อีบุ๊คไม่กระทบหนังสือ ‘อินเทอร์เน็ต’ ปัจจัยแย่งเวลา

อีบุ๊คไม่กระทบหนังสือ ‘อินเทอร์เน็ต’ ปัจจัยแย่งเวลา

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 43 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 13

 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มี.ค.- 6 เม.ย.นี้ เป็นงานแฟร์หนังสือใหญ่ประจำปี และใช้เป็นดัชนีชี้วัดความอยู่รอดของธุรกิจหนังสือ ท่ามกลางการขยายตัวของสื่อใหม่ในยุคดิจิทัล

เพื่ออัพเดทพฤติกรรมผู้อ่าน หนังสือปัจจุบัน สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ผู้จัดงานสัปดาห์หนังสือฯ ได้จัดทำผลวิจัยการอ่านหนังสือล่าสุดประจำปี 2558 โดยสำรวจประชาชนอายุระหว่าง 15-69 ปี ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 8 จังหวัดใหญ่ใน 4 ภูมิภาค ช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา รวม 3,432 ตัวอย่าง

 พบว่าคนไทยอายุ 15-69 ปี อ่านหนังสือเฉลี่ย 28 นาทีต่อวัน ลดลงจากการสำรวจการอ่านหนังสือของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2556 ที่ระบุว่าผู้อ่านหนังสืออายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ย 37 นาทีต่อวัน และลดลงต่อเนื่องจากการสำรวจในปี 2548 ที่ใช้เวลาอ่าน 30-59 นาที

แต่หากพิจารณาจาก งานสัปดาห์หนังสือและงานมหกรรมหนังสือ “2 งานแฟร์หนังสือ”ประจำปี พบว่า 20% ของกลุ่มผู้สำรวจ หรือ 1 ใน 5 ซื้อหนังสือในงานด้วยจำนวนเฉลี่ยมากกว่าการซื้อจากร้านขายหนังสือ สัดส่วน 30% ด้วยมูลค่ากว่า 500 บาท หมายความว่าคนที่มางานสัปดาห์หนังสือ หรืองานมหกรรมหนังสือ ซื้อจำนวนเล่มเฉลี่ยต่อคนในงานมากกว่าการซื้อในร้านหนังสือตลอดช่วง 6 เดือน และมีการใช้จ่ายเงินที่สูงกว่า เรียกได้ว่าเป็นพฤติกรรมเก็บเงินเพื่อรอซื้อหนังสือจาก 2 งานแฟร์หนังสือ โดยมีแรงจูงใจจากส่วนลดในงาน

หากเปรียบเทียบรูปแบบการอ่านหนังสือระหว่าง หนังสือกระดาษ และ e-book  พบว่ากลุ่มตัวอย่างอ่านหนังสือ “กระดาษหรือเล่ม” สัดส่วน 99.8% ในจำนวนผู้อ่านหนังสือกระดาษ ระบุว่าอ่าน “อีบุ๊ค” ไปพร้อมกันมีสัดส่วน 24% ส่วนผู้อ่านอีบุ๊คอย่างเดียวมีเพียง 0.2% เท่านั้น เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนเวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือกระดาษอยู่ที่ 90.51% และอีบุ๊ค 9.49%

ส่วนใหญ่คนอ่านหนังสือไม่เคยซื้อหนังสืออีบุ๊ค แสดงว่าเป็นการเข้าถึง free e-book เป็นส่วนใหญ่  จากการสำรวจกลุ่มผู้อ่านที่มางานแฟร์หนังสือตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของ PUBAT นับได้ว่าตลาดอีบุ๊คยังค่อนข้างเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหนังสือกระดาษในประเทศไทย

การสำรวจครั้งนี้สอบถามถึงผลกระทบของอีบุ๊ค ที่มีต่อหนังสือกระดาษ กลุ่มตัวอย่าง 16.5% เท่านั้นของผู้อ่านหนังสือระบุว่าการซื้ออีบุ๊คทำให้ซื้อหนังสือที่ผลิตจากกระดาษลดลง

แม้ปัจจัยเรื่องเทคโนโลยี อีบุ๊ค ยังไม่กระทบต่อธุรกิจหนังสือกระดาษในขณะนี้ แต่กลับพบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ ระยะเวลาการอ่านหนังสือเล่มลดลง มาจากพฤติกรรมการใช อินเทอร์เน็ตและการเทเวลาอยู่กับสื่อออนไลน์ โซเชียล มีเดีย เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สะท้อนได้จากการสำรวจพฤติกรรมผู้อ่านที่ใช้อินเทอร์เน็ต ถึงผลกระทบต่อการอ่านหนังสือกระดาษ เกือบครึ่ง หรือ 41.4% ระบุ อ่านหนังสือ น้อยลง” ส่วนใหญ่หันไปอ่านเว็บข่าวและเว็บรวบรวมข่าวแทน

หมายความว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 2 ใน 5 ยอมรับว่าการใช้อินเทอร์เน็ตมีผลให้อ่านหนังสือกระดาษน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เหลืออาจไม่ได้หมายความว่าอินเทอร์เน็ตไม่มีผลต่อการตัดสินใจอ่านหนังสือกระดาษของพวกเขา แต่อาจเกิดผลกระทบโดยไม่รู้ตัว อาจกล่าวได้ว่าประชากรเกือบครึ่งหนึ่งอ่านหนังสือเล่มน้อยลง เนื่องจากการใช้อินเทอร์เน็ต ที่เข้ามาแย่งเวลาของพวกเขา

 ขณะที่พฤติกรรมการอ่านหนังสือกับการใช้อินเทอร์เน็ตของคนในเขตเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของตลาดหนังสือ พบว่าคนไทย 71% ใช้อินเทอร์เน็ตและใช้เกือบทุกวัน เฉลี่ย 92 นาทีต่อวัน ซึ่งมากกว่าระยะเวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือมากกว่า “3 เท่าตัว สำหรับข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นไปเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อการทำงาน

 แต่บอกได้แต่ว่า “เวลา” ของคนไทยถูกนำไปใช้กับอินเทอร์เน็ตมากกว่าอ่านหนังสืออย่างมาก