ต่อไป ‘หุ้นแบงก์’ อาจเป็น Growth Stock มากขึ้น

ต่อไป ‘หุ้นแบงก์’ อาจเป็น Growth Stock มากขึ้น

ในวงการบริหารความเสี่ยงตอนนี้กลับมามีความคึกคักอีกครั้งจากงานวิจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางฝั่งยุโรป

บทความนี้จะพยายามจะเล่าถึงหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์จากมุมมองของผู้กำกับสถาบันการเงินว่า ในอนาคตอาจจะมีการสร้างกลไกไม่ให้จ่ายเงินปันผลมากจนเกินไป


ก่อนอื่น จะขอกล่าวถึงกลไกของการทำงานเศรษฐกิจของผู้เล่นหลักต่างๆ เริ่มต้นจากฝั่งผู้กำกับสถาบันการเงินและนักวิชาการที่มักจะมุ่งการตรวจสอบไปทางด้านสินทรัพย์หรือ Book Value ซึ่งโดยปกติแล้วหากสถาบันการเงินจะลดการปล่อยกู้เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ก็จะไปลดปริมาณหนี้สินก่อน ดังด้านซ้ายของรูปที่ 1 ในทางกลับกัน ทางฝั่งตลาดหุ้น จะมุ่งไปที่ Enterprise Value ซึ่งหมายถึง มูลค่าของแบงก์ดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์หรือ Market Cap บวกกับปริมาณหนี้สิน ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ราคาหุ้นของกลุ่มแบงก์ก็จะลดลง ทำให้การปล่อยกู้มีแหล่งทุนมาจากฝั่งหนี้สินเสียมากกว่า ดังด้านขวาของรูปที่ 1


โดยเมื่อก่อน บรรดานักวิชาการมองว่าฝั่งทางด้านสินทรัพย์ เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายเพื่อกำกับสถาบันการเงินให้ส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของโลก อย่างไรก็ดี จากช่วงวิกฤติยูโรปี 2011 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามูลค่าของแบงก์ดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์หรือ Market Cap ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นั่นคือ “เงินกองทุน” ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การบรรเทาความเสียหายจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทว่าเงินกองทุนยังเป็นปัจจัยสำคัญในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินซึ่งจะช่วยเสริมสร้างของนโยบายการเงิน ด้วยเหตุผลดังนี้


หนึ่ง ‘เงินกองทุนเป็นเสมือนฐานรากของการปล่อยสินเชื่อ สำหรับสถาบันการเงิน’ จากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่า สำหรับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้น การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสินทรัพย์ในแกนนอนนั้น ไม่ได้มีผลทำให้ส่วนของทุนเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ทว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงของหนี้สินทั้งหมด นั่นคือ การปล่อยสินเชื่อของแบงก์ในยุโรปนั้น มาจากการเพิ่มหนี้สิน โดยส่วนของเงินกองทุนยังเท่าเดิม ทั้งนี้ งานวิจัยแทบทุกชิ้น ระบุว่าสถาบันการเงินที่มีเงินกองทุนแข็งแรงจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากแรงกระเพื่อมของนโยบายการเงินมากนัก สาเหตุสำคัญมาจากต้นทุนของแหล่งเงินทุนที่ถูกลงจากอานิสงส์ของปริมาณเงินกองทุนที่สูงนั่นเอง จึงไม่เกินจริงที่จะกล่าวว่า หากฐานรากเป็นส่วนที่สำคัญของตึกมากแค่ไหน เงินกองทุนก็เป็นส่วนสำคัญสำหรับสถาบันการเงินและของเศรษฐกิจมากเท่านั้น


สอง สาเหตุสำคัญที่นักวิชาการหลายท่านตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดวิกฤติยูโรจึงปะทุขึ้นมาในช่วงปี 2011 นอกจากกรีซที่สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่มาก คำตอบน่าจะมาการจ่ายเงินปันผลที่มากเกินสมควรของแบงก์ในยุโรปในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ จากรูปที่ 3 จะพบว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤติ ธนาคารในยุโรปจ่ายเงินกองทุนเกือบถึงร้อยละ 40 ของกำไรสะสมหรือ Retained Earnings ซึ่งอาจจะส่งผลให้การหาแหล่งเงินมาปล่อยกู้ให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจทำได้ลำบาก สิ่งนี้ ยิ่งไปซ้ำเติมอุปสงค์ของยุโรปที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้แย่ไปกว่าเดิมเข้าไปอีก


ท้ายสุด ธนาคารที่มีเงินกองทุนซึ่งมีความเข้มแข็งจะยังปล่อยกู้เยอะแม้อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น ดังรูปที่ 4 รวมถึงแบงก์ใหญ่จะไม่ปล่อยกู้ลดลงมากนักเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น นอกจากนี้ แบงก์ใหญ่ที่มีเงินกองทุนเข้มแข็งจะปล่อยกู้เยอะขึ้นอีกด้วยซ้ำไป


โดยสรุป บทเรียนจากงานศึกษานี้ ได้แก่ หนึ่ง การจ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืนมิได้ส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแต่อย่างใดเนื่องจากสถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อได้น้อยลง สอง เงินกองทุนมิได้ทำหน้าที่เป็นเพียงการบรรเทาความเสียหายยามวิกฤติ ทว่าเป็นฐานรากให้การปล่อยสินเชื่อทำได้ดี ที่สำคัญ ‘เงินกองทุน’ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเป็นตัวค้ำยันให้แบงก์สามารถยังปล่อยกู้ต่อไปได้


นั่นคือ จากมุมของหน่วยงานกำกับสถาบันการเงิน ในอนาคตอาจจะมีการสร้างกลไกไม่ให้จ่ายเงินปันผลมากจนเกินไปครับ


-------------------
หมายเหตุ หนังสือเล่มล่าสุดด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคของผู้เขียน “เล่นหุ้นในไทย รวยไกลรอบโลก” เริ่มวางจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ LINE ID: MacroView ครับ