กนง. ลดดอกเบี้ย 25 สตางค์ พอหรือไม่สำหรับพยุงศก.

กนง. ลดดอกเบี้ย 25 สตางค์ พอหรือไม่สำหรับพยุงศก.

ข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 ซึ่งคณะกรรมการฯ

             มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปีโดยให้มีผลทันที  เป็นอีกข่าวที่ดึงความสนใจจากสังคมได้ระดับหนึ่ง และเป็นเหมือนเครื่องยืนยันว่า ภาวะเศรษฐกิจบ้านเรา ยังไม่มีอะไรเป็นสัญญาณบวก มากพอที่จะทำให้มีเสถียรภาพ ในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2 เอาไว้ได้ หลังจากก่อนหน้านี้ กนง.มีติ ให้คงอัตราดอกเบี้ย ที่ร้อยละ 2 ต่อเนื่องมาถึง 7 ครั้ง

            การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งนี้ เท่ากับเป็นการยอมรับแล้วว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ไปถึงไหน โดยคณะกรรมการฯ ให้เหตุผลว่าการตัดสินใจครั้งนี้เนื่องจาก ประเมินว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังอ่อนแรงกว่าที่ประเมินไว้ โดยแรงกระตุ้นจากภาคการคลัง ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง โดยกรรมการ 4 คน ที่ลงมติให้ลดดอกเบี้ย เห็นว่านโยบายการเงิน ควรผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจ และช่วยพยุงความเชื่อมั่นของภาคเอกชน

            หากมองย้อนกลับไปดูภาวะเศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 และเดือนมกราคม 2558 พบว่ายังคงฟื้นตัวค่อนข้างช้า โดยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน "น้อยกว่าคาด" ส่วนหนึ่งเนื่องจากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนลดลง เศรษฐกิจในระยะต่อไปยังมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน เป็นเหตุผลให้ต้องเร่งกระตุ้นการลงทุน และเป็นที่มาของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาเหลือ 1.75% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ ยกเว้นสิงคโปร์

            หลายคนคงมีคำถามตามมา ลดดอกเบี้ยลงมากขนาดนี้ จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน ซึ่งแน่นอนคำตอบยังไม่มีชัดเจน แต่หากเก็บประเด็นแบบรวบรัด ที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆ ในวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา จะพบว่า มองไปในทิศทางเดียวกัน คือ ลดดอกเบี้ยช่วยฉุดค่าเงินบาทอ่อน, ลดดอกเบี้ยช่วยพยุงเศรษฐกิจ, ลดดอกเบี้ยเดิมพันรัฐพยุงศก. หวังดันจีดีพี 4%, ลดดอกเบี้ยช่วยบาทอ่อนค่า พยุงความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ 

            ขณะที่โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า หลังจาก กนง. ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.75 ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของเงินบาท มีทิศทางอ่อนค่าลง จากระดับ 32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ลงมาอ่อนค่าต่ำสุดที่ระดับ 32.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายยังมีผลให้อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ปรับลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี จากร้อยละ 2.74 ณ วันที่ 11 มีนาคม 2558 ที่มีการประกาศดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยนี้เคยต่ำสุดที่ร้อยละ 2.49  ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการลงทุนของภาคเอกชน เพราะต้นทุนดอกเบี้ยต่ำสุดในระดับภูมิภาค ส่วนสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย ยังอยู่ในระดับปกติ หลังจากนี้คาดว่าตลาดการเงินส่วนใหญ่ จะรอดูทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐวันที่ 18 มีนาคมนี้

            มารอดูกันว่า ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจ จะตอบรับกับดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงในครั้งนี้แค่ไหน และพอหรือไม่สำหรับพยุงเศรษฐกิจ