ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศภายใต้พลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 4

ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศภายใต้พลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 4

การปฏิรูปภาษี ต้องปฏิรูปทั้งโครงสร้างภาษี อัตราภาษี ฐานภาษี ใช้เครื่องมือภาษีในการจัดการทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองให้ดีขึ้น

โดยปฏิรูปให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและมาตรฐานอาเซียน ระบบภาษีต้องทำให้เศรษฐกิจและหน่วยทางเศรษฐกิจสามารถแข่งขันได้และมีความเป็นธรรม


มาตรการภาษีสามารถจัดการทางด้านเศรษฐกิจ ได้ทั้งในมิติด้านการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ลดภาษีการลงทุน การบริโภคหรือกิจกรรมการผลิต) การกระจายความมั่งคั่ง (เพิ่มภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก) สนับสนุนความสามารถในการแข่งขัน (ลดภาษีให้กับวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตบางประเภท) กระตุ้นให้เกิดการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุน) และ ยังช่วยในการจัดการทางด้านสังคม (ภาษีบาปควบคุมกิจกรรมอบายมุข) และ ปัญหาสิ่งแวดล้อม (เก็บภาษีมลพิษต่างๆ) รวมทั้ง การเสริมสร้างให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง ด้วยการทำให้พรรคการเมืองและสถาบันทางการเมืองเป็นของมหาชนมากขึ้นผ่านการบริจาคภาษีหรือบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองแล้วสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้


การปฏิรูปภาษีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิรูปรายได้ภาครัฐ คงไม่ใช่เพื่อเลี่ยงปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลังในอนาคตเท่านั้น หากแต่ต้องการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว การขยายฐานรายได้เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเพื่อพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน การกระจายรายได้ และความมั่งคั่ง การจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


การปฏิรูประบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว


ไทยจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหากมีการปฏิรูประบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้วย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในหลายพื้นที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน


การปฏิรูปอุตสาหกรรมการบริการทางการแพทย์


ไทยมีศักยภาพและมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์ของภูมิภาค อุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีมากหากไทยต้องการเป็น Medical Hub มีความจำเป็นต้องผลิตแพทย์และพยาบาลเพิ่มขึ้น การทำ ข้อตกลง Mutual Recognition Agreement หรือ MRA สาขาวิชาชีพทางการแพทย์ของอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แพทย์จากประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถเข้ามาทำงานในโรงพยาบาลเมืองไทยได้ รัฐบาลจึงต้องทำงานร่วมกับแพทยสภาเพื่อแก้กฎหมายหรือกฎระเบียบบางประการเพื่อเปิดเสรีในการเข้ามาทำงานของบุคลากรทางการแพทย์จากอาเซียน


การปฏิรูประบบเกษตรกรรมและการผลิตอาหาร


ภาคเกษตรกรรมและการผลิตอาหารเป็นภาคการผลิตที่ไทยมีความได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบสูงและมีขีดความสามารถการดำเนินนโยบายทางการเกษตรที่ผิดพลาดและการไม่มียุทธศาสตร์เชิงบูรณาการของภาคเกษตรกรรมของไทย ทำให้ภาคเกษตรกรรมไทยอ่อนแอลง การทุ่มเทงบประมาณและทรัพยากรไปสนับสนุนนโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรนอกจากสร้างภาระทางการคลังจำนวนมากแล้ว ยังทำให้ขาดงบประมาณและการผลักดันการเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าผลผลิตและการแปรรูป ระบบการวิจัยที่เข้มแข็งและได้ผลมีบทบาทในการขับเคลื่อนการเติบโตของเกษตรกรรมในประเทศพัฒนาแล้วมาก่อนหน้านี้ และกำลังมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของเกษตรกรรมในประเทศพัฒนาใหม่ (Emerging economies) ทั้งที่มีพื้นที่เพาะปลูกจำกัดอย่างจีน หรือ อุดมด้วยทรัพยากรที่ดินเพื่อการเพาะปลูกอย่างบราซิล ในขณะที่การอุ้มชูเกษตรกรโดยรัฐด้วยการกีดกันการนำเข้า การตั้งภาษีนำเข้า และการประกันราคา


หากแยกแยะภาคเกษตรกรรมของไทยออกเป็น 3 ระบบใหญ่ ระบบเกษตรเชิงพาณิชย์ ระบบเกษตรอุตสาหกรรม ระบบเกษตรยั่งยืน (เกษตรพอเพียง/เกษตรเชิงอนุรักษ์) แต่ละระบบมีเป้าหมายมีข้อจำกัด มีโอกาสและความต้องการในการปฏิรูปที่แตกต่างกัน แต่ละส่วนต้องการนโยบายในการสนับสนุนแตกต่างกัน ขณะเดียวกันแต่ละภาคส่วนก็ได้รับผลกระทบจากพลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแตกต่างกัน


อาเซียนได้เห็นความสำคัญของความมั่นคงทางอาหารจึงได้จัดตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน (Asean Emergency Rice Reserve) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 ภายใต้ Asean Food Security Agreement เพื่อบริหารจัดการข้าวสำรองในยามฉุกเฉิน กระบวนการดำเนินการนี้ต้องไม่ไปบิดเบือนการค้าระหว่างประเทศไทยและเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงอาหารของประชาชนด้อยโอกาส


การปฏิรูประบบขนส่งและโลจิสติกส์


ไทยมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2556-2560) โดยในยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบไปด้วย แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโซ่อุปทานเพื่อเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มจากโซ่อุปทาน แนวทางการส่งเสริมธุรกิจการค้าและบริการในพื้นที่เมืองชายแดน แนวทางพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกทางการค้า แนวทางส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยตั้งอยู่ในจุดที่สามารถเชื่อมโยงและมีชายแดนเชื่อมต่อกับสมาชิกอาเซียนถึง 4 ประเทศโดยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยมีความได้เปรียบในการพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบขนส่งและโลจิสติกส์อย่างยิ่ง


การปฏิรูประบบกฎหมาย


ต้องมีการปฏิรูประบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้เป็นมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน


ผลของเขตเศรษฐกิจพิเศษ


เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกใน 5 พื้นที่ชายแดนหากสามารถจัดตั้งได้ตามที่ประกาศเอาไว้ จะทำให้เศรษฐกิจการค้า การลงทุนและการพัฒนาพื้นที่ชายแดนอันประกอบไปด้วย อ. แม่สอด จ. ตาก อ. อรัญประเทศ สระแก้ว จ. ตราด จ. มุกดาหาร อ. สะเดา จ. สงขลา ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดและได้รับประโยชน์จากการลงทุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังทำให้การผลิตขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่จากอุปทานแรงงานประเทศเพื่อนบ้านและเป็นการลดการอพยพของแรงงานต่างด้าวเข้าสู่พื้นที่ชั้นในของประเทศ โดยจะทำให้อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของไทยหลังปี พ.ศ. 2558 ไม่ต่ำกว่า 4.5% (หากปัจจัยตัวแปรทางด้านเศรษฐกิจการเมืองอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญไปในทิศทางที่เป็นลบอย่างมาก) เกิดการกระจายตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจ เกิดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนตามจังหวัดชายแดนสำคัญ อย่างไรก็ตามมีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ต้องแก้ไข คือ ราคาที่ดินปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเก็งกำไรที่ดิน พื้นที่เกษตรกรรมเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างไม่เหมาะสมหรือขาดการทำโซนนิ่งที่ดี การขาดการวางแผนการใช้พื้นที่อย่างมียุทธศาสตร์และบูรณาการรวมทั้งการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ การจราจรแออัดบริเวณชายแดนไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีพอ ปัญหาการขาดแคลนนักวิชาชีพและแรงงานทักษะสูง ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความอ่อนแอลงของชุมชน ค่านิยมวัฒนธรรมดีงามของท้องถิ่นถูกแทนที่โดยวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม เขตเศรษฐกิจพิเศษโดยภาพรวมแล้วเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและสังคมโดยภาพรวม มี Positive Impacts and Externality สูง แต่ทางการจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับและแก้ปัญหา Negative Externality ไว้ด้วย ก็จะทำให้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ประเทศชาติและประชาคมอาเซียนโดยรวม บทเรียนเขตเศรษฐกิจพิเศษในต่างประเทศที่มีการจัดตั้งขึ้นในเวียดนาม มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ว่ามีทั้งที่ประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายและที่ทำให้เกิดผลกระทบข้างเคียงในทางลบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จของเศรษฐกิจพิเศษ คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม การดำเนินการในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการกำหนดมาตรการต่างๆ และสิทธิประโยชน์ มีระดับการทุจริตคอร์รัปชันและการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจต่ำ