เราควรแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศอย่างไร

เราควรแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศอย่างไร

สองบทความที่แล้วผมได้เขียนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจค่อนข้างละเอียด เพื่อให้เข้าใจว่า เศรษฐกิจขณะนี้ค่อนข้างท้าทายทั้งในและนอกประเทศ

และการฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวในอัตราที่ดีขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่ต้องการนโยบายเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว นโยบายระยะสั้นก็เพื่อให้เศรษฐกิจเร่งตัวได้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน ผ่านการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ และการส่งออก ขณะที่มาตรการระยะยาวก็ต้องปลดล็อกปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมามีสมรรถนะที่จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในระยะยาว แต่ถ้าเรามุ่งเฉพาะแต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการระยะสั้น เศรษฐกิจก็จะกระเตื้องขึ้นเฉพาะเท่าที่มีการกระตุ้นโดยภาครัฐเท่านั้น แต่จะกลับไปฟุบอีก เพราะการกระเตื้องขึ้นไม่สามารถนำไปสู่การขยายตัวที่ต่อเนื่องได้ จากปัญหาโครงสร้างที่มีอยู่ที่ไม่ได้แก้ไข เหมือนที่เกิดขึ้นในสองรัฐบาลที่ผ่านมา


ในความเห็นของนักลงทุนในตลาดการเงินโลก ปัญหาเศรษฐกิจของไทยขณะนี้ก็คือ ปัญหาการขาดกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ที่เกิดจาก การชะลอตัวของรายได้จากที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง จากราคาสินค้าเกษตรที่ลดต่ำลง จากระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงทำให้ประชาชนไม่อยากใช้จ่าย (เพราะต้องเก็บเงินไว้ชำระหนี้) และจากสินเชื่อใหม่ ที่การขยายตัวโน้มลดลง ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการสินเชื่อที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ และส่วนหนึ่งมาจากความระมัดระวังของธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งจากหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่สูง และเศรษฐกิจที่ชะลอ การส่งออก ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีปัญหาที่ต้องขยายตัวดีขึ้น และท้ายสุดก็คือการใช้จ่ายของภาครัฐเอง แต่เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจกลับมาใช้จ่าย ก็คือ ความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภค และนักลงทุนต่อเศรษฐกิจที่ต้องดีขึ้น


ในแง่นี้มาตรการภาครัฐ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ก็คงมีห้าด้าน


หนึ่ง ราคาน้ำมันในประเทศต้องปรับลดลงใกล้เคียงกับราคาในตลาดโลก เพื่อให้ต้นทุนน้ำมันในการใช้จ่ายของผู้บริโภคและนักธุรกิจสามารถลดลงได้จริงจัง ปัจจุบันราคาน้ำมันโลกได้ลดไปแล้วกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลงน้อยกว่ามาก ถ้ารัฐยอมให้ราคาน้ำมันในประเทศลดลงได้มากตามราคาตลาดโลก การประหยัดที่เกิดขึ้นจากการลดภาระการใช้จ่ายด้านน้ำมันของผู้บริโภคและนักธุรกิจ นำมาสู่การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่จะขยายตัวได้มากขึ้น นี่คือสิ่งแรกที่ควรทำ


สอง อัตราแลกเปลี่ยนต้องอ่อนค่าลงได้มากกว่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินฝืดในประเทศ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของการส่งออก แต่ก็ต้องตระหนักว่าการอ่อนค่าเงินอย่างเดียวจะไม่สามารถกระตุ้นการส่งออกได้มาก เพราะปัญหาภาคส่งออกหลายเรื่องเป็นปัญหาโครงสร้าง ดังนั้น ทางการควรต้องคิดแก้ไขปัญหาการส่งออกเป็นรายสินค้าอย่างบูรณาการ เพื่อปลดล็อกปัญหาด้านการผลิต และแรงงาน เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของสินค้าส่งออกลดลง อย่าลืมว่าในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีปัญหาการฟื้นตัว การส่งออกของประเทศไทยจะมีคู่แข่งมาก ทำให้เราจำเป็นต้องปลดล็อกปัญหาด้านอุปทานในทุกสินค้า เพื่อดูแลต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ให้เอื้อต่อการขยายหรือรักษาตลาดส่งออกเดิมไว้ นอกจากนี้ รัฐบาลต้องพร้อมส่งเสริมให้บริษัทส่งออกมีนวัตกรรมในการผลิตสินค้าให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน


สาม สร้างรายได้และอำนาจซื้อให้กับประชาชนส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ผ่านนโยบายประชานิยมที่ให้เงินเปล่า แต่รัฐบาลต้องใช้จ่ายในแนวที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนและการจ้างงานใหม่ในภูมิภาคตามมา เพื่อให้เกิดการมีงานทำและการเพิ่มตำแหน่งงาน ไม่ใช่เพิ่มอัตรากำลังในภาครัฐ ซึ่งวิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือ ผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงการขนาดย่อยระดับตำบล หมู่บ้านในภูมิภาคที่ประชาชนท้องถิ่นเป็นเจ้าของโครงการ เป็นโครงการที่เกิดจากการร่วมคิดของประชาชนในท้องถิ่น สนับสนุนโดยภาคราชการในท้องถิ่น และบริษัทเอกชนในพื้นที่ที่สามารถมีส่วนร่วมได้ในแง่การให้ความช่วยเหลือโครงการ ด้านเทคโนโลยี บุคลากร คำแนะนำ และกำลังทรัพย์ นำไปสู่การลงทุนในโครงการที่ประชาชนในท้องถิ่นต้องการ ขับเคลื่อนและบริหารโดยประชาชนในพื้นที่ และสนับสนุนทางการเงินโดยบริษัทธุรกิจเอกชนในพื้นที่และภาคราชการในท้องถิ่น นำไปสู่การจ้างงานใหม่และการสร้างรายได้ ขณะเดียวกันประชาชนในท้องถิ่นก็ต้องมีความรับผิดชอบที่จะกำกับดูแลการเบิกจ่ายเงินเหล่านี้ ให้เกิดประโยชน์ที่ตรงประเด็นและไม่รั่วไหล ลดความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน เทียบกับถ้าทำผ่านองค์กรรัฐในระดับท้องถิ่น


สี่ สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจขณะนี้มีมาก แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ เพราะบริษัทขนาดใหญ่ไม่ลงทุน ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อของบริษัทขนาดย่อมและผู้ประกอบการรายใหม่เป็นปัญหา จากที่ความเสี่ยงทางเครดิตในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น ดังนั้น เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ สิ่งที่ทางการจะช่วยได้เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สภาพคล่องที่มีอยู่ ก็คือ เปิดโครงการร่วมกับธนาคารพาณิชย์ที่จะสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจขนาดเล็ก และผู้ประกอบการรายใหม่ ส่งเสริมความเป็นเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneurship) ให้กับคนรุ่นใหม่ โดยภาครัฐค้ำประกันความเสี่ยงทางเครดิตบางส่วนของสินเชื่อเหล่านี้ เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อและโอกาสทางธุรกิจของคนรุ่นใหม่ในการทำธุรกิจของตัวเอง คนรุ่นใหม่เหล่านี้คงต้องคิดแล้วว่าธุรกิจของตัวเองจะคุ้มและพร้อมจะเสี่ยงด้วยเงินทุนของตัวเอง แต่มีข้อจำกัดที่ธนาคารพาณิชย์อาจไม่พร้อมที่จะปล่อยเงินกู้ เพราะกังวลเรื่องความเสี่ยง ดังนั้น ถ้ารัฐบาลลงเงินพร้อมค้ำประกันสินเชื่อบางส่วน สินเชื่อก็จะเริ่มเดินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของบริษัทขนาดเล็ก พร้อมกับสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับคนรุ่นใหม่ ทำให้เศรษฐกิจจะมีสินค้าใหม่ๆ ที่จะสามารถพัฒนาต่อให้เป็นสินค้าหลักของประเทศ เพื่อการส่งออกในอนาคต


นี่คือสี่แนวทางที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ นอกจากที่ภาครัฐควรต้องเร่งใช้จ่าย เร่งการเบิกจ่ายจากปีงบประมาณ และลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ บางอย่างที่เสนอก็เป็นสิ่งที่ทางการกำลังทำอยู่ แต่บางอย่างยังไม่ได้ทำ ก็เลยเสนอความเห็นนี้ไว้เผื่อเป็นประโยชน์ แต่มาตรการระยะสั้นอย่างเดียวอย่างที่กล่าว จะไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจกลับมาเร่งตัวในอัตราที่ดีได้ต่อเนื่อง จะต้องมีมาตรการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ตามไปด้วย ซึ่งรายละเอียดของมาตรการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างคงจะนำมาเขียนในโอกาสต่อไป