โลกจะเป็นอย่างไรหากเราอยู่ได้เกิน 140 ปี

โลกจะเป็นอย่างไรหากเราอยู่ได้เกิน 140 ปี

นิตยสารไทม์ฉบับประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม ที่ผ่านมาเสนอบทความหลายเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของมนุษย์เรา

ประเด็นใหญ่ที่นิตยสารใช้ขึ้นปกหน้าได้แก่ข้อความที่ว่า ทารกเกิดในช่วงนี้อาจอยู่ได้นานถึง 142 ปี นั่นเป็นราวสองเท่าของอายุของชาวโลกในปัจจุบัน โลกจะเป็นอย่างไรหากโดยทั่วไปมนุษย์เราอยู่ได้นานขนาดนั้น นิตยสารมิได้พูดถึง แต่ประวัติศาสตร์บ่งว่ามันมิน่าจะดีทั้งหมด


คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อการมีชีวิตยืนยาวของเราพร้อมทั้งมีบทบาทในด้านการประหยัดทรัพยากร เทคโนโลยีใหม่ได้ส่งผลให้จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดมาแล้ว 2 ครั้งคือ ย้อนไปราว 9 พันปีเมื่อมนุษย์เราค้นพบเทคโนโลยีใหม่ที่นำไปสู่การเกิดยุคเกษตรกรรมและย้อนไปราว 300 ปีเมื่อการค้นพบเทคโนโลยีใหม่นำไปสู่การเกิดยุคอุตสาหกรรม เทคโนโลยีและการมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดนั้นมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย


เทคโนโลยีที่นำไปสู่ยุคเกษตรกรรมเกิดขึ้นในย่าน “เสี้ยวจันทร์อันอุดม” (Fertile Crescent) หรือพื้นที่ในตะวันออกกลางที่มีศูนย์อยู่ในอิรักซึ่งมักเรียกกันว่า “ย่านกลางสองสายน้ำ” (Mesopotamia) ได้แก่ แม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส เทคโนโลยีใหม่ในยุคนั้นได้แก่ การรู้จักปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ซึ่งเอื้อให้มนุษย์ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนถาวรขึ้นได้โดยไม่ต้องเร่ร่อนไปตามฤดูกาลเพื่อแสวงหาของป่าและล่าสัตว์ การผลิตอาหารได้มากจากเกษตรกรรม และการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนถาวรขึ้นเช่นนั้นนำไปสู่การมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายส่งผลให้จำนวนประชากรขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ประชาชนที่เพิ่มขึ้นก็มีเวลาค้นคว้าหาความรู้ในด้านต่างๆ ได้มากขึ้น ความรู้นำไปสู่การเกิดเทคโนโลยีใหม่


จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและเทคโนโลยีใหม่นำไปสู่การใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นมากกว่าการประหยัดทรัพยากร จริงอยู่โดยทั่วไปอาจมองได้ว่าเป็นความก้าวหน้าที่ทำให้เกิดอารยธรรม หรือความรุ่งเรือง แต่เมื่อกระบวนการนั้นผ่านไปนับพันปี ผลร้ายก็มีตามมา ผลร้ายอาจแยกได้เป็น 2 อย่างด้วยกัน นั่นคือ การทำลายสิ่งแวดล้อมจนขาดความสมดุลอย่างร้ายแรงส่งผลให้เสี้ยวจันทร์อันอุดมไม่อุดมสมบูรณ์อีกต่อไป และการแย่งชิงทรัพยากรที่ร่อยหรอลงจนถึงขั้นการทำสงครามระหว่างกลุ่มชน ผลสุดท้ายสังคมก็ล่มสลาย หลักฐานของผลร้ายเหล่านั้นยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในรูปของทะเลทรายอันกว้างใหญ่ ซากปรักหักพังของสิ่งปลูกสร้างสารพัดและการรบราฆ่าฟันกันระหว่างกลุ่มชนด้วยอาวุธร้ายแรงที่เทคโนโลยีใหม่เอื้อให้เกิดขึ้น


