มนุษย์หน้าจอ

มนุษย์หน้าจอ

ไม่ว่าท่านจะทำกิจกรรมอะไร อย่างน้อยรอบตัวท่านจะมีสักหนึ่งคนที่มีพฤติกรรมของการบริโภคใช้สื่อออนไลน์ สื่อใหม่อยู่ตลอดเวลา

วางมือถือ แฟบเล็ต แท็บเล็ตไม่ห่างกาย เสมือนส่วนต่อขยายของร่างกายที่ทำหน้าที่พาผู้ใช้ดำดิ่งสู่ห้วงมหาสมุทรของข้อมูลบิตไบต์ที่ถูกสร้างขึ้นอยู่ตลอดเวลาผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม ไวไฟ คลื่นโทรศัพท์ 3G และ 4G การใช้เทคโนโลยี การขี่บนยอดคลื่นเทคโนโลยีที่ต้องตามให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีในบทบาทการเปลี่ยนแปลงสังคม ปัจเจกบุคคลในการใช้ชีวิต เหล่านี้คือความเป็นมนุษย์หน้าจอในยุคสมัยนี้


1) “พร้อมๆ กัน นั่นแหละตัวเรา” มนุษย์หน้าจอเป็นบุคคลที่ชอบทำภารกิจหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน ในลักษณะ “Multitasking Multiscreen” ไม่ใช่ความแปลกในสังคมข้อมูลข่าวสาร ที่ผู้ใช้จะใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย เข้าสู่แหล่งข้อมูลพร้อมๆ กัน เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์เดียวกัน หรือหลายวัตถุประสงค์ในเวลาเดียวกัน อาทิ ขณะดูละคร มือสไลด์แท็บเล็ตหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตไปด้วยขณะใช้คอมพิวเตอร์พกพาค้นหาข้อมูลก็ใช้โทรศัพท์มือถือในการแชทไลน์กับเพื่อน


2) “ถนัดเป็น Creator แล้ว Curator ล่ะ” การเป็นผู้สร้างเนื้อหา (Content Creator) ผลิตถ้อยคำ การโพสต์ภาพสวยๆ สถานที่เที่ยว ร้านอาหาร บรรยากาศดีๆ คู่ขนานกับการเช็คอินสถานที่ ให้เพื่อนฝูงอิจฉา สร้างการมีส่วนร่วม ประกาศตัวตนบนโลกออนไลน์เป็นกิจกรรมสามัญที่พบเจอ ความเป็นดิจิทัล ข้อมูลมีมากมายมหาศาล แต่ไม่มากนักที่จะมีผู้เข้าใจและสนใจที่จะทำหน้าที่ในการเป็นภัณฑารักษ์ดิจิทัล (Digital Curator) รวบรวมเนื้อหาที่มีความสนใจ จัดหมวดหมู่ นำเสนอในช่องทางของตน แม้โลกของหนังสือจะสูญเสียความสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่จุดจบของการเปลี่ยนแปลง เป็นเพียงมรดกกูเต็นเบิร์กเวอร์ชั่นอัพเกรด (e-Books, e-Documents) ภัณฑารักษ์ดิจิทัล (Digital Curator) ปรากฏในกลุ่มคนที่เป็นผู้นำ นักคิด นักเขียน นักวิชาการ ผู้สนใจ เสี้ยวหนึ่งในสังคมออนไลน์ ทั้งที่กิจกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถจะกระทำได้ ขณะที่ภัณฑารักษ์ดิจิทัลนำเสนอเนื้อหาประเภทสาระออกไปบางครั้งกลับกลายได้รับความสนใจที่ค่อนข้างน้อย หรือเฉพาะกลุ่มอย่างน่าใจหาย หากเทียบกับการมีส่วนร่วม ความชื่นชอบ ชื่นชม ผ่านยอดไลค์ ยอดวิว ยอดแชร์ ของคอนเทนต์ประเภทภาพหวาดเสียว ภาพหลุด ภาพซุบซิบ ภาพฮาๆ ข้อความโพสต์ด่า ตำหนิ จับผิดกันบนสังคมออนไลน์


3) “ปฏิสัมพันธ์และรู้เท่าทันสื่อ (Interactive and Media Literacy)” ตัวเลขสถิติอุปกรณ์สื่อสารที่เติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างสมาร์ทโฟน แซงหน้าอุปกรณ์เชื่อมต่อประเภทอื่นๆ ขณะที่คอมพิวเตอร์พกพาลดจำนวนลง การเข้าใจปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ ผู้ใช้ในสถานะผู้อ่าน ผู้เล่น ผู้สร้าง ผู้แก้ไข ความซับซ้อนเชิงประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น กราฟิก ผนวกรวมกับภาพและเสียง การศึกษา ทำความเข้าใจ ทักษะการใช้เชิงเทคนิคก็สำคัญประการหนึ่ง แต่สำคัญกว่านั้นคือการรู้เท่าทันสื่อเข้าใจธรรมชาติของสื่อ เนื้อหา ในฐานะหน้าที่นายทวารข่าวสารให้ตนเอง คัดกรองเนื้อหาให้ตน หรือก่อนแบ่งปันให้คนอื่น ระลึกเสมอ ปลายนิ้วสัมผัสปล่อยปุ่มจากเมาส์ คุณคือผู้สร้าง ผู้แบ่งปัน กิจกรรม เนื้อหาออนไลน์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา


4) “เครือข่ายออนไลน์มาแทนที่สังคมครอบครัวแบบเดิม” บางครั้งบางคนใช้เวลาในการมีปฏิสัมพันธ์ออนไลน์กับเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน เพื่อนใหม่ที่รู้จักผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ปฏิสัมพันธ์ได้ทั้งวันผ่านการแชท เวลาทำงาน เวลาพักทานข้าว จนทำให้ระยะห่างความสัมพันธ์ในสถาบันครอบครัวลดลง แต่ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่พยายามที่จะปรับการใช้ชีวิต ให้คนในครอบครัว เข้าสู่โหมดออนไลน์เหมือนกัน การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดช่องว่างการสื่อสาร


5) “มาตรฐานความสวยหล่อดูดีที่เป็นไปไม่ได้แต่ดิจิทัลให้คุณได้” บนโลกดิจิทัล ผ่านอินเตอร์เฟซของแอพพลิเคชั่น ทุกคนสามารถเป็นคนสวย คนหล่อ ในมาตรฐาน ค่านิยม รสนิยมที่อยากจะให้เป็นด้วยตัวเลขบิตไบต์ ความพยายามสร้างตัวตน อัตลักษณ์ในแบบที่ตนเองอยากจะให้เป็น มากกว่าความเป็นจริง มองเผินอาจจะเป็นการตอบสนองความต้องการแรงปรารถนาแห่งตน ก็มีจำนวนไม่น้อยก่อร่างสร้างปัญหา เมื่อประสานความสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริง อาจปรากฏดังข่าว หรือประสบการณ์ตรงที่ประสบพบเจอ


6) “เชื่อมต่อทุกที่ ทุกเวลา” น้ำไม่ไหล แอร์เสียคงเป็นปัญหาเล็ก หากเทียบกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ล่ม ไม่ต่างจากวาระแห่งชาติที่ทุกคนจะเกิดอาการพร้อมๆ กัน ความพยายามที่จะดิ้นรน เสาะแสวงหาข่าวสาร ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เครือข่ายออนไลน์ประเภทหนึ่งล่ม ก็ต้องพยายามเสาะแสวงหาผ่านสังคมออนไลน์อื่นที่สามารถใช้งานได้ นี่แหละความเป็นเผ่าพันธุ์ดิจิทัล


7) “นักท่องเที่ยวเชิงเนื้อหา (Content Tourism)” การท่องเที่ยวในโลกความเป็นจริงคือกิจกรรม แต่ในโลกออนไลน์ต่างโดยสิ้นเชิง การท่องไปในเว็บไซต์ บล็อก เครือข่ายสังคมออนไลน์ ผ่านพื้นที่ระนาบ 2 มิติ หน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือจะเป็นมือถือ ข้อมูลจากบุคคลหลากหน้าหลายตาที่ร่วมกันแบ่งปันข้อมูลหลายด้าน ข่าวสาร การเดินทาง ประสบการณ์ วัฒนธรรม ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการแบ่งปันประสบการณ์ หรือเจตนาทางด้านธุรกิจสุดแท้แต่ เป็นการหมุนเวียนสลับเปลี่ยนเชื่อมโยงในการทำหน้าที่ของโลกที่แบนราบ (หน้าจอ) และโลกความจริงที่ดำเนินอยู่ทุกชั่วขณะ


ไม่น้อยกว่า 3 ทศวรรษที่เทคโนโลยีก่อเกิดกำเนิดการเป็นมนุษย์หน้าจอยุคสื่ออิเล็กทรอนิกส์สู่ยุคสื่อใหม่ จอคอมพิวเตอร์ ไปสู่จออุปกรณ์พกพา สมาร์ทดีไวซ์ ทั้งแฟบเล็ต แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน จอขาวดำเป็นจอสี จอตู้เป็นจอแบน ความละเอียดต่ำไปสู่ความละเอียดสูง สูงพิเศษ วิถีชีวิตประจำวันมนุษย์หน้าจอที่เทคโนโลยีสร้างกรอบ การคิด การใช้ชีวิตความเป็นปัจเจกบุคคล การลื่นไหลจับทันกระแสเทคโนโลยีก็ประการหนึ่ง แต่กระนั้นทุกวันของการใช้ชีวิตมนุษย์หน้าจอ เราใช้มันให้เกิดคุณค่ากับตัวเราเองมากน้อยเพียงใด มีประสิทธิภาพเพียงไหน … ไม่มีใครให้คำตอบได้ดีกว่าตัวผู้ใช้