ลากตั้ง-เลือกตั้ง คัดสรร-สรรหา

ลากตั้ง-เลือกตั้ง คัดสรร-สรรหา

ไม่มีใครชอบคำว่า “ลากตั้ง” เพราะเหมือนไป “ลาก” ใครมาเพื่อแต่งตั้งโดยที่มีคนมีอำนาจไปดึงตัวมาตั้งให้มีตำแหน่ง

     ส่วนคนที่ได้รับการแต่งตั้งจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ไม่แน่ชัด

   “ลากตั้ง” ฟังดูไม่เป็นประชาธิปไตยแน่ ค่อนไปทางเผด็จการ หรือเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ แต่บ่อยครั้งในการเมืองไทย คนที่อยากได้ตำแหน่งแห่งหนก็พร้อมจะวิ่งเต้นเพื่อให้มีคน “ลาก” ไป “ตั้ง” เหมือนกัน

    มีคนบอกว่าที่จะตั้งสมาชิกวุฒิสภาในร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นไม่ควรเรียกว่า “ลากตั้ง” แต่เป็น “การเลือกตั้งทางอ้อม” เพราะมีกระบวนการเลือกโดยกลุ่มคนในอาชีพต่าง ๆ แม้จะไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

    บางคนเรียกระบบนี้ว่า “คัดสรร” แต่อีกบางคนอาจจะอยากเรียกว่าเป็นการ “คัดเลือก”

    แล้วคำว่า “สรรหา” ต่างกับ “คัดสรร” หรือ “คัดเลือก” อย่างไรเป็นประเด็นภาษาการเมืองของไทยที่สลับซับซ้อนยิ่งนัก

    มิน่าเล่าบ้านเมืองนี้จึงมี “ศรีธนญชัย” เต็มบ้านเต็มเมือง เพราะการใช้ภาษาที่สามารถตีความได้ไปหลาย ๆ ทาง แล้วแต่ใครจะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใดนั้นเองคือสาเหตุแห่งวิกฤติการเมืองที่มีมาตลอด

    เมื่อสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ถูกเรียกว่า “ลากตั้ง” ดังนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังต้องเลือกโดย ส.ส. ก็ยังมิวายถูกเรียกว่า “นายกฯลากตั้ง”

    คนที่ไม่ชอบคำว่า “ลากตั้ง” อธิบายว่ากระบวนการตั้งนายกฯในร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ก็ยังต้องลงมติโดย ส.ส.อยู่ดี และหากบ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติ นักการเมืองก็ต้องเลือกคนที่เป็น ส.ส.ด้วยกัน แต่ที่ต้องเปิดกว้างให้ “คนนอก” มาเป็นนายกฯได้นั้น ก็เพื่อป้องกันปัญหาวิกฤตของบ้านเมืองเมื่อเจอกับ “ทางตัน” หาทางออกไม่ได้อย่างที่เคยเผชิญมาแล้ว

    แน่นอนว่าถ้านายกฯมาจากคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ก็เท่ากับไม่ได้รับฉันทามติจากประชาชนเจ้าของประเทศอย่างน้อยก็จำนวนหนึ่ง แต่จะอ้างว่าเป็นการ “เลือกตั้งทางอ้อม” ก็ได้ เพราะคนที่ยกมือเลือกก็เป็นคนที่ประชาชนเลือกมา อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งเหมือนกัน

    รัฐธรรมนูญเมืองไทยใช้มาทุกสูตรแล้ว ตั้งแต่เผด็จการสุด ๆ ถึงการเลือกตั้งเต็ม ๆ ทุกระดับในประเทศ และทุกตำแหน่งต้องมาจากการเข้าคูหาเลือกตั้ง

    รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ชื่อว่า “เสรีนิยม” ที่สุด ทุกอย่างโยงกับประชาชน และสร้างกลไกการตรวจสอบที่เรียกว่า “องค์กรอิสระ” อย่างรอบด้าน แต่ก็มีอันต้องถูกฉีกไป กลายมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งก็อ้างว่าเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองมากกว่า

    ลงท้ายก็ถูกฉีกไปเหมือนกัน โดยที่เหตุผลอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับกติกาว่าประชาธิปไตยหรือไม่ แต่เพราะนักการเมืองดันการเมืองเข้าสู่มุมอับจนเกิดรัฐประหาร

    คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดล่าสุด จึงพยายามจะหา “นวัตกรรม” ใหม่ ๆ เพื่อปิดช่องโหว่ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีก จึงมีเรื่องใหม่ ๆ แปลก ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และอาจารย์สอนรัฐศาสตร์หลายคนอาจต้องฉีกตำราทิ้งไป

    ใคร ๆ ก็อยากได้ “รัฐธรรมนูญในอุดมคติ” และผมเชื่อว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะอุดช่องโหว่ทั้งหลายในทุก ๆ ด้านจนเกิดเสียงวิจารณ์ว่าไม่ไว้วางใจนักการเมืองเอาเสียเลย

    ซึ่งก็มีเหตุผล เพราะวิกฤตการเมืองที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจากนักการเมือง มุ่งแต่จะเอาประโยชน์แห่งตนเป็นหลัก จนบ้านเมืองตีบตัน หาทางออกไม่ได้

    สุดท้าย ผมยืนยันว่าประชาธิปไตยจะเกิดได้ไม่ใช่ “รูปแบบ” แต่อยู่ที่ “เนื้อหา” และการสร้างคุณภาพคน ไม่ได้อยู่ที่ “นวัตกรรม” ของคนร่างรัฐธรรมนูญ

   เพราะสถาปนิกเก่งแค่ไหน ท้ายสุดก็อยู่ที่คนอาศัยในบ้านหลังนั้น ว่าจะอยู่ร่วมกันด้วยการเคารพกติกาอย่างผู้มีสติและปัญญา เคารพกันและกันอย่างไร