ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศภายใต้พลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2

ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศภายใต้พลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2

การสร้างและการพัฒนาสังคมสวัสดิการซึ่งเป็นระบบสวัสดิการที่หลากหลาย เปิดกว้างเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

และมีการจัดการในหลายรูปแบบทั้งเอกภาคี ทวิภาคี ไตรภาคี และพหุภาคี ตามแต่ลักษณะของผู้จัดสวัสดิการสามารถดำเนินการเป็นขั้นตอนได้ดังนี้ [1]


1. กำหนดการสร้างสังคมสวัสดิการให้เป็นวาระแห่งชาติ


สังคมสวัสดิการ ไม่ใช่ สวัสดิการสังคม (social welfare) และมีความหมายที่แตกต่างไปจากรัฐสวัสดิการ (welfare state) เพราะรัฐสวัสดิการโดยทั่วไปเป็นหน้าที่ของรัฐ ในการจัดสวัสดิการทั่วหน้า และทั่วด้านโดยรัฐ แต่สังคมสวัสดิการมีสวัสดิการทางเลือกหลากหลายจากทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า


2. สร้างภาคีสังคมสวัสดิการจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมใน 3 รูปแบบ ได้แก่


1) สวัสดิการโดยรัฐ


ถือเป็นสิทธิพื้นฐานของสังคมที่จะลดความแตกต่างทางสังคม และเศรษฐกิจและการลดช่องว่างความสัมพันธ์ไม่เสมอภาคอันเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อไม่ได้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในสังคม สวัสดิการโดยรัฐประกอบด้วย 3 ส่วน คือ การบริการสังคม การประกันสังคม และการสงเคราะห์สังคม หรือการช่วยเหลือทางสังคม


แนวทางการสร้างสวัสดิการโดยรัฐให้กว้างขวางครอบคลุมสามารถดำเนินการได้โดยการจัดการงบประมาณ โดยการกำหนดเป้าหมายในการจัดทำงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ให้ถึงมือคนจน การกระจายอำนาจจากราชการให้องค์กรประชาชนเพื่อทำให้องค์กรเหล่านี้สามารถจัดสวัสดิการในบางประเภท การพัฒนาฐานข้อมูลระดับพื้นที่ และข้อมูลจุลภาคในระดับชุมชน/ท้องถิ่นการคลังเพื่อการกระจายรายได้โดยปรับปรุงการจัดเก็บภาษีทั้งอัตราภาษีและประเภทภาษี รวมถึงการกระจายระบบงบประมาณไปสู่ระบบการคลังท้องถิ่น


การจัดให้มีระบบความมั่นคงทางสังคม (หรือระบบการประกันสังคม) เพื่อลดความเสี่ยงในชีวิตของคน เช่น ความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความเสี่ยงจากความไม่มั่นคงในอาชีพการงาน ซึ่งควรมีลักษณะถ้วนทั่ว


2) สวัสดิการโดยภาคธุรกิจ


นอกจากสวัสดิการจากรัฐตามกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ภาคธุรกิจก็สามารถจัดสวัสดิการให้กับแรงงานลูกจ้างและแรงงานที่คล้ายลูกจ้าง (เช่น เกษตรกรภายใต้พันธสัญญา และผู้รับงานไปทำที่บ้าน) ได้โดยผ่านการปรับปรุงกฎระเบียบของทางราชการใน 3 ด้าน คือ ขยายการคุ้มครองแรงงานทั่วหน้า การประกันสังคมถ้วนหน้าครอบคลุมทั้งแรงงานภายในและนอกระบบที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจโดยตรง และสวัสดิการแรงงานในลักษณะอื่น ๆ เช่น ที่พัก อาหารกลางวัน รถรับส่ง เป็นต้น


3) สวัสดิการโดยชุมชน


รูปแบบการจัดสวัสดิการสำหรับกลุ่มนี้ได้แก่ การที่รัฐส่งเสริมและสนับสนุนโครงการที่ชุมชนร่วมกันจัดทำขึ้น กล่าวคือ


ขยายผลสวัสดิการบนฐานทรัพยากรและวัฒนธรรมให้กว้างขวาง และการมีส่วนร่วมจากภาคชุมชน ครัวเรือน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยส่วนกลางจัดทำกฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินการในระดับพื้นที่


สนับสนุนสถาบันแรงงานที่ไม่เป็นทางการ เพื่อทำงานคู่ขนานไปกับระบบสหภาพแรงงานไม่ติดยึดเพียงกรอบการทำงานของระบบสหภาพ และส่งเสริมให้การจัดตั้งเครือข่ายแรงงานนอกระบบร่วมกับแรงงานในระบบภาคต่าง ๆ ส่งเสริมงบประมาณเพื่อการส่งเสริมสถาบันสวัสดิการชุมชน โดยสนับสนุนให้ภาคประชาชนทั้งในรูปแบบกลุ่ม องค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิ เป็นเจ้าภาพในการจัดสวัสดิการ โดยรัฐทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนและจัดงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการที่กลุ่มและองค์กรเหล่านี้จัดทำขึ้นสวัสดิการอื่น ๆ เช่น ปรับกระบวนการทำงานของสถาบันและระบบสถานสงเคราะห์ ไม่ให้เป็นกลายเป็นการกระทำแบบซ้ำซ้อน พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้ด้อยโอกาสและด้อยสมรรถนะดำเนินชีวิตอิสระ เพื่อสร้างความมั่นใจในตนเองให้ยืนอยู่ได้ในสังคม โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้พิการ คนชรา เหยื่อผู้ถูกกระทำจากความรุนแรง เป็นต้น


การปฏิรูปการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ สู่ ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรม


การปฏิรูปการศึกษาต้องนำเอาพลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ความเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานสู่ความต้องการแรงงานที่มีความรู้ การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ต้องปรับตัวสู่การทำงานและการผลิตที่ใช้ Capital Intensive and Knowledge Intensive Investment การปฏิรูปการศึกษาต้องตั้งโจทย์ว่า ประเทศต้องการคนแบบใดในอนาคต ระบบการศึกษาต้องผลิตคนแบบนั้น มีการตั้งเป้าหมายให้สถาบันการศึกษาของไทยและมหาวิทยาลัยการพัฒนาให้คนไทยสามารถติดต่อสื่อสารเป็นภาษาสากลและภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ระบบราชการ ระบบการศึกษาไม่ได้เตรียมคนเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ หากไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน การเจรจาต่อรอง การนำเสนอ ทำให้มีข้อจำกัดจากการได้ประโยชน์จากระบบที่เปิดกว้างมากขึ้นในประชาคมอาเซียน สิงคโปร์ มาเลเซียและเวียดนามมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ก่อนหน้านี้และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิงคโปร์ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วนานแล้วโดยคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ วิสัยทัศน์และความสามารถของผู้นำเป็นแรงผลักดันสำคัญ มาเลเซียประกาศก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี พ.ศ. 2563 (พ.ศ. 2020) ความจริงแล้ววิสัยทัศน์ระยะยาวของประเทศไม่ใช่ว่าไม่มีใครคิด อย่างสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็เคยมีการจัดสัมมนาและเผยแพร่หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ วิสัยทัศน์ประเทศไทย ๒๕๗๐ หรือ ตอนที่ผู้เขียนเข้าไปจัดตั้งและช่วยงานในฐานะกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะที่ถูกจัดตั้งนี้อยู่ในทำเนียบรัฐบาล (ถูกยุบไปแล้วโดยรัฐบาล คมช. เมื่อปี พ.ศ. 2550) ผู้เขียนได้ผลักดันให้เกิด โครงการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าในช่วงต้นปี พ.ศ. 2549 ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549


เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ A Visionary Nation - Four Centuries of American Dreams&What Lies Ahead โดย Zachary Karabellได้ข้อสรุปว่า การที่อเมริกาเป็นมหาอำนาจ เจริญรุ่งเรืองทั้งที่เป็นประเทศเกิดใหม่เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีมานี่เอง เพราะ เสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยของประชาชนที่เข้มแข็งมีเสถียรภาพโดยเฉพาะเสรีภาพในการคิด การวิพากษ์วิจารณ์ และ การประกอบการ รวมทั้ง ความสามารถในการเข้าถึงโอกาสอย่างเสมอภาค ทำให้ ผู้คนที่มีความรู้ความสามารถปลดปล่อยศักยภาพได้อย่างเต็มที่ การศึกษาวิจัยและนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้และเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมแห่งเสรีภาพทางวิชาการ

---------------------------------
[1] บทสรุปผู้บริหาร ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง การกระจายรายได้ด้วยการสร้างสังคมสวัสดิการ การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมไทย การประชุมสมัชชาสวัสดิการสังคมแห่งชาติครั้งที่ ๑๘ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์