารเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ เพราะนักเศรษฐศาสตร์อิงกับทฤษฎีที่ว่าเศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพ กล่าวคือปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพหากปล่อยให้กลไกตลาดทำงานปกติและรัฐบาลเองก็ทำตัวเหมือนครัวเรือนคืออย่าใช้จ่ายเกินตัว ในส่วนของนโยบายการเงินนั้นก็ให้ยึดโยงกับมาตรฐานทองคำคือพิมพ์เงินเป็นสัดส่วนของทองคำ (ทุนสำรอง) ที่ประเทศมีอยู่ หากใช้จ่ายเกินตัวและขาดดุลการค้า ทองก็จะไหลออกจากประเทศ ทำให้ปริมาณเงินในประเทศลดลง ส่งผลให้เกิดการรัดเข็มขัดทางการเงินซึ่งจะชะลอการใช้จ่ายและลดการขาดดุลการค้าจนกลับมาสมดุล


ทฤษฎีของเคนส์นั้นมองว่าเศรษฐกิจมีความผันผวนสูงและการขาดความมั่นใจ ตลอดจนข้อจำกัดของกลไกตลาด (โดยเฉพาะเงินเดือนที่ปรับตัวอย่างเชื่องช้า) สามารถทำให้เศรษฐกิจ “ติดหล่ม” อยู่ที่สภาวะตกต่ำได้นานหลายเดือนหลายปี รัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาสู่ดุลยภาพซึ่งใช้ทรัพยากรทั้งหมดของระบบโดยเร็วจนเป็นที่มาของการจัดตั้งธนาคารกลางของสหรัฐและการกำหนดให้นโยบายการเงินต้องมีเป้าหมาย 2 ประการ (dual mandate) คือเสถียรภาพของราคาและการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มพิกัด (full employment) อย่างไรก็ดีเคนส์มองว่านโยบายการเงินนั้นจะขาดความมั่นใจของนายทุนอย่างรุนแรง


กล่าวคือมองว่าเมื่อลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปถึงระดับต่ำระดับหนึ่ง ก็จะทำให้มีสภาพคล่องล้นระบบ (หรือที่เรียกว่ากับดักสภาพคล่องหรือ Liquidity trap) แต่ธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ยืมเงินเพื่อมาขยายกิจการ ดังนั้น จึงต้องพึ่งพารัฐบาลโดยการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล (กล่าวคือกู้เงินจากอนาคตมาใช้จ่ายในวันนี้) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นความมั่นใจของนายทุนและประชาชนให้ร่วมกันใช้จ่ายมากขึ้น สำหรับเคนส์นั้นความพยายามออมมากเกินไปจะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก (เพราะไม่มีใครยอมใช้เงิน) และในที่สุดรายได้ก็ตกต่ำ ทำให้ออมจริงได้น้อยลงกว่าที่คาดหวังเอาไว้ (paradox of thrift) จะเห็นได้ว่าเคนส์นั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก “ประชานิยม” และมองแต่ระยะสั้นซึ่งเขาตอบว่า “in the long run we are all dead”.


แต่ต้องยอมรับว่าธนาคารกลางสมัยใหม่นี้ก้าวข้ามเคนส์ไปแล้ว เพราะนโยบายการเงินคิวอีคือการไม่ยอมรับว่ามีกับดักสภาพคล่องคือจะกดดอกเบี้ยลงให้ติดลบก็ได้ จะพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นมากว้านซื้อพันธบัตรทั้งระบบเป็นปีๆ ก็ได้ จนกระทั่งดอกเบี้ยถูกบิดเบือนทั่วโลกและเงินสกุลต่างๆ ก็แข่งกันอ่อนค่าลง (race to the bottom) แต่ภาคเศรษฐกิจจริงก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งดังที่คาดหวังเอาไว้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะพยายามฟื้นตัวมา 6 ปีแล้วจึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งครับ