โรคเสพติดดิจิทัล

โรคเสพติดดิจิทัล

ผมจำได้ว่าเมื่อสิบปีที่แล้ว ได้เคยเขียนบทความเรื่อง “โรคร้ายใหม่ในที่ทำงาน” หรือ โรคสมาธิสั้นในการทำงาน

หรือที่ฝรั่งเขาตั้งชื่อว่า ADT (Attention Deficit Traits) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากสภาวะแวดล้อมในการทำงาน ไม่ใช่พันธุกรรมหรือความผิดปกติของร่างกาย และจากสิบปีที่ผ่านมาก็ดูเหมือนว่าโรค ADT นี้ยังไม่ได้หายไปจากโลกนี้ แถมกลับดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และยิ่งมีการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มากขึ้น ก็ยิ่งจะทำให้อาการและความรุนแรงของโรคนี้เพิ่มมากขึ้น


สาเหตุของ ADT หรือโรคสมาธิสั้นในที่ทำงานเกิดขึ้นนั้นมีหลายสาเหตุ หลายอาการด้วยกัน โดยที่สาเหตุหนึ่งที่เริ่มเป็นกันมากขึ้นก็คือเกิดขึ้นจากการที่เราเสพติดดิจิทัลมากขึ้น ถ้าท่านผู้อ่านอยากจะทราบว่าตนเองเป็น ADT ประเภทเสพติดดิจิทัลหรือไม่ ท่านลองดูนะครับว่าตนเองมีอาการต่างๆ ดังนี้หรือไม่ 1) เมื่อมือถืออยู่ห่างไกลเกินเอื้อม จะรู้สึกไม่ดี 2) สามารถใช้เวลาเป็นชั่วโมงอยู่บนโลกออนไลน์ โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากเรากระโดดจากเว็บหนึ่งไปสู่อีกเว็บหนึ่ง แล้วก็ต่อไปเรื่อยๆ โดยเวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว 3) มีสิ่งที่ต้องทำมากกว่าเวลาที่มี เราจะรู้สึกตลอดเวลาว่ามีเวลาไม่พอ แต่ขณะเดียวกันเวลาส่วนหนึ่งก็ใช้ไปกับการเข้าสู่โลกดิจิทัล 4) ขาดวินัยในตัวเอง สิ่งที่คิดหรืออยากจะทำนั้นกลับไม่ได้ทำ แทนที่จะกลับมาแล้วอ่านหนังสือหรือทำงาน กลับเปิดคอมพิวเตอร์แล้วกระโจนเข้าสู่โลกออนไลน์แทน 5) ชอบที่จะแอบเข้าโลกออนไลน์ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน 6) เมื่อเครียดจากงานก็มักจะหนีเข้าโลกออนไลน์ โดยคิดว่าโลกออนไลน์จะช่วยบำบัดความเครียดให้กับเราได้ 7) มือถือไม่เคยอยู่ห่างจากตัว ไม่ว่าจะกินข้าว หรือ อาบน้ำ (ก็นำโทรศัพท์เข้าไปในห้องน้ำด้วย) (อาการทั้งเจ็ดประการอยู่ในหนังสือ Driven to Distraction เขียนโดย Ned Hallowell แพทย์ผู้ค้นพบอาการ ADT)


จริงๆ ไม่น่าแปลกใจเลยครับว่าทำไมเราถึงมีแนวโน้มเป็น ADT ประเภทเสพติดดิจิทัลเพิ่มขึ้น ในเมื่อปัจจุบันเราใช้เกือบครึ่งของเวลาที่เราตื่นนอนอยู่หน้าจอต่างๆ ท่านผู้อ่านลองเดาซิครับว่าโดยเฉลี่ยแล้วเราใช้เวลาอยู่หน้าจอต่างๆ วันละกี่ชั่วโมง?


มีรายงานวิจัยที่ค้นพบว่าผู้ใหญ่โดยทั่วไปแล้วใช้เวลาจ้องมองหน้าจอ (Screen) ต่างๆ ไม่น้อยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง โดยคำว่า “หน้าจอ” ในที่นี้ครอบคลุมหน้าจอ (Screen) ทุกประเภทนะครับ ทั้งคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ Tablet โทรศัพท์ ท่านผู้อ่านน่าจะลองจับเวลาดูนะครับว่าตัวท่านเองใช้เวลาจ้องมองหน้าจอต่างๆ เหล่านี้ถึงวันละ 8 ชั่วโมงเหมือนกับค่าเฉลี่ยของชาวอเมริกันไหมหรือว่ามากกว่า 8 ชั่วโมง? (มีงานวิจัยอีกที่แสดงว่าเด็กที่อายุต่ำกว่าