ไทยเข้าสู่รัฐสวัสดิการ พึงต้องศึกษาบทเรียน

ไทยเข้าสู่รัฐสวัสดิการ พึงต้องศึกษาบทเรียน

รัฐบาลเตรียมตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) เพื่อเป็นหลักประกันหรือสวัสดิการทางสังคม

ให้กับคนไทยราว 30 ล้านคน ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบประกันเหมือนข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจหรือผู้ทำงานในภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ หรืออาจกล่าวได้ว่าหากเข้าเป็นสมาชิกกอช.ตามเป้าหมาย คนไทยเกือบทุกคนจะมีระบบประกันตน และจะทำให้สังคมไทยเดินหน้าเข้าสู่รัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ หรืออย่างน้อยก็ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐสวัสดิการ

กอช.ถือเป็นระบบประกันให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นส่วนมากเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีความเสี่ยงกับการดำรงชีวิตอย่างมาก ในกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดสถานการณ์ไม่ปกติกับชีวิต ซึ่งจะทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น ดังนั้นการจัดตั้งระบบประกันดังกล่าว จึงเป็นหลักประกันที่รัฐจัดหาให้ เช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นที่เข้าระบบประกันไปก่อนหน้านั้นแล้ว เช่น กลุ่มแรงงานที่มีประกันสังคม กลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

เป้าหมายของกอช.คือแรงงานนอกระบบประมาณ 39 คนล้านคน ให้เข้ามาเป็นสมาชิกกอช. แม้ในปีแรกประเมินว่าจะมีแรงงานนอกระบบประมาณ 3 ล้านคนเข้าเป็นสมาชิก โดยภาครัฐจะต้องจ่ายเงินสมทบกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมค่าบริหารซึ่งอาจต้องตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะอีกประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี แต่หากแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เข้ามาสู่กอช.แล้ว ภาครัฐจะต้องจ่ายเงินให้กับกองทุนเพิ่มขึ้นกว่าปีละ 2 หมื่นล้านบาท

การจัดตั้งกอช.ในครั้งนี้ถือว่าเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นปัจจัยพื้นที่จากภาครัฐในการดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้เป็นผู้ที่อยู่นอกระบบเกือบทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นที่ที่ควรจะได้รับ หากสามารถดำเนินการได้ดี เราเชื่อว่าจะสามารถขยายการดูแลให้ครอบคลุมมากขึ้นไปอีก จนทำให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้มีหลักประกันที่ดีในการรับความเสี่ยงในสังคมยุคใหม่

แต่รัฐบาลหรือหน่วยงานจะต้องตระหนักถึงภายหลังจากการจัดตั้งกองทุนแล้ว นั่นภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าตามประเมินขั้นต่ำของรัฐบาลในช่วงที่มีการอนุมติงบประมาณนั้นจะประเมินไว้ว่าอย่างมากจะใช้งบประมาณปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเวลาผ่านไป งบประมาณดังกล่าวก็อาจมีการปรับเพิ่มขึ้นตามความจำป็น อาทิ กาจมีการปรับเพิ่มเงินสมทบตามการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ หรืออาจมีหลักประกันหรือการคุ้มครองใหม่ๆเกิดขึ้นในอนาคต

ภาครัฐต้องตระหนักถึงปัญหาเรื่องบประมาณที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งขณะนี้เราเห็นตัวอย่างจากหลายประเทศในยุโรปที่มีการจัดงบประเมินเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนของตัวเอง จนมีชื่อเสียงว่าเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ แต่ปรากฏว่าปัญหาได้สั่งสมมานาน ในที่สุดจนกลายเป็นวิกฤติในปัจจุบัน ซึ่งบางประเทศยังไม่สามารถฟันฝ่าวิกฤติด้านการคลังที่เกิดขึ้นได้ ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ภาครัฐของไทยพึงระมัดระวังอย่างยิ่ง

แน่นอนว่าเราสนับสนุนกับการสร้างสวัสดิการให้กับประชาชนทั้งประเทศ แต่เราก็ต้องระวังปัญหาที่จะตามมาในอนาคตด้วย อย่างน้อยขณะนี้เรามีตัวอย่างให้เห็นจากหลายประเทศที่ให้สวัสดิการกับประชาชนอย่างดี แต่ในที่สุดแล้วก็เผชิญปัญหาในระยะยาว ซึ่งจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เราหวังว่าหน่วยงานด้านการวางแผนของภาครัฐจะตระหนัก และเตรียมมาตรการไว้รองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะนโยบายจะดีอย่างไร ก็ย่อมมีผลกระทบอีกด้านเสมอ