เทคโนโลยีใหม่ที่นำไปสู่ยุคอุตสาหกรรมเกิดในสังคมตะวันตกเป็นส่วนใหญ่แล้วจึงแพร่ขยายออกไปยังส่วนอื่นของโลก เทคโนโลยีนั้นทำให้การติดต่อสื่อสารและการเชื่อมต่อกันของทุกภาคส่วนของโลกเป็นไปได้แบบแทบไร้พรมแดน โลกทั้งใบจึงมีสภาพคล้ายเป็นย่านเสี้ยวจันทร์อันอุดมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหลายเท่า การค้นพบยาและความก้าวหน้าทางด้านการรักษาพยาบาลส่งผลให้มนุษย์เราอยู่ได้นานขึ้นถึงราว 2 เท่าของยุคก่อน จำนวนประชากรจึงเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด การเพิ่มขึ้นนั้นนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ไม่สามารถประหยัดการใช้ทรัพยากรได้ในอัตราใกล้เคียงกับอัตราของความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ผลที่ปรากฏให้เห็นจึงเป็นการขาดสมดุลอย่างร้ายแรงและการแย่งชิงกันทั่วโลกคล้ายกับในย่านตะวันออกกลางเมื่อครั้งเริ่มเป็นเสี้ยวจันทร์อันไม่อุดม อาการที่แสดงออกมามีหลายอย่างรวมทั้งภาวะโลกร้อน สารพิษร้ายในกระแสน้ำ มลพิษในอากาศ การพังทลายและการกลายเป็นทะเลทรายของพื้นดินในหลายส่วนของโลก สงครามและความล่มสลายของสังคม


ณ วันนี้ โลกมีประชากรเกิน 7 พันล้านคนแล้ว ผู้เชี่ยวชาญคาดกันว่า ประชากรจะเพิ่มขึ้นจนถึงราว 1 หมื่นล้านคนจึงจะหยุด อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์นั้นมิได้นำปัจจัยสำคัญเช่นการมีอายุยืนยาวถึงสองเท่ามาพิจารณาด้วย นอกจากนั้น ยังมิได้พิจารณาเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อาจทำให้คนเราถอดแบบตัวเอง (cloning) ได้เช่นเดียวกับที่เราทำในสัตว์มาแล้ว ปัจจัยเหล่านี้จะมีผลทำให้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอีกครั้งค่อนข้างแน่นอน หากใช้ประวัติศาสตร์เป็นฐานของการพิจารณา เราอาจสรุปได้ว่า เทคโนโลยีที่มนุษย์เราจะคิดค้นได้ใหม่จะไม่สามารถประหยัดทรัพยากรได้ในอัตราใกล้เคียงกับอัตราการใช้เพิ่มของประชากร นั่นหมายความว่าทรัพยากรบางอย่างจะร่อยหรอลงอีก สภาพนั้นจะนำไปสู่ความไม่สมดุลร้ายแรงและการแย่งชิงกันอย่างเข้มข้น ผลที่ตามมาไม่น่าจะต่างกับเหตุการณ์ในย่านตะวันออกกลางหลังเกิดยุคเกษตรกรรมซึ่งยังยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน


ที่พูดถึงนั้นเป็นการมองภาพรวมของโลก เราอาจลองจินตนาการดูว่า ถ้าเราอยู่ได้ถึง 140 ปีและโลกมีประชากรเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอีกครั้งจนถึง 2 หมื่นล้านคน เราแต่ละคนจะเป็นอย่างไร เราคงจะเป็นผู้สูงวัยอยู่ราว 75 ปี จะอยู่ในสถานที่ซึ่งมีความแออัดสูงมากท่ามกลางการแย่งชิงกันจนจรรยาบรรณและศีลธรรมถูกทำลาย หรือเราจะมีเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้สภาพแวดล้อมร่มรื่นขึ้นสูงมากพร้อมกับการพัฒนาทางด้านจิตใจจนส่งผลให้โลกใบนี้มีสภาพเป็นยุคพระศรีอารย์ ? ใครจะคิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมคิดว่าผมโชคดีที่จะไม่มีโอกาสอยู่เพื่อดูว่าโลกจะเป็นอย่างไรในตอนนั้น