อีซีบีเดิมพันยุโรปต้องฟื้น QEลุยซื้อบอนด์ 9 มีนาคม

อีซีบีเดิมพันยุโรปต้องฟื้น QEลุยซื้อบอนด์ 9 มีนาคม

ดัชนีเงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพุ่งขึ้นที่ระดับ 110

 ในขณะที่ดัชนีเงินดอลลาร์ก็อยู่ในจุดที่แข็งค่าเช่นกันยืนอยู่ในระดับ 95.44 จึงเป็นคำถามที่ย้อนกลับมาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นสถาบันที่ดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนในเงินบาทว่า มีค่าที่แข็งเกินพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริงหรือไม่ในช่วงที่จีดีพีชะลอตัวหนัก เงินเฟ้อที่ติดลบ ขณะที่การส่งออกในเดือนมกราคมติดลบถึง 3.7% ด้านม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจออกพูดว่าไม่อยากให้เงินบาทในปัจจุบันแข็งค่ามากเกินไป หวังแบงก์ชาติติดตามดูแลใกล้ชิดและดำเนินการอย่างเหมาะสม เชื่ออีซีบีเริ่มอัดฉีดเงิน QE จะส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าช่วยหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้น

ทางด้านเงินยูโรอ่อนค่าสุดในรอบ 11 ปีเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ หลังธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบีประกาศจะเริ่มต้นโครงการเข้าซื้อพันธบัตรจำนวน 1.1 ล้านล้านยูโร ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือคิวอี ในต้นสัปดาห์หน้า ทั้งนี้เงินยูโรอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 1.0988 ดอลลาร์ ถือเป็นการร่วงลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.100 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนก.ย.2556 ก่อนขยับขึ้นเคลื่อนไหวล่าสุดที่ 1.1024 ดอลลาร์ต่อยูโร โดยที่การอ่อนค่าของเงินยูโรอย่างรุนแรงเมื่อนายมาริโอ ดรากี้ ประธานอีซีบี แถลงว่าอีซีบีจะเริ่มต้นการเข้าซื้อพันธบัตรที่อยู่ในสกุลเงินยูโรทุกประเทศในตลาดรองเดือนละ 60,000 ล้านยูโร ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 มี.ค.เป็นต้นไป

 

ประธานอีซีบีพร้อมกับวางเดิมพันที่จะยุติวิกฤติยูโรโซน ตั้งเป้าคาดการณ์เศรษฐกิจในพื้นที่ยูโรโซนขึ้นมาอยู่ที่ 1.5% ในปีนี้ ก่อนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.9%ปี 2016 และ 2.1%ปี 2560 หวังให้หลุดจากภาวะเงินฝืดและกระตุ้นเงินเฟ้อที่อัตรา 1.5% ปี 2559 และอัตรา 1.8% ปี 2560 “เพราะเราใช้เงินก้อนใหญ่มาก ดังนั้นจึงต้องยุติวิกฤตการณ์ของยูโรโซนให้ได้ เวลานี้เรากำลังหมุนทิศกลับไปฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้เป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%” โดยอีซีบีจะเงิน 60,000 ล้านยูโรในทุกๆเดือนเพื่อบอนด์ของรัฐบาลแม้แต่บอนด์ที่มีผลตอบแทนติดลบ รวมทั้งตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินยูโรให้อยู่ในระดับต่ำใกล้ 0.05% ต่อไป เพื่อให้บางประเทศที่ยังประสบปัญหา สามารถกู้เงินในตลาดที่มีดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 1.3%ต่อปีทั้งในกรณีของสเปนหรือโปรตุเกส

ท่ามกลางความกลัวว่าโลกจะถูกภาวะเงินฝืดเข้าครอบงำ เนื่องจากเศรษฐกิจของยุโรปยังไม่ฟื้นตัวจนส่งผลเสียหายกับทิศทางเศรษฐกิจโลกให้ทรุดตัวลงของแต่ละภูมิภาค โดยที่ 3 ธนาคารกลางสำคัญในเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยาย เพื่อให้ส่งผลถึงค่าเงินที่อ่อนตัวลงด้วย โดยที่ธนาคารกลางจีนล่าสุด ที่มีการประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 5.35% พร้อมกับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อีก 0.25% มาอยู่ที่ 2.5% นับเป็นการลดดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้งในรอบ 3 เดือน ส่วนธนาคารกลางออสเตรเลียปรับลดดอกเบี้ยอ้างอิง 0.25% เหลือ 2.25% ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของออสเตรเลียครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 18เดือน โดยที่ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียก็ดิ่งลงต่ำสุดรอบ 6 ปีที่ 0.7650 ต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางอีกหลายแห่ง ที่ทยอยลดดอกเบี้ยนโยบายบ้างแล้ว เช่น แคนาดา สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะธนาคารกลางอินเดียที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดเงินโลก เพราะก่อนหน้านี้อินเดียได้ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดหลายปีต่อเนื่อง แต่ธนาคารกลางอินเดียกลับลดดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้งในช่วง 2 เดือนมานี้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.25% มาอยู่ที่ 7.75% และเมื่อไม่กี่วันมานี้ มีการลดดอกเบี้ยสู่ 7.5% เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและสกัดภาวะเงินฝืด ดังนั้นราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงทั่วโลก ช่วยควบคุมเงินเฟ้อในระดับต่ำ ก็จะยังจะมีการลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยต้องจับตาคณะกรรมการนโยบายการเงินของธปท. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่า 2% ในวันที่ 11 มี.ค.หรือไม่