แนวทางเตรียมความพร้อมของสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์และพยาบาล

แนวทางเตรียมความพร้อมของสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์และพยาบาล

คุณสมบัติที่ควรได้รับการพัฒนาคือความเป็นนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น การเข้าใจภาษาที่สามและวัฒนธรรมของชาติต่างๆ

แนวทางการผลิตและหลักสูตรการศึกษาในปัจจุบันค่อนข้างจะตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศเป็นหลักส่งผลให้นิสิตนักศึกษาแพทย์และพยาบาลมีมุมมองต่อ AEC ที่ตรงกันกล่าวคือไม่มีความรู้และไม่ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ AEC มาถึงเท่าใดนัก นอกจากนี้นิสิตนักศึกษาแพทย์และพยาบาลยังมีมุมมองว่าการทำงานในประเทศไทยดีกว่าการไปทำงานยังประเทศอาเซียนอื่นๆ เนื่องจากต้องการทำงานใกล้ครอบครัว และพอใจต่อคุณภาพชีวิตในประเทศไทย โดยสรุปแล้ว การเปิดเสรีภาคการค้าบริการ AEC ในปี พ.ศ.2558 อาจนำมาซึ่งคนไข้ต่างชาติที่มากขึ้น ส่งผลให้ผู้จ้างทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนมีความต้องการคุณสมบัติในเรื่องความเป็นนานาชาติ และความละเอียดอ่อนในการรักษาคนไข้ที่เพิ่มขึ้น แต่สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่อาจมีความเห็นต่างออกไปจากผู้จ้างในเรื่องการปรับปรุงคุณสมบัติแรงงาน ทำให้ยังไม่ได้มีการปรับปรุงส่วนต่างๆ ของหลักสูตรมากนัก และมีส่วนส่งผลให้นักศึกษาไม่ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงจาก AEC เท่าใด


การวางแนวทางการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบบริการสุขภาพไทยและต่อการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น แนวทางทางการเตรียมความพร้อมของสถาบันการศึกษาและหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการแพทย์และพยาบาลของไทยจึงมีความจำเป็นในการศึกษาถึงความสอดคล้องกันระหว่างคุณสมบัติของแรงงานที่ระบบบริการสุขภาพไทยต้องการหลังจากการเปิดเสรีภาคการค้าบริการ AEC ในปี พ.ศ.2558 กับความพร้อมของทั้งทางสถาบันการศึกษาและนิสิตนักศึกษาผู้ที่กำลังจะก้าวไปเป็นแรงงานในตลาดบริการสุขภาพในอนาคต


โดยเป็นการศึกษาในมุมมองของ 3 ฝ่ายกล่าวคือ หนึ่ง มุมของผู้จ้างงานในระบบบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของแรงงานที่ต้องการในอนาคตหลังจากการเปิดเสรีภาคการค้าบริการ AEC รวมถึงวิธีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณสมบัติของแรงงานที่ต้องการ สอง ศึกษามุมมองของผู้ผลิตหรือสถาบันการศึกษาต่อการเตรียมความพร้อมหลังจากการเปิดเสรีภาคการค้าบริการ AEC สาม ศึกษาทัศนคติของนิสิตนักศึกษาแพทย์และพยาบาลวิชาชีพที่มีต่อระบบบริการสุขภาพในอนาคตหลังจากการเปิดเสรีภาคการค้าบริการ AEC


โดยสรุปจากการศึกษาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่ายแล้วพบว่า ผู้บริหารในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีฐานะเป็นผู้จ้างแรงงานสำหรับให้บริการในตลาดบริการสุขภาพ เล็งเห็นตรงกันว่าแพทย์และพยาบาลวิชาชีพจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อให้บริการคนไข้ต่างชาติที่จะมีมากขึ้น ดังนั้น คุณสมบัติที่แรงงานเหล่านี้สมควรได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นคือความเป็นนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น รวมไปถึงการเข้าใจภาษาที่สามและวัฒนธรรมของชาติต่างๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นความสำคัญถึงการฝึกหัดให้แรงงานดูแลรักษาคนไข้ด้วยความใส่ใจมากขึ้น และความมีจรรยาบรรณในวิชาชีพแพทย์และพยาบาลซึ่งควรจะคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นหลัก แต่สำหรับผู้บริหารจากภาคเอกชนอยากให้นักศึกษาแพทย์มีความรู้และการเข้าใจมาตรฐานชนิดต่างๆ ของโรงพยาบาลมากขึ้น


หากใช้ความต้องการของผู้จ้างเป็นพื้นฐานในการบ่งบอกถึงการปรับปรุงหลักสูตรที่สถาบันการศึกษาควรกระทำแล้วนั้น จะพบว่าทั้งโรงเรียนแพทย์และโรงเรียนพยาบาลมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของความเป็นนานาชาติให้แก่นิสิตนักศึกษาของตนค่อนข้างน้อย ในส่วนของแพทย์นั้นคณะแพทยศาสตร์บางสถาบันได้มีการสร้างรายวิชาใหม่ๆ ที่เปิดกว้างมากขึ้น และมีโครงการแลกเปลี่ยนที่ส่งนิสิตนักศึกษาไปหาประสบการณ์ในวิชาชีพที่ต่างประเทศ แต่ก็ยังมีลักษณะที่เป็นการเปิดโอกาสให้เท่านั้น นิสิตนักศึกษาที่ต้องการไปจำเป็นต้องขวนขวายเองและแบกภาระของค่าใช้จ่ายเองเป็นส่วนใหญ่


นอกจากการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษายังมีการกล่าวถึงการสนับสนุนกิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างจริยธรรมแก่นิสิตนักศึกษาแพทย์ด้วย ซึ่งนับได้ว่าการปรับปรุงเรื่องจริยธรรมนั้นเป็นการช่วยเหลือคนไข้โดยรวม ไม่เจาะจงว่าเป็นการรองรับคนไข้ชาวต่างชาติอย่างเดียว นอกจากนั้นโรงเรียนแพทย์บางแห่งได้มีการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในบริบท AEC และโลกไว้ค่อนข้างสูงเนื่องจากโลกที่เปลี่ยนไปทำให้พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนตามไปด้วย ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องปรับปรุงให้เหมาะสมด้วยและหลักสูตรที่ปรับปรุงเพื่อให้ได้มาซึ่งแพทย์พึงประสงค์


สำหรับแนวทางการผลิตพยาบาล ปัจจุบันการศึกษาพยาบาลไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน ซึ่งประเทศที่ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการศึกษาบัณฑิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีหลักสูตรนานาชาติหลายหลักสูตร ซึ่งทุกสถาบันการศึกษา ได้มีการวางแผน และดำเนินการเตรียมความพร้อมในหลายด้าน เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พร้อมทั้งมีแนวทางการดำเนินงานด้าน Thailand Nursing Education Hub และสนับสนุนการพัฒนาโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีศักยภาพสูง และได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล ให้เป็น ASEAN Advanced Nursing Training Center เพื่อเพิ่มการผลิตพยาบาลเฉพาะทาง เป็นต้น และเป็นแบบอย่างในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา ASEAN MDGs และการพัฒนาสร้างเสริมจุดเด่นและภาพลักษณ์พยาบาลไทย “Thai Nurse Brand” ให้โดดเด่นในประชาคมอาเซียน การผลิตเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น


แนวทางทางการเตรียมความพร้อมของสถาบันการศึกษาและหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการแพทย์และพยาบาลของไทยเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการศึกษาและการบริการสุขภาพ ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้


------------------

ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ
จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์, กฤษดา แสวงดี และคณะ [ศาสตราจารย์ ดร. พัชราวลัย วงศ์บุญสิน (ศูนย์ศึกษาการพัฒนามนุษย์และย้ายถิ่น วิทยาลัยประชากรศาสตร์) ; รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กรรณิการ์ดำรงค์พลาสิทธิ์,นพ.พิรัส ประดิษฐวณิช(ศูนย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขคณะเศรษฐศาสตร์);รองศาสตราจารย์ น.พ. จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ (ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมคณะแพทยศาสตร์); และ ดร. กฤษดา แสวงดี (สภาการพยาบาล)]