ประสบการณ์ครั้งแรกที่'อินเดีย'

ประสบการณ์ครั้งแรกที่'อินเดีย'

สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปบรรพชาอุปสมบทที่ประเทศอินเดีย ที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

โดยมีพระราชรัตนรังษี (วีรยุทโธ) หัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล เป็นพระอุปัชฌาย์ และยังได้มีโอกาสแสวงบุญไปยังสถานที่ประสูติ ปรินิพพาน และ ปฐมเทศนา ของประพุทธเจ้า สถานที่ทั้งสี่แห่ง ถูกกำหนดโดยพระพุทธเจ้า ให้เป็นสังเวชนียสถาน ที่สำคัญสำหรับชาวพุทธ เพื่อให้เกิดความรู้สึกระลึกถึงพระพุทธเจ้า


เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ขอแนะนำให้กับชาวพุทธทุกคน ที่มีความศรัทธา และพร้อมที่จะแสวงหาความใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์ครั้งสมัยพุทธกาล


นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่ผู้เขียนสามารถตัดขาดอย่างไร้การเชื่อมต่อจากโลกอินเทอร์เน็ต เป็นเวลาเกือบสิบวัน ซึ่งไม่เคยคิดว่าจะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคสมัยปัจจุบัน


นอกเหนือจากพุทธศาสนาแล้ว เป็นประสบการณ์ ที่ทำให้ต้องกลับมาทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศอินเดีย


ผู้เขียนได้เคยมีประสบการณ์การทำงานกับชาวอินเดียอย่างใกล้ชิดมาเกือบ 20 ปี แม้กระทั่งอาจารย์ที่ปรึกษาและประธานควบคุมวิทยานิพนธ์ขณะที่กำลังศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่สหรัฐ ก็เป็นชาวอินเดีย ผู้ที่พิจารณาให้ทุนการศึกษาก็เป็นชาวอินเดีย หัวหน้างานครั้งแรกที่ Silicon Valley ก็เป็นชาวอินเดีย เพื่อนร่วมงานขณะที่อยู่ที่สหรัฐ ก็มีสัดส่วนเป็นชาวอินเดียเป็นส่วนมาก


สำหรับผู้เขียนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือบริษัทชั้นนำของสหรัฐ ล้วนจะมีคนที่เก่งและมีอิทธิพล ที่เป็นชาวอินเดีย


หลังจากที่กลับมาทำงานที่ประเทศไทย เมื่อใดที่ทำงานกับบริษัทฝรั่ง ก็ยังคงได้พบกับชาวอินเดียในฐานะผู้เชี่ยวชาญ หรือหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี ที่มีความรู้ความสามารถอย่างที่หาตัวจับได้ยาก แม้แต่ในด้านของ Big Data และ Analytics บริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในระดับโลก ก็ยังไปสร้างทีม Big Data และ Analytics ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ประเทศอินเดีย


แม้แต่ Microsoft ยักษ์ใหญ่แห่งโลกเทคโนโลยี ก็ยังคงได้แต่งตั้งชาวอินเดียขึ้นเป็น CEO


ประสบการณ์ครั้งแรกในอินเดียของผู้เขียน กลับไม่ได้พบเห็นสิ่งเหล่านี้เลย หากแต่ได้สัมผัสถึงความไม่พร้อมที่มีอยู่ทุกหย่อมหญ้า ขอทานที่มีอยู่ทุกหนแห่ง ระบบสาธารณูปโภคที่ยังขาดความสม่ำเสมอ แม้บรรยากาศจะเหมาะสำหรับการจาริกแสวงบุญ แต่เป็นภาพที่ตรงกันอย่างสิ้นเชิง กับประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยมีกับชาวอินเดียก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นชาวอินเดียส่งออกที่ล้วนแต่มีคุณภาพ


ความแตกต่างระหว่างชาวอินเดียส่งออกที่มีคุณภาพ กับชาวอินเดียในประเทศ ที่เป็นส่วนใหญ่ของประชากรนั้นได้เกิดขึ้นที่จุดใด


แม้จะเป็นประเทศยากจนที่ไม่มีความพร้อมในหลายด้าน รัฐบาลอินเดียกลับได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายวิทย์ นับจาก 60 ปีที่แล้ว ซึ่งได้ถูกพัฒนามาเป็นความเชี่ยวชาญทางด้าน Information Technogy และได้รวมถึง Big Data และ Analytics ในปัจจุบัน สถาบันการศึกษาของอินเดียมีกำลังผลิตบัณฑิตทางสาย IT ไม่น้อยกว่า 700,000 คนต่อปี จากประชากรของอินเดียที่มีอยู่มากกว่า 1,200 ล้านคน


ดังนั้น หากคัดเลือกบัณฑิต Top 1 เปอร์เซ็นต์ ที่เก่งที่สุด (หนึ่งในร้อย) ก็ยังคงได้จำนวน 7,000 คนต่อปี แต่หากคิดเป็นชาวอินเดียส่งออก ที่มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อหรือทำงานในมหาวิทยาลัยหรือบริษัทชั้นนำของสหรัฐ ลองสมมุติว่าไม่น่าจะมีมากกว่า 700 คนต่อปี ซึ่งต้องคิดเป็นหนึ่งในพันของบัณฑิตด้าน IT ทั้งหมด


แต่อย่าลืมว่า หนึ่งในพันของบัณฑิตด้าน IT ไม่ได้หมายความว่าเป็นหนึ่งในพันของประชากรทั้งหมด เพราะนักศึกษาชาวอินเดีย ต่างขับเคี่ยวแข่งขันเพื่อเข้ามาศึกษาทางด้าน IT ผู้ที่สามารถเข้ามาศึกษาทางด้าน IT จึงเป็นผู้ที่มีความเก่งอยู่แล้ว ชาวอินเดียส่งออกจึงเป็นหนึ่งในพันของคนเก่งจากทั่วอินเดีย หรือหนึ่งในเกือบสองล้านของชาวอินเดียทั้งประเทศ หรือเป็นที่สุดของยอดพีระมิดของชาวอินเดีย


สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานทางสาย IT ในประเทศไทย ย่อมจะต้องทราบดีว่า การที่จะได้บัณฑิตจบใหม่ทางด้าน IT ให้ได้จำนวน 700 คนในแต่ละปี โดยดูที่วุฒิการศึกษาอย่างเดียว และไม่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว แต่สำหรับอินเดีย การที่จะได้ 700 คน ยังจะได้เป็น 700 ที่แต่ละคนเป็นหนึ่งในพันของคนที่เก่งอยู่แล้ว (เป็นที่สุดของยอดพีระมิด)


หากพิจารณาโดยปฏิโลม ชาวอินเดียส่งออกที่มีคุณภาพ ที่เป็นสุดของยอดพีระมิด ที่ผู้เขียนได้เคยมีประสบการณ์การทำงานด้วยมาเกือบ 20 ปี เป็นเพียงส่วนที่น้อยมากของชาวอินเดีย ในขณะที่ประชากรอินเดียส่วนใหญ่ยังคงมีความยากจน ขาดการศึกษา ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้พบเห็นในอินเดีย และคือความเป็นจริงของประเทศอินเดีย


หากไม่ได้ไปประสบด้วยตัวเอง จะไม่สามารถคาดเดาได้ถึงชีวิตที่สุดแสนจะลำบาก และในทางกลับกัน ความสุขสบายของประเทศไทย