บริษัท ลูกค้าต้องการ จำกัด

บริษัท ลูกค้าต้องการ จำกัด

ความหวือหวาของธุรกิจไอทีในทุกวันนี้อาจไม่ร้อนแรงเหมือนเมื่อ 10-15 ปีที่แล้วที่เราจะเห็นการเติบโตในตัวเลข 2 หลักมาตลอด

ขณะที่ความผันผวนทางเศรษฐกิจในทุกวันนี้กดให้ตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมไอทีแทบจะทรงตัวอยู่กับที่มาหลายปีติดต่อกัน


ถึงจะเติบโตไม่มาก แต่ความมีสีสันของอุตสาหกรรมไฮเทคนี้ก็ยังคงกระตุ้นให้ตลาดตื่นตัวด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้ใช้อยู่เสมอ อุตสาหกรรมนี้จึงมีสิ่งใหม่ๆ ให้ได้เรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อยู่ตลอดเวลา


เพราะอุตสาหกรรมที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่เลย ย่อมจะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีความท้าทาย และเมื่อไม่ท้าทายก็หมายถึงเป็นจุดสูงสุดแล้ว เมื่อถึงจุดสูงสุดสิ่งที่ตามมาคือ ความตกต่ำ เว้นแต่จะสร้างความแปลกใหม่ขึ้นมาอีกได้ แต่ไอทีนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีจุดสิ้นสุด


นี่จึงกลายเป็นเสน่ห์ของอุตสาหกรรมไอที หลายคนจะกลัวความยาก แต่ผมเชื่อว่าความยากและความแปลกใหม่ไม่สิ้นสุดเป็นความท้าทาย เหมือนนักกีฬาวินด์เซิร์ฟ กีฬานี้จะสนุกได้ลมต้องแรงคลื่นต้องใหญ่ นักโต้คลื่นจึงจะมีโอกาสได้แสดงความสามารถ


ธุรกิจไอทีก็เช่นกัน กว่า 30 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทเกิดใหม่และล้มตายลงมากมาย หลายบริษัทเป็นยักษ์ใหญ่ แต่ถึงวันนี้ก็ล้มลง เกิดบริษัทใหม่มาแทนที่ เป็นวัฏจักรและเป็นความท้าทายที่ทำให้ธุรกิจไอทีต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ในธุรกิจอุปกรณ์ปลายทาง (Terminal Business) ผลิตภัณฑ์ไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ก่อนขายสินค้า 1 ชิ้น อาจจะมี Gross Profit ถึง 20% แต่ปัจจุบันน้อยลงมาก ขายสมาร์ทโฟน 1 เครื่อง Gross Profit 3-7% ก็เก่งแล้ว นั่นเพราะไอทีเป็นสินค้าที่มีความแตกต่างน้อย


ภายใต้ความแพร่หลายของอุปกรณ์ปลายทาง อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โครงข่าย 3จีที่เข้าถึงผู้บริโภค ทำให้เกิดความต้องการอย่างกว้างขวาง ธุรกิจจะฉกฉวยโอกาสนี้ได้อย่างไร จะส่งคุณค่าที่ดีไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างไร นั่นเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไอทียุคใหม่


ทางเลือกของธุรกิจไอทีในทุกวันนี้มีอยู่ 2 ทางเลือกหลัก โดยเส้นทางแรก จากระบบขายส่งสินค้าไอที ต้องมีช่องทางขายของเราเอง มีแฟรนไชส์ของตัวเอง มีหน้าร้านเอง ส่วนนี้เน้นไปยังผู้บริโภค ใครมีความสามารถเข้าถึงหัวใจของผู้บริโภคได้ คนนั้นจะเป็นผู้ชนะ


แต่สำคัญว่าการขายนั้น ไม่ใช่แค่ขายครั้งเดียวแล้วเลิกกัน เพราะเราต้องการให้ลูกค้าซื้อสินค้าเราอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดจนตายเป็น Long Life Time Customer


เส้นทางที่สอง System Integration ที่ต้องเข้าใจว่าการขายเพียงโซลูชั่นยังไม่พอ ต้องมีบิสิเนสอินเทลิเจนท์ ต้องมีคอนเทนท์ ต้องมีเครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหาร และต้องมีกลไก วิธีคิด หรือสูตร ที่ทำให้การตัดสินใจทางธุรกิจทำได้ดีขึ้น


นั่นคือ ต้องมีทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก เชิงกว้างคือการสร้างช่องทางต่างๆ เชิงลึกคือการคำนึงถึงซัพพลาย เชน


นี่เป็นส่วนหนึ่งของความคิดที่ผมบันทึกอยู่ในหนังสือ “คิดต่างอย่างแจ็ค” ซึ่งจะวางตามแผงหนังสือสัปดาห์นี้เป็นต้นไป เพื่อระดมทุนให้แก่มูลนิธิสร้างเสริมไทยช่วยเหลือเด็กในถิ่นทุรกันดาร