ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศภายใต้พลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 5

ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศภายใต้พลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 5

การปฏิรูปทางการเงินและภาคการเงิน ... การรวมกลุ่มภาคการเงินและการเปิดเสรีทางการเงินภายใต้ประชาคมอาเซียน จะก่อให้ประโยชน์หลายประการ

เริ่มต้นตั้งแต่ การจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน ผู้ออมและผู้ลงทุนมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นในการใช้บริการทางการเงิน ผู้ระดมทุนเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวก ในแง่ประเทศและผู้ประกอบการก็สามารถบริหารความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของการลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งได้ดีขึ้นกว่าเดิม สามารถพัฒนาระบบการเงินให้ครบวงจร สถาบันการเงินไทยมีโอกาสขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น Product หลากหลาย ระบบชำระเงินที่เชื่อมโยงและมีมาตรฐาน


การเปิดเสรีทางการเงินเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเสรีภาคบริการ ในปี พ.ศ.2558 จะเริ่มมีการทยอยผ่านคลายด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายแต่จะยังคงให้แต่ละประเทศสามารถมีมาตรการ Safeguards ในการเปิดเสรีเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคและระบบอัตราแลกเปลี่ยน การเปิดเสรีทางการเงินช่วยสนับสนุนให้การเปิดเสรีทางด้านการค้าเติบโตมากขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่นเดียวกับการรวมตัวของภาคการเงินย่อมส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจจริงให้แนบแน่นและเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น


การให้บริการแบบข้ามพรมแดน (Mode 1) และการให้คนในประเทศเดินทางไปบริโภคบริการในต่างประเทศ (Mode 2) จะต้องยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมด แต่ทั้งนี้ หากมีเหตุผลจำเป็นที่จะต้องคงเงื่อนไขบางประการสามารถเจรจาต่อรองได้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีการหารือเพื่อลดและยกเลิกข้อจำกัดอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการจัดตั้งธุรกิจอีกด้วย การให้นักลงทุนอาเซียนเข้ามาจัดตั้งธุรกิจ (Mode 3) ได้มีการกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเปิดให้นักลงทุนอาเซียนเข้ามาจัดตั้งธุรกิจโดยถือหุ้นได้มากขึ้น จนถึงร้อยละ 70 ซึ่งจะเปิดอย่างเป็นขั้นๆ สาขาบริการต่างๆ ส่วนใหญ่จะเปิดเสรีเป็นขั้นๆ ยกเว้นสาขาการเงิน และ การขนส่งทางอากาศ จะได้มีการกำหนดเป็นการเฉพาะแตกต่างไป ส่วน Mode สุดท้าย เป็นเรื่องการเปิดให้บุคคลธรรมดาเดินทางเข้ามาให้บริการ ให้สมาชิกผูกพันเปิดตลาดมากขึ้น และส่งเสริมในเรื่องการเคลื่อนย้ายบุคลากรอาเซียนให้สามารถเดินทางและทำงานในประเทศสมาชิกได้สะดวกมากยิ่งขึ้น


การรวมกลุ่มภาคการเงินประกอบด้วย 4 ด้าน ด้านบริการภาคการเงิน ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ด้านพัฒนาตลาดทุน ด้านเชื่อมโยงตลาดทุน กลไกและกระบวนการดำเนินการการรวมกลุ่มภาคการเงินและการเปิดเสรีทางการเงินมีทุกระดับ ทั้งในระดับคณะทำงานเจ้าหน้าที่ไปจนถึงระดับรัฐมนตรีและผู้นำประเทศ อาเซียนมีการเปิดเสรีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 หรือ พ.ศ. 2538 และต้องการให้บรรลุการเปิดเสรีทางการเงินอย่างเต็มรูปสู่การรวมกลุ่มทางการเงินในปี ค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ. 2563
การเติบโตของระบบการเงินมีมากขึ้นตามพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ บทบาทของสถาบันการเงินก็เติบโตตามไปด้วย การขยายใหญ่ของระบบการเงิน (Monetarisation) และ การขยายของบทบาทสถาบันการเงินเป็นผลโดยตรงจากการพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ขณะที่บทบาทของสถาบันการเงินและตลาดการเงินก็มีผลกระทบต่อพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ธุรกรรมทางการเงินที่ไม่มีกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงรองรับได้ขยายตัวอย่างมโหฬาร จนทำให้ภาคการเงินมีขนาดใหญ่กว่าภาคการผลิตหลายเท่า ภาวะไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง


โครงสร้างระบบการเงินของไทยมีองค์ประกอบสำคัญสามส่วน คือ สถาบันการเงินที่เป็นธนาคาร สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และ ตลาดตราสารหนี้ตลาดตราสารทุน โดยที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยยังมีความสำคัญในลำดับสูงในระบบการเงินของประเทศ


โครงสร้างระบบการเงินประกอบไปด้วยสามส่วนสำคัญ คือ สถาบันการเงินที่เป็นธนาคาร สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และ ตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน


สถาบันการเงินที่เป็นธนาคารในประเทศไทย ประกอบไปด้วย ธนาคารกลางหรือธนาคารชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอี) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น


ส่วน สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ประกอบไปด้วย บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต สถาบันการเงินเพื่อรายย่อย (บริษัท อิออน บริษัทแคลปิตอลโอเค) สหกรณ์ และ โรงรับจำนำ เป็นต้น


ขณะที่ ตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน มีบทบาทในระบบการเงินเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง นิยมออกตราสารหนี้และตราสารทุนเพื่อระดมทุนในการขยายกิจการหรือบริหารโครงสร้างทางการเงินของกิจการ


ต่อมาได้มีการผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติสถาบันการเงินฉบับใหม่มาบังคับใช้ (2550) แบ่งสถาบันการเงินที่รับฝากเงินออกเป็นสองประเภทเท่านั้น คือ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ให้บริการการเงินแบบครบวงจร (Universal Bank) และ ธนาคารเพื่อรายย่อย (Retail Bank)
นวัตกรรมทางการเงิน ภาวะไร้พรมแดนของการเคลื่อนย้ายทุนระยะสั้นในตลาดการเงิน ทำให้ โลกการเงินเต็มไปด้วยความผันผวน ความเสี่ยงและโอกาส


ขณะเดียวกัน กระบวนการโลกาภิวัตน์ทางการเงินได้ทำให้โฉมหน้าของธุรกิจการเงินการธนาคารพลิกโฉมไปอย่างมาก อุตสาหกรรมธนาคารทั้งในระดับโลก ภูมิภาคและในประเทศได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรงและต่อเนื่อง เรากำลังอยู่ในยุคสมัยแห่งการปฏิวัติทางการเงินครั้งใหญ่ ไม่นับรวมการจัดระเบียบการเงินโลกใหม่หลังวิกฤติสินเชื่อซับไพร์ม อันเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อการปรับตัวของระบบสถาบันการเงินไทย


การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Account Liberalization) หรือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ (Capital Flows) อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามนิยามในการจัดทำดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) คือ เงินลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment), เงินลงทุนระยะสั้น (Portfolio Investment) และ เงินทุนระยะสั้น (Short Term Capital Flows) เงินลงทุนโดยตรงซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว มักจะให้แต่ประโยชน์แก่ประเทศผู้รับเงินลงทุน ในด้านการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการส่งผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงมีการส่งเสริมการลงทุนประเภทนี้โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การส่งผ่านเทคโนโลยีและผลประโยชน์จากการลงทุนได้อย่างเต็มที่เมื่อประเทศมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ


ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุน Portfolio Investment ที่เป็นการเก็งกำไรระยะสั้นนั้น มักจะสร้างปัญหามากกว่าประโยชน์ต่อประเทศผู้รับเงิน โดยเฉพาะประเทศเปิดที่มีขนาดเล็ก (Small Open Economy) ปัญหาที่สำคัญคือผลกระทบของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นต่อเสถียรภาพของตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ไทยเผชิญภาวะดังกล่าวทั้งก่อนวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540 และ ช่วงวิกฤตการณ์การเงินโลกจากปัญหาสินเชื่อซับไพร์ม


การเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นในตลาดทุนสร้างความผันผวน (Volatility) ต่อระบบทำ ให้ราคาและผลตอบแทนของสินทรัพย์ และสภาพคล่อง (Liquidity) ของตลาดมีความไม่แน่นอนจนนำมาสู่ความเสี่ยง ปัญหาที่น่าวิตกที่สุดคือการไหลกลับของเงินทุนอย่างรวดเร็ว ที่เรียกกันว่า Capital Flight ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดภาวการณ์ขาดสภาพคล่องอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจนำประเทศไปสู่วิกฤตการเงินดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 ได้ การเคลื่อนย้ายเงินทุน (Capital Inflows) อาจหมายถึงการกู้ยืมจากภายนอกประเทศ (External Finance) ดังนั้น เงินทุนไหลเข้าระยะสั้นก็คือการกู้ยืมระยะสั้นนั่นเงิน ประเทศผู้กู้จึงต้องมีความระมัดระวังในการบริหารจัดการหนี้ระยะสั้น เช่นไม่นำเงินกู้ระยะสั้นไปใช้ในการลงทุนระยะยาว เพราะอาจทำให้เกิดภาวการณ์ขาดสภาพคล่องอย่างเฉียบพลัน หากเกิดกรณี Capital Flight ดังที่กล่าวข้างต้น


ส่วนผลกระทบต่อตลาดเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange Market) นั้น การเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นจะสร้างความผันผวนแก่อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงปริมาณและมูลค่าของการส่งออกและการนำเข้า โดยเฉพาะหากมีการไหลเข้าของเงินทุนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาสินค้าส่งออกที่แสดงเป็นเงินตราต่างประเทศแพงขึ้น ทำให้ไทยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้


เนื่องจากปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น อาจมีความรุนแรงถึงขนาดที่จะทำให้เกิดวิกฤตการเงินเช่นเดียวกับกรณีวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะต้องเข้าไปดูแล ทั้งด้านความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน และดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ประเทศสามารถแข่งขันในการค้าระหว่างประเทศได้