ชนชั้นกลางระลอกสุดท้ายในสังคมไทย (4)

ชนชั้นกลางระลอกสุดท้ายในสังคมไทย (4)

การขยายตัวของชนชั้นกลางในสังคมไทยไม่ได้เป็นกระบวนการเดียวกันทั้งสังคม หากแต่มีลักษณะของการกระเพื่อมเป็นระลอกเหมือนระลอกคลื่น

 ซึ่งทำให้ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยจึงไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมทั้งสังคมหรือไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ “ประชาธิปไตย” อย่างที่คาดหวังกันว่าชนชั้นกลางจะเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ในช่วงเวลาเดียว


ระลอกแรกของชนชั้นกลางได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แต่เนื่องจากว่าชนชั้นกลางที่มาจากระบบราชการไม่มีอิสระทางเศรษฐกิจจึงทำให้ต้องสร้างรัฐระบบราชการขึ้นมา ระลอกที่สอง แม้ว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นอิสระจากระบบราชการ แต่ก็มีจำนวนและขนาดไม่มากนัก จึงเป็นเสมือนหัวหอกของความเปลี่ยนแปลงไปสู่จินตภาพของการปกครองที่เสมอภาคมากขึ้นเท่านั้น


ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาได้ก่อให้เกิดการขยายตัวของชนชั้นกลางอีกระลอกหนึ่งที่ได้น่าจะได้มีโอกาสและบทบาทมากขึ้นในการที่จะสร้าง “รัฐประชาธิปไตย” ขึ้นมา


ทศวรรษ 2520 เป็นช่วงที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งและรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนับเนื่องมาจนถึงพิธีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในพ.ศ.2525 ได้ทำให้กลุ่มนักลงทุนชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น มีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของสังคมไทยอย่างสูง เพราะทุกคนเชื่อในพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ (ผมกำลังจะเขียนเรื่องความหมายทางการเมืองและเศรษฐกิจของการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครับ ช่วยรออ่านด้วยนะครับ)


เสถียรภาพทางการเมืองได้ทำให้รัฐได้โอกาสในการขยายตัวออกไปสู่พื้นที่หัวเมืองต่างๆ อย่างเข้มข้นมากขึ้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ สี่และห้า ได้มุ่งเน้นสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในหัวเมืองหลักๆ อย่างมาก การขยายตัวของรัฐเข้าไปในพื้นที่ชนบทก็เข้มข้นขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในช่วงต้นทศวรรษ คุณบุญชู โรจนเสถียรได้เริ่มโครงการเงินผันสู่สภาตำบลซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่รัฐได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ตัดสินใจใช้เงินงบประมาณเอง (ก่อนทักษิณนานเลยครับ)


ต่อมารัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ก็ได้หยิบกรอบคิดของคุณบุญชูไปดัดแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทอย่างรอบด้านมากขึ้น การคิดและสร้างนโยบายรัฐลงสู่ชนบทอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นในช่วงที่คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการประสานการพัฒนาชนบทแห่งชาติและที่ปรึกษาพลเอกเปรม ในเรื่องการพัฒนาชนบท


พร้อมกัน ความภาคภูมิใจใน “ความเป็นไทย” ที่ทำให้รัฐไทยรอดพ้นจากภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ ก็เป็นแรงผลักดันให้รัฐสร้างนโยบายการท่องเที่ยว “แห่งชาติ” ซึ่งทำให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวขยายตัวขึ้นสูงอย่างมาก


การขยายตัวของรัฐเข้าไปสู่ชนบทในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาเป็นโอกาสที่สำคัญที่ผู้คนในชนบทได้สัมพันธ์กับอำนาจรัฐอย่างเข้มข้นมากขึ้น ความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐเป็นทั้งโอกาสในการปรับตัวทางเศรษฐกิจและสังคม และเป็นการเปลี่ยนแปลงความหมายของตัวตน “ชาวบ้าน” ที่ต้องจัดความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐที่ใกล้ชิดตนเองมากขึ้น


การปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงความหมายตัวตนของ “ชาวบ้าน” ในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับสภาพเดิมทางกายภาพและสังคมเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ แต่ก็กล่าวได้ว่าจะมีความแตกต่างแต่ก็มีลักษณะร่วมใหญ่ๆ หลายประการ


ความเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตรทั้งหมดเป็นการเข้าสู่การผลิตเพื่อขายมากขึ้นๆ จนในช่วงต้นของทศวรรษ 2540 ก็กล่าวได้คนทำการเกษตรทั้งหมดในสังคมไทยไม่ใช่ชาวนา/ชาวบ้านที่ทำการเพาะปลูกแบบเดิมอีกแล้ว การปลูกพืชเพื่อขายล้วนแล้วแต่ต้องยึดโยงกับกลไกของตลาดเป็นหลัก การต่อรองกับตลาดโดยอาศัยอำนาจรัฐหรือการใช้รัฐเป็นเครื่องมือในการพยุงราคาพืชผลเป็นเรื่องปรกติมากขึ้นนับจากทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน


พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงมาสู่การผลิตเพื่อขายเป็นหลัก ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ล้วนแล้วแต่ใช้โอกาสที่การขยายตัวของรัฐลงไปในชนบทเป็นการปรับตัวที่สำคัญ การปรับตัวมาหลายลักษณะขึ้นอยู่กับทุนเดิมของชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ กับโอกาสที่เกิดขึ้น เช่น การขยายถนนหนทางทำให้เกิดการเกิดขึ้นของพ่อค้าเร่ในภาคอีสาน การขยายตัวของการปลูกยางพันธุ์ใหม่ได้ทำให้การเกิดขึ้นของตลาดใหม่ๆ ในภาคใต้ การขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยวทำให้เกิดการอพยพเข้าสู่ภาคบริการในภาคเหนือ รวมทั้งการเริ่มต้นเป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตรของชาวบ้านภาคกลาง เป็นต้น


นโยบายรัฐที่ทำให้เกิดการเติบโตของหัวเมืองทุกภูมิภาคก็เป็นโอกาสที่สำคัญของผู้คนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาสู่การทำงานเฉพาะด้านต่างๆ ในเขตเมือง การขยายตัวของการผลิตภาคไม่เป็นทางการเพิ่มมากขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ริมทางเท้า การเป็นผู้รับเหมาช่วงในการผลิตสินค้า หรือเป็นแรงงานในธุรกิจการก่อสร้าง ฯลฯ


การจัดความสัมพันธ์ลักษณะใหม่กับตลาดในภาคเกษตรกรรม และการเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่การทำงานระดับต่างในเขตเมืองที่เติบโตมากขึ้นจากนโยบายรัฐมีผลอย่างสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความหมายของตัวตน “ชาวบ้าน” เพราะพี่น้องชาวบ้านทั้งหมดได้กลายมาเป็นผู้ขายทักษะ/ความสามารถส่วนตัวในการดำรงชีวิต ทักษะและความสามารถส่วนตัวนั้นไม่ได้มาจากการศึกษาในระบบอย่างเช่นชนชั้นกลางสองรุ่นที่ผ่านมา แต่เป็นการสร้างและสั่งสมกันมาในช่วงสอง/สามทศวรรษหลัง 2520 เช่น พี่น้องร้อยเอ็ดที่ขับแท็กซี่อยู่ในปัจจุบันล้วนแล้วแต่ย้อนไปได้ถึงญาติพี่น้องที่เคยขับ “บลูเบิร์ด” ในสมัย 2520


กล่าวได้ว่า การขยายตัวของชาวบ้านที่ปรับตัวมาสู่การขายทักษะ/ความสามารถส่วนตัวนี้เป็นลักษณะร่วมกันของความเป็นชนชั้นกลาง หากแต่ทักษะ/ความสามารถส่วนตัวนี้แตกต่างไปจากชนชั้นกลางเดิมในก่อนหน้านี้


ที่สำคัญที่สุดของกระบวนการการขยายตัวของคนกลุ่มนี้ ได้แก่ เป็นการขยายตัวรุ่นสุดท้ายของชนชั้นกลางในสังคมไทยเพราะทุกคนในภาคชนบทล้วนแล้วแต่เข้ามาสู่การเป็น “ชนชั้นกลาง” ดังกล่าวจนหมดสิ้นแล้ว แม้พี่น้องปาเกอะญอในพื้นที่ห่างไกลก็ไม่ได้อยู่แบบเดิมอีกต่อไปแล้ว ลูกหลานของพี่น้องเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เข้าสู่ระบบการศึกษาแบบทางการจนหมดสิ้น


นี่คือระลอกสุดท้ายของชนชั้นกลางในสังคมไทย ไม่มีชาวนาและสังคมชาวนาแบบเดิมเหลืออีกแล้ว ต่อจากนี้ไป สังคมไทยก็จะต้องจัดความสัมพันธ์ในสังคมชนชั้นกลางกันใหม่เพื่อจะข้ามพ้นวิกฤติด้านต่างๆ ที่รุมเร้าอยู่