ใครจะเป็นนายกฯ สิงคโปร์คนต่อไป?

ใครจะเป็นนายกฯ สิงคโปร์คนต่อไป?

หลังจากที่อดีตนายกฯ ลีกวนยู ถึงแก่อสัญกรรม และนายกฯปัจจุบัน หลี่เสียนหลง เข้าผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก

ในเวลาใกล้ ๆ กัน คำถามสำหรับคนสิงคโปร์ส่วนใหญ่คือ : ใครจะเป็นนายกฯคนต่อไป? สิงคโปร์ที่ไม่มีคนจากตระกูลลีเป็นผู้ปกครองจะไปรอดไหม?

ปีนี้ นายกฯ หลี่เสียนหลง อายุ 63 ดำรงตำแหน่งนี้มา 10 ปีแล้ว และเคยประกาศว่าจะลงจากเก้าอี้ก่อนอายุ 70

แต่มะเร็งต่อมลูกหมากทำให้เกิดคำถามว่า เขาจะสละตำแหน่งนี้เร็วกว่ากำหนดแน่นอน

เดิมเขาบอกว่าคนที่จะมาเป็นนายกฯคนต่อไป อาจจะอยู่ในคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน แต่ก็อาจไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป เพราะในการเลือกตั้งใหญ่คราวหน้า เขาจะนำเอา ส.ส. และคนหน้าใหม่ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำเข้ามาในพรรค ดังนั้นจึงอาจจะหาผู้สืบอำนาจจากเขาจากระหว่างนี้ถึงการเลือกตั้งคราวหน้า

การเลือกตั้งครั้งใหญ่จะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2017 หรืออีกสองปีข้างหน้า แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีเจ็บป่วยถึงขั้นต้องผ่าตัดอย่างนี้ อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้จากนี้ไป

ผมสอบถามผู้วิเคราะห์ที่สิงคโปร์หลายคนแล้ว ตัวเต็งที่จะเป็นนายกฯคนต่อไปน่าจะเป็นหนึ่งใน 2 คนนี้

นายเฮงซวีเคี๊ยด (Heng Swee Keat) รัฐมนตรีศึกษา และ นายชานชุนซิง (Chan Chun Sing) รัฐมนตรีพัฒนาสังคมและครอบครัว ซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

รัฐมนตรีอีกสองคนที่น่าจะเข้าข่ายอาจจะเป็น ตัวเลือก” คือ ตันชวนจิน (Tan Chuan Jin) รัฐมนตรีกำลังคน และ ลอเรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) รัฐมนตรีวัฒนธรรม ชุมชนและเยาวชน

ทั้งสี่คนนี้ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมือง รุ่น 2011” เพราะมาจากกลุ่มผู้สมัคร ส.ส. ที่ชนะการเลือกตั้งในปีนั้น และดูจากความรวดเร็วของการได้เลื่อนตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีก็พอจะประเมินได้ว่า ถ้าจะต้องเลือกใครมารอรับช่วงจากนายกฯหลี่เสียนหลง ก็คงจะเป็นหนึ่งในสี่คนนี้

เขาเรียกผู้นำรุ่นใหม่นี้เป็น รุ่นที่ 4” ต่อจากลีกวนยู, โก๊ะจ๊กตง และหลี่เสียนหลง

  จะเป็นผู้นำรุ่นที่เจอกับการท้าทายหนักหน่วงกว่านายกฯสามคนแรกอย่างแน่นอน เพราะสถานการณ์ทั้งในบ้านและนอกบ้านล้วนเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีประสบการณ์ก่อนทั้งสิ้น

ยิ่งนายกฯสามคนแรกมีความรู้ความสามารถมากเพียงใด นายกฯคนที่สี่ก็ยิ่งจะต้องเจอศึกหนักมากเท่านั้น เพราะคนรุ่นใหม่ของสิงคโปร์ไม่ได้โตมาพร้อมกับความเป็นสังคมระเบียบจัดอย่างที่รุ่นปู่ย่าตายาย หรือคุณพ่อคุณแม่ที่ถูกลีกวนยู และโก๊ะจ๊กตงวางกรอบเอาไว้อย่างเคร่งครัด

บารมีของนายกฯคนปัจจุบันสั่งสมมาจากคุณพ่ออย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่จากนี้ไป คนที่จะเป็นนายกฯสิงคโปร์จะต้องปกครองด้วยความเข้าใจว่าความคาดหวังของประชาชนเปลี่ยนไป และวิธีการบริหารแบบ ตระกูลลี ไม่อาจจะนำมาใช้ในอนาคตได้อีก

ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ย่อมแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน และแม้ระดับความโศกเศร้าเมื่อ ลีกวนยู จากไปครั้งนี้ ก็ไม่เหมือนกันระหว่างคนรุ่นพ่อแม่

รุ่นลูก ๆ

มรดกทางการเมืองที่ลีกวนยูทิ้งเอาไว้สำหรับคนรุ่นต่อไป จึงเป็นประเด็นที่ต้องวิเคราะห์แยกแยะว่าอะไรที่ยังใช้ได้ อะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนและอะไรที่ต้องทิ้งไปเลย

ลีกวนยูเคยประกาศไว้ว่า

“แม้ผมจะนอนป่วยหนักเพียงใด หรือร่างผมกำลังจะถูกหย่อนลงในหลุมฝังศพ แต่ถ้ามีเรื่องเลวร้ายอะไรในประเทศของผม ผมก็จะลุกขึ้นมาแน่นอน...”

ในความเป็นจริงคงเกิดเรื่องอย่างนั้นไม่ได้ และอนาคตของสิงคโปร์ก็จะต้องอยู่ในมือของคนที่ไม่ใช่สมาชิกตระกูลลีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน