การขยายตัวของเศรษฐกิจ การส่งออกและค่าเงิน

การขยายตัวของเศรษฐกิจ การส่งออกและค่าเงิน

ใน 2 ครั้งที่ผ่านมาผมมีข้อสรุปดังนี้ 1. จีดีพีโลกเสี่ยงที่จะขยายตัวลดลงจากในอดีต 50 ปีที่ผ่านมาซึ่งขยายตัวประมาณ 3.5-4.0% ต่อปี

มาเหลือเพียง 2.0-3.0% ต่อปี เพราะโลกมีหนี้สินมากและประชากรในวัยทำงานเพิ่มขึ้นน้อยมาก แต่ภาครัฐต้องเก็บภาษีเพื่อดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากตามนโยบายรัฐสวัสดิการ


2. ผมอ้างอิงบทวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษาแมคคินซี่ซึ่งสรุปว่ายุคที่ผ่านมานั้นอาจเป็นยุคทองของเศรษฐกิจโลกที่จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกใน 50 ปีข้างหน้า แม้ว่าวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ จะยังเกิดขึ้นเช่นเดิม กล่าวคือผลิตภาพของโลกก็ยังจะช่วยทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวปีละ 1.8%


3. ในกรณีของไทยนั้นเศรษฐกิจขยายตัวเกือบ 7% ต่อปีโดยเฉลี่ยในครึ่งหลังของศตวรรษที่แล้ว ซึ่งผมมองว่าในช่วงดังกล่าวเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดจาก ไม่ถึง 20% ของจีดีพีเมื่อเกือบ 60 ปีก่อนหน้ามาเป็น 60% ต่อจีดีพีในขณะนี้ ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยก็ได้อาศัยการลดค่าเงินบาทหลายครั้งเพื่อกระตุ้นการส่งออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤติเช่นในปี 1984 และ 1997


4. คนยุคปัจจุบันซึ่งรวมถึงผมด้วยจะคุ้นเคยกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ทำได้โดยง่ายในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา แต่ผมเกรงว่าในอนาคตการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นสิ่งที่ขาดแคลนและแสวงหาได้ด้วยความยากเย็นจะมานึกว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเป็นธรรมชาติที่ 4-5% เป็นอย่างต่ำนั้น อาจไม่เกิดขึ้นอีกแล้วในอนาคต ทั้งนี้ โดยจะต้องดูจากความสามารถในการส่งออกเป็นหลัก แต่การส่งออกของไทยนั้นมูลค่าไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย มา 3 ปีแล้ว


สำหรับรายละเอียดของปัญหาต่างๆ ของภาคการส่งออกของไทยนั้น ธนาคารเกียรตินาคินได้จัดทำบทวิเคราะห์ที่ครบถ้วนออกมาแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งท่านผู้อ่านที่สนใจน่าจะหาอ่านได้โดยง่ายและยังมีข้อเขียนอื่นๆ อีกมากมายที่สรุปว่าการส่งออกของไทยประสบข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ทั้งนี้ ผมขอนำเอาข้อสรุปที่สำคัญของธนาคารเกียรตินาคินดังนี้


1. การส่งออกของไทย “ชนเพดาน” ไม่สามารถเพิ่มขึ้นถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน มานาน 3-4 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่ในอดีตการส่งออกของไทยขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 15% ต่อปี แต่ในช่วง 2008-2014 นั้นการส่งออกมิได้ขยายตัวเลย


2. การส่งออกนั้นเป็นการที่ไทยขายสินค้าแข่งในตลาดโลกกับอีกเกือบ 200 ประเทศ ปมจึงมองว่าเป็นตัววัดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดตัวหนึ่งและไทยกำลัง “สอบตก” ในเรื่องนี้ แต่เรายังไม่มีแผนหรือยุทธศาสตร์ใดเลยที่จะแก้ไขปัญหานี้ (การส่งออกปี 2013 ติดลบ 0.3% และปี 2014 ติดลบ 0.4%)


3. ความซบเซาของการส่งออกทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยหดตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศคู่แข่งอื่นๆ เช่น เกาหลี ไต้หวันและมาเลเซีย กลับขยายตัว ทำให้การส่งออกของไทย “ไล่ตาม” ประเทศดังกล่าวไม่ทันและยังถูกประเทศเวียดนาม “ไล่ตาม” ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ เช่น ในปี 2010 มูลค่าการส่งออกของไทยนั้นสูงกว่าเวียดนามถึง 3 เท่า แต่มาวันนี้สูงกว่าเวียดนามเพียง 1.5 เท่า


ปัจจุบันมีข้อถกเถียงกันว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควร “ดูแล” เงินบาทไม่ให้แข็งค่าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของการส่งออกมากน้อยเพียงใด ซึ่งธปท.มีแนวคิดดังนี้


๐ เงินบาทแข็งค่าขึ้นจริง (ประมาณ 5% ในปีที่แล้วและ 1% ในปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ไม่ใช่ดูแค่อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทกับดอลลาร์สหรัฐอย่างเดียว) แต่ธปท.มองว่าการฟื้นตัวของการส่งออกนั้นมิได้ถูกกำหนดโดยอัตราแลกเปลี่ยน แต่ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของตลาดโลกและคุณภาพของสินค้าไทยเป็นปัจจัยหลัก โดยอัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อการส่งออกไม่มากนัก


๐ นโยบายของธปท.ตั้งแต่ปี 2000 นั้นปล่อยให้กลไกตลาดกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแตกต่างกับแต่ก่อน ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนถูกกำหนดโดยนโยบาย แต่ได้ยกเลิกไปแล้วเพราะเป็นเหตุให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 และปัจจุบันนโยบายการเงินอาศัยกรอบเงินเฟ้อมิใช่อัตราแลกเปลี่ยน


๐ ในขณะเดียวกันธปท.ก็ยืนยันว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% นั้นเหมาะสมดีแล้วเพราะธนาคารพาณิชย์มีเงินเหลือปล่อยกู้ไม่ได้ และมาฝากที่ธปท.กินดอกเบี้ย 2% ต่อปีวันละ 7-8 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หากธปท.ลดดอกเบี้ยลงไปก็เหมือนพยายามเติมน้ำเพิ่มเข้าไปทั้งๆ ที่มีน้ำอยู่เหลือเฟือแล้ว แต่ “ม้า” (นักลงทุน) ไม่ยอมดื่ม ดังนั้น จึงควรพึ่งพาการลงทุนของภาครัฐให้เร่งฟื้นฟูความมั่นใจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นแกนนำการฟื้นตัวการลงทุนของภาคเอกชนจะมีประสิทธิผลมากกว่า


สิ่งที่ธปท.กล่าวนั้นถือว่าถูกต้องตามตำราทั้งหมด แต่ปัญหาคือธนาคารกลางของประเทศหลักกำลังดำเนินนโยบายนอกตำรา กล่าวคือธนาคารกลางสหรัฐอังกฤษ ยุโรปและญี่ปุ่นได้ลดดอกเบี้ยลงจนเหลือศูนย์และพิมพ์เงินออกมาทำให้สภาพคล่องล้นโลกอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเพราะรู้ว่าอุปสงค์ขาดแคลน ดังนั้น การฟื้นเศรษฐกิจตามตำรานั้นทำไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของยุโรปซึ่งในที่สุดธนาคารกลางหรืออีซีบีก็ต้องยอมจำนวนกับสถานการณ์และสัญญาว่าจะพิมพ์เงินออกมาเรื่อยๆ จนกว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นใกล้เป้า 2% ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็พิมพ์เงินจนกระทั่งงบดุลของธนาคารกลางใหญ่เกือบ 50% ของจีดีพีแล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ปรับนโยบายเพื่อรับมือกับสถานการณ์ เช่น การกำหนดดอกเบี้ยนโยบายเป็นลบของธนาคารกลางสวิสและธนาคารกลางเดนมาร์ก ตลอดจนการลดดอกเบี้ยนโยบายลงโดยตลาดไม่ได้คาดการณ์มาก่อน เช่น กรณีของธนาคารกลางสิงคโปร์ อินโดนีเซีย รัสเซีย อินเดีย ฯลฯ


ผมขอทิ้งท้ายโดยกล่าวถึงบทวิเคราะห์ของ Royal Bank of Scotland เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ซึ่งสรุปหลังจากเห็นตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ประกาศออกมาว่าเป็นปีที่ 3 แล้วที่จีดีพีไทยขยายตัวต่ำกว่า 5% ต่อปี ดังนั้น จึงสมควรที่จะลดดอกเบี้ยและทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง เพราะเงินบาทแข็งขึ้นมากที่สุดในเอเชียในปี 2014 (รองลงมาจากเงินหยวนของจีนและเงินเปโซของฟิลิปปินส์ ซึ่งจีดีพีขยายตัวสูงกว่าไทยมาก) และจบบทวิเคราะห์ว่า “This is a luxury the economy can ill-afford”