ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศภายใต้พลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 1

ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศภายใต้พลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 1

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เรามียุทธศาสตร์ในการปฏิรูปประเทศหรือไม่? เราจะปฏิรูปประเทศท่ามกลางความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร?

การปฏิรูปเป็นสิ่งที่จะมาคลี่คลายความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่านได้หรือไม่? และเรามียุทธศาสตร์อาเซียนของไทยหรือไม่? และเราจะตอบสนองต่อพลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไร?


ความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่าน คือ การต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่พยายามรักษาสถานภาพเดิมกับฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เหมือนดั่งที่ อันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) กล่าวไว้ว่า “วิกฤตการณ์ย่อมก่อตัวขึ้นเมื่อสิ่งเก่ากำลังจะตายและสิ่งใหม่ยังไม่สามารถถือกำเนิด ในช่วงว่างนี้จะมีอาการวิปริตผิดเพี้ยนมากมายหลากหลายแบบปรากฏออกมา” การปฏิรูปจะช่วยทำให้ความขัดแย้งรุนแรงและวิกฤตการณ์เบาบางลงด้วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วยการหารือ เจรจาต่อรองกัน กระบวนการดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดเมื่ออยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพราะสามารถดึงการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมากที่สุดได้


ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศภายใต้พลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์อาเซียนของไทยไปด้วยพร้อมกัน นอกจากนี้ยุทธศาสตร์การปฏิรูปต้องมีลักษณะเป็น Regional Approach ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก (Regional common benefits) และมีลักษณะเป็น Inclusiveness โดยการกำหนดยุทธศาสตร์และการดำเนินการควรดึงการมีส่วนร่วมจากกลุ่มหลากหลายในประเทศ เป็นการกำหนดจาก “ล่างสู่บน” มากกว่า “บนสู่ล่าง” แบบใช้อำนาจสั่งการด้วยนโยบายจากผู้มีอำนาจทางเดียว


ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศนี้ไม่ควรตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในทุกเรื่อง ประชาคมและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ควรมีลักษณะหลายศูนย์กลางที่เกื้อกูลและเติมเต็มกันมากกว่าการจัดรูปแบบเช่นเดียวกับจักรวรรดิในอดีต การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนจะประกอบไปด้วยประชากรราว 600 กว่าล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6 ของประชากรโลก ขนาดของจีดีพีเท่ากับร้อยละ 5 ของโลก อาเซียนมีความหลากหลายทั้งในแง่การเมืองการปกครอง ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงิน ทรัพยากรธรรมชาติและขนาดของประเทศ


การส่งออกและการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับจนกระทั่งล่าสุดเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังอาเซียนในปี พ.ศ. 2557 อยู่ที่ร้อยละ 26.11 เทียบกับปี พ.ศ. 2537 อยู่ที่ร้อยละ 19 ขนาดของเศรษฐกิจไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 31 ของโลกและคิดเป็นเพียง 0.5% ของจีดีพีโลก เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดใหญ่กว่าไทย 40 เท่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ของไทยจะเป็นประโยชน์ต่อไทยทั้งในแง่อำนาจต่อรองในเวทีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน


เดิมผู้นำอาเซียนต้องการให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอันเป็นหนึ่งในเสาหลักของประชาคมเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ต่อมาในช่วงต้นปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ.2550) ผู้นำอาเซียนได้เลื่อนกำหนดการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนให้บรรลุผลได้ในปีค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ต่อมาจึงมีการเลื่อนเป็นต้นปี พ.ศ. 2559 เนื่องจากประเทศสมาชิกบางส่วนไม่มีความพร้อม


การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ได้มีการกำหนดพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ภายในต้นปี พ.ศ. 2559 การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน การเงินและแรงงานฝีมือ 8 สาขาวิชาชีพจะเป็นไปอย่างเสรีเต็มรูปแบบ เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ยุทธศาสตร์ที่สอง การเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ที่สาม การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค ยุทธศาสตร์ที่สี่ การเป็นภูมิภาคที่มีบูรณาการเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก


ก่อนที่เรากล่าวถึงการปฏิรูปประเทศเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน ต้องพิจารณาประเด็นความท้าทายภายในอาเซียนเสียก่อน ประชาคมอาเซียนมีความล่าช้าในการดำเนินการตามเป้าหมายและพันธกิจเพราะใช้หลักฉันทามติ กระบวนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจจึงล่าช้าแต่เมื่อดำเนินการได้แล้วจะเกิดความแน่นอนสูง การขาดท่าทีร่วมกันในบางประเด็นและความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศสมาชิกเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการคืบหน้าของประชาคมสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับ “กับดักเทคโนโลยีขั้นกลาง (Medium-Technology Trap)” ยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองได้ ต้องการซื้อเทคโนโลยีพื้นฐานจากชาติตะวันตกเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดหรือดัดแปลง


การปฏิรูปประเทศไทยต้องดำเนินการให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปสังคม ปฏิรูปศาสนาและวัฒนธรรม ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาลและกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปสื่อมวลชน เป็นต้น การปฏิรูปต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางมุ่งยกระดับ “คุณภาพชีวิต” ของประชาชน การปฏิรูปต้องนำมาสู่การเติบโตอย่างมียั่งยืน มีเสถียรภาพ มีคุณภาพและมีพลวัตการเติบโตและความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ต้องแลกมาด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิแรงงาน มีประชาชนในอาเซียนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ การปฏิรูปของประเทศอาเซียนจึงต้องอาศัยทั้งเจตจำนงร่วมกันของผู้นำของแต่ละประเทศสมาชิกและเป้าหมายร่วมกันของประชาคม


สำหรับประเด็นปฏิรูปประเทศภายใต้พลวัต AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีหลายเรื่อง ในบทความทางวิชาการชิ้นนี้จะเน้นไปที่มิติทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในพื้นที่หรือปัจจัยที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลาง ประเด็นที่ไทยต้องรองรับและเตรียมความพร้อมเพื่อให้ได้ประโยชน์จากพลวัตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มที่


การปฏิรูปเศรษฐกิจโดยภาพรวม


ต้องดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจในสองด้านสำคัญ คือ สร้างความเป็นธรรมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ในประชาคมอาเซียนเองนั้นมีปัญหาความยากจนและปัญหาความเท่าเทียมกันค่อนข้างมากโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (ประกอบไปด้วย เขมร ลาว พม่าและเวียดนาม) การจะแก้ปัญหาได้ต้องอาศัยแนวทางแบบบูรณาการและมีความหลากหลาย (Multidimentional and Integrated Approach) เน้นยุทธศาสตร์การเติบโตแบบ Inclusive Growth และ การคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) ไทยและอาเซียนต้องแสวงหาความร่วมมือระดับมหภาคระหว่างประเทศผ่านทาง ESCAP และ ADB เนื่องจากสองหน่วยงานนี้สนับสนุนให้มีการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและเสมอภาค (Macroeconomic Policies for Inclusive and Sustainable Development)


ภายใต้โลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีโดยเฉพาะภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการดูแลบรรดาธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมรวมทั้งกิจการที่ปรับตัวไม่ทันและแข่งขันไม่ได้ จะทำให้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจมีความซับซ้อนและกระจายตัวมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สูญเสียอาชีพและยังไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้ ขณะที่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมหรือกิจการที่แข่งขันได้ ตลาดที่เปิดกว้างมากขึ้นและใหญ่ขึ้น ย่อมเป็นโอกาสแห่งการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดได้


การลดช่องว่างทางรายได้ การแก้ความยากจนและสร้างความเป็นธรรมทางสังคมจำเป็นต้องดำเนินการใน 2ด้าน คือ ด้านผู้มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างเหลือล้น-ใช้แนวทางการคลัง การงบประมาณการภาษีและการป้องกันการผูกขาด ส่วนด้านคนยากไร้-ผลักดันให้กลุ่มผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสหลุดพ้นจากภาวะขัดสนยากจนด้วยการสร้างโอกาสให้เข้าถึงปัจจัยการผลิต พัฒนาระบบสวัสดิการโดยรัฐอย่างเป็นระบบ จัดให้มีระบบการคุ้มครองทางสังคม (Social protection) และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายสาธารณะ


ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีและความรู้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาการกระจายรายได้รุนแรงยิ่งขึ้น ความแปรปรวนของภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะทำให้เกษตรกรยากจน ต้องประสบ ความแร้นแค้นทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) เราตั้งเป้าไปสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุข (green and happiness society)” แต่ดูเหมือนสภาพความเป็นจริงที่ทุกคนเผชิญไม่เป็นไปตามเป้าหมายเลย ทั้งความแตกแยกขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความไม่ชัดเจนของกฎเกณฑ์กรณีมาบตาพุด ต่อมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ต้องการพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งในระดับชุมชน ระดับภาคและระดับประเทศในทุกขั้นตอนของแผนอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งร่วมจัดทำรายละเอียดยุทธศาสตร์ของแผนเพื่อมุ่งสู่ “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรมและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง”


แม้ปัญหาจะมากแต่ก็ต้องเริ่มต้นสร้างภาวะการกินดี อยู่ดี มีสุข และมีสิทธิให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทย โดยอาศัยฐานของระบบสวัสดิการที่เข้มแข็งฐานสวัสดิการดังกล่าวนำมาซึ่งสิทธิและสวัสดิการ โดยทิศทางแนวนโยบายด้านสวัสดิการสังคมที่เป็นไปได้ และสามารถดำเนินการได้ทันทีคือ การสร้าง “สังคมสวัสดิการ (welfare society)” ขึ้นโดยผนึกกำลังจากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมสร้างสรรค์สวัสดิการสังคมขึ้นในหลายรูปแบบ มีการจัดการโดยหลายสถาบัน และสร้างความร่วมมือจากหลายฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตสวัสดิการอย่างกว้างขวางครอบคลุม โดยแต่ละรูปแบบและแต่ละสถาบันมีความเป็นอิสระต่อกัน ภายใต้ความรับผิดชอบและการดูแลของสังคมโดยรวม


ติดตามตอนต่อไปได้ที่ www.bangkokbiznews.com