จับตา ‘New Normal’ ของจีน

จับตา ‘New Normal’ ของจีน

ตั้งแต่ที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนได้กล่าวว่ายังมีอาวุธทางนโยบายการเงินอีกเยอะสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน

ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติหรือ National People's Congress เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ของจีนก็ขานรับด้วยการขึ้นรวดเดียวติดต่อกันเป็นเวลา 10 วันทำการ นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี โดยหนึ่งในเหตุผลของความคึกคักดังกล่าวได้แก่ การที่เศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่โหมดปกติใหม่ หรือ New Normal หรือ 经济发展的新路 ซึ่งในความเห็นของผม มีส่วนประกอบดังนี้


หนึ่ง การแบ่งบทบาทระหว่างภาครัฐและเอกชนของจีนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเอกชนมีบทบาทในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น ส่วนภาครัฐนั้น หันไปสนใจในประเด็นของการจัดการระบบสาธารณูปโภคให้สามารถเติบโตได้ทันกับการพัฒนาประเทศ กฎระเบียบต่างๆ การปราบปรามคอร์รัปชัน และการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงกลยุทธ์ นอกจากนี้ การใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างรัฐกับภาคธุรกิจหรือ ‘Guanxi’ จะเป็นแบบที่ความโปร่งใสและเป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง


สอง มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีความแตกต่างในทางความเห็นระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟและรัฐบาลจีน ถึงตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในทศวรรษหน้าของจีน โดยทางไอเอ็มเอฟมองว่าประมาณร้อยละ 6 ส่วนจีนยังยืนยันตัวเลขที่ร้อยละ 7 กว่าๆ โดยตลาดมองว่าตัวเลขของไอเอ็มเอฟน่าจะเป็นไปได้มากกว่า


สาม แม้ภาคเอกชนจะเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและโครงการปฏิรูป ทางเศรษฐกิจอย่างมากมายของรัฐบาลจีน ทว่าภายใต้ ‘New Normal’ รัฐบาลจีนจะช่วยประคองผู้ที่มีโอกาสทางสังคมน้อยกว่าให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ภายใต้เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญ รัฐบาลมีหย่าที่จัดการกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต


สี่ การหาแหล่งต้นกำเนิดการเจริญเติบโตใหม่ๆ โดยเฉพาะให้หันมาพึ่งพาการบริโภคมากกว่าการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซกเตอร์ healthcare การธนาคาร ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ สินค้าไอทีและเทคโนโลยี พลังงานทางเลือก และการทหาร รวมถึงการลดบทบาทของรัฐวิสาหกิจของจีนให้มีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากมีประสิทธิภาพต่ำกว่า ดังรูปที่ 1 และลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชน ผ่านการเปิดโอกาสให้คนในชนบทมาทำงานในเมืองใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า ‘city-hukou’ และระบบประกันสังคมที่ดีกว่าในปัจจุบัน


ห้า เน้นการเติบโตด้วยการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมิใช่เติบโตในประเทศจีนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าการลงทุนข้ามชาติ หรือ ODI (overseas direct investment, excluding financial assets) ซึ่งปี 2014 อยู่ในระดับ 1.03 แสนล้านดอลลาร์ หรือเติบโตกว่า 20 เท่าในระยะเวลา 10 ปี และเป็นครั้งแรกที่จะมีขนาดใกล้เคียงกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ที่ปี 2014 อยู่ในระดับ 1.19 แสนล้านดอลลาร์


หก ให้การส่งออกจีนไม่หวือหวาแต่ยังแน่นเหมือนเดิม แม้ในปัจจุบันจีนจะไม่อยู่ในยุคที่การเติบโตของการส่งออกเป็นเลขสองหลัก และสูญเสียความเป็นเจ้าตลาดในสินค้าระดับล่างถึงกลาง ทว่าจีนก็ยังเป็นเบอร์หนึ่งในแง่ของขนาดหรือมูลค่าการส่งออกและนำเข้า รวมถึงมีตลาดในประเทศที่ใหญ่มาก อีกทั้งค่าแรงที่แม้จะสูงกว่าประเทศแถบเพื่อนบ้านเรา ก็ยังถูกกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ อยู่ดี ที่สำคัญ บรรดาสินค้าในตลาดระดับบนจากผู้ประกอบการดาวรุ่ง อาทิ บริการ Online อินเทอร์เน็ตของ Baidu บริษัทอินเทอร์เน็ตในกลุ่มผู้บริโภคของ Tencent หรือ ร้านค้า e-Commerce อย่าง Alibaba ดังรูปที่ 2 ที่สำคัญ รัฐบาลจีนได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและการลงทุนของบริษัท Start-up ใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านไอทีและสารสนเทศ ทั้งในแง่ของเม็ดเงินและสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่างๆ


ท้ายสุด ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทัดเทียมนานาประเทศ โดยการสร้างระบบขนส่งสาธารณะและระบบสาธารณูปโภค ณ ปีที่แล้ว จีนได้สร้างระบบทางด่วน กว่า 1.2 แสนกิโลเมตร ระบบรางรถไป กว่า 1.1 แสนกิโลเมตร รวมถึงที่เป็น high-speed ยาวกว่า 1.1 หมื่นกิโลเมตร ซึ่งมีความยาวมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนบอกว่ายังต้องสร้างอีกเยอะ เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวคิดเป็นเพียงร้อยละ 38 และ 23 ของยุโรปและอเมริกา ตามลำดับ นอกจากนี้ หากคิดเทียบกับประเทศที่เติบโตในระดับเดียวกันก็ยังน้อยกว่าเพื่อนอยู่กว่าร้อยละ 10


โดยสรุป เศรษฐกิจจีนกำลังเดินตามรอยของชาติตะวันตกในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทว่ามีความลุ่มลึกและรัดกุมมากกว่าครับ


------------------
หมายเหตุ หนังสือเล่มล่าสุดด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคของผู้เขียน “เล่นหุ้นในไทย รวยไกลรอบโลก” เริ่มวางจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ LINE ID: MacroView ครับ