เรียนรู้จากโค้ชชั้นครู : ตอน AAR ให้ถูกและผิดเป็นครู

เรียนรู้จากโค้ชชั้นครู : ตอน AAR ให้ถูกและผิดเป็นครู

หัวหน้าแบบ “เจ้านาย” ใช้คน หัวหน้าแบบ “โค้ช” พัฒนาคน

ก่อนอื่นใด หัวหน้าทุกท่านที่ต้องทำงานกับลูกทีม ควรมีสมมติฐานเป็นหลักการสำคัญก่อนทำงานกับใครๆ ว่า

ลูกน้องไม่โง่ครับ

อย่างน้อยเมื่อทำงานร่วมกันผ่านไประยะหนึ่ง เขาย่อมสัมผัสได้ถึงความประสงค์ที่แท้จริงของหัวหน้า

ว่านายใช้ๆ เขาไป เพียงเพื่อให้งานเสร็จ (เพราะหากไม่สำเร็จ หัวหน้าก็จะเสร็จด้วย)

หรือ หัวหน้ามีความปรารถนาดี

ที่สำคัญ พี่โค้ชเขาให้มีโอกาสพัฒนาและเรียนรู้

..ให้เติบโต

..ให้แกร่ง

..ให้แข็งแรง

..ให้มั่นใจ

..ให้ประสบความสำเร็จ

วันนี้ เรามาศึกษาวิธีการโค้ชรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีที่มาจากกองทัพ เรียกว่า After Action Review หรือ AAR แปลได้ว่า การทบทวนผลงานหลังปฏิบัติภารกิจ

Dr.Peter Zenge เจ้าพ่อวงการด้านองค์กรแห่งการเรียนรู้ Learning Organization ยอมจำนนว่า ทฤษฎีที่เขาและนักวิชาการระดับเซียนเพียรเขียนมากมาย เพื่อให้องค์กรมีระบบการพัฒนาและเรียนรู้ สุดท้ายก็สู้ไม่ได้กับวิธีง่ายๆของกองทัพ ที่เรียกว่า AAR นี้

อาจารย์ฟันธงว่า AAR น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการนำพาทีมและองค์กรไปสู่การพัฒนา ตลอดจนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

พลังและความอลังการของ AAR อยู่ที่ความกระชับ ใช้ง่าย ได้สาระ

กล่าวคือ ทุกครั้งที่มีปฏิบัติการใด ทีมงานจะต้องรวมตัวกันอย่างรวดเร็วภายหลังภารกิจ เพื่อสอบทาน และถามตัวเองด้วยคำถามตรงไปตรงมาว่า

1. ภารกิจนี้มีจุดมุ่งหมายอะไร

2. ผลงานของเราเป็นอย่างไร

3. อะไรที่ทำได้ดี เพราะอะไร จะทำอย่างไรให้คงสิ่งที่ดีไว้ต่อไป

4. อะไรที่ยังทำได้ไม่ดี เพราะอะไร จะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นในอนาคต

สรุปว่าให้ทั้งถูกและผิดเป็นครู โดยเรียนรู้และเรียนลัดจากประสบการณ์ของกันและกัน

ลองมาดูตัวอย่างของการเป็น “เจ้านาย” ต่างจาก การเป็น “โค้ช” อย่างไร

“เจ้านาย” หลังจากพาลูกน้องหารือกับผู้บริหารเสร็จ

เจ้านาย : สมชาย ผมขายหน้าจริงๆ ผมสั่งกี่ครั้งแล้วว่าเวลาประชุมกับผู้บริหาร ต้องเตรียมข้อมูลรายละเอียดย้อนหลังไปด้วย ผิดปากผมไหมล่ะ พอท่านถาม คุณเลยวิ่งหาจ้าละหวั่น จนไม่ทันการ ท่านเลยยังไม่อนุมัติโครงการผม ทำงานกับคุณนี่ผมเหนื่อยจริงๆ

สมชาย:.......ขอโทษครับ Boss

ลองดูลีลาหัวหน้าแบบ “โค้ช” ที่ทำ AAR อย่างสม่ำเสมอ

หลังจากหัวหน้าพาลูกน้องหารือกับผู้บริหารเสร็จ

หัวหน้า: สมชายผมขอหารือ 5 นาที เรามา AAR กันอย่างเคยนะ

สมชาย: ยินดีครับพี่

เป้าหมาย - เราขอประชุมกับผู้บริหารเพื่อนำเสนอหลักการโครงการใหม่ให้ท่านเห็นชอบ

ผลงาน - ออกมาไม่ได้ตามเป้าครับพี่ ต้องเสนออีกครั้งสัปดาห์หน้า

สิ่งที่ผมทำได้ดี - น่าจะมีเรื่องเดียวครับ ผมว่าผมนำเสนอรายละเอียดโครงการได้ดี กระชับ ครบถ้วน

เป็นเพราะผมปรับเนื้อหาให้สั้นลง และซ้อมก่อนเข้าประชุม

หัวหน้า: ผมเห็นด้วย คุณนำเสนอได้ดีมาก เวลาท่านผู้บริหารมีน้อย คุณอธิบายได้ชัดเจน กระชับ ผมว่ามีอีกสิ่งที่คุณทำได้ดี คือ คุณมีความคิดริเริ่ม ไปหารือนอกรอบกับฝ่ายบัญชีก่อน ทำให้เขาเข้าใจโครงการในรายละเอียด เลยสนับสนุนเราในที่ประชุม

สมชาย: ขอบคุณมากครับพี่ ครั้งหน้า ผมได้ทำอีก

ส่วนข้อที่พัฒนาได้ - ผมขอโทษที่ผมทำไม่ได้ดีหลายอย่างครับพี่ ที่สำคัญ มี 2 เรื่อง

เรื่องแรก การตอบคำถามไม่ค่อยตรงประเด็น เพราะผมเข้าใจคำถามผิด ทำให้ผู้บริหารต้องถามใหม่ ไม่รู้ครั้งหน้าจะแก้อย่างไรดี

นอกจากนั้น ผมไม่ได้เอาข้อมูลเปรียบเทียบย้อนหลังไปด้วย ผู้บริหารเลยยังไม่สรุปเห็นชอบโครงการ

ผมต้องขอโทษครับ พี่เตือนผมแล้วเรื่องนี้

ผมสัญญาว่าครั้งต่อๆ ไป เรื่องนี้ผมไม่พลาดแน่ครับ”

หัวหน้า: ขอบคุณ เรื่องตอบคำถาม ผมคิดว่าครั้งหน้า หากเราไม่แน่ใจว่าท่านถามอะไร อาจขออนุญาตทวนคำถามของท่านก่อน แล้วจึงตอบ น่าจะช่วยได้

ผมดีใจที่คุณเห็นสิ่งที่พัฒนาได้ทั้ง 2 เรื่อง หากอยากให้ผมช่วยอย่างไรเพิ่มเติม สมชายบอกเลยนะ 

สมชาย: ขอบคุณครับพี่ 

โอ..ลูกน้องในฝันโค้ช! 

พี่หัวหน้าทำให้เป็นจริงได้เพราะ 

1. หัวหน้าและลูกน้องมีกติการ่วมกันว่า เมื่อจบงานใดๆ เราจะใช้เวลาเรียนรู้แบบ AAR ร่วมกัน 

โดยพี่หัวหน้ามีวินัย ไม่เคยพลาดกติกานี้ 

เมื่อลูกน้องรู้ว่าลูกพี่เอาจริง ก็จริงจังกับการพัฒนาด้วยเช่นกัน โดยหมั่นทั้งจับถูกและจับผิดตนเอง 

2. ลูกน้องตระหนักว่าลูกพี่มี “จับถูก” ทำดีพี่ก็เห็น เป็นขวัญกำลังใจ 

3. พี่เปิดพื้นที่ให้เขาเล่าเองว่า เขาประเมินผลงานที่ทำได้ไม่ดีอย่างไร ให้โอกาสชี้แจง 

4.ลูกน้องตระหนักว่า ทำพลาดไป ก็ไม่ “ถูกด่า” เพราะพี่บอกเสมอว่า ผิดเป็นครู แต่ต้องเรียนรู้ไม่ให้พลาดซ้ำ (..ถ้าไม่จำเป็น) 

5.พี่พร้อมที่จะสอน ตลอดจนชี้แนะเพิ่มเติมเพื่อเสริมประสบการณ์ โดยไม่จิก ไม่ตอกย้ำให้ช้ำใจ 

จนลูกน้องปาวารณาตนว่า 

ขอเวลาไม่นาน ผมจะเก่ง ผมจะเร่งมีผลงานให้ทั้งผมและพี่ภูมิใจครับ 

ลูกน้องในฝัน โค้ชสร้างได้ด้วยประการฉะนี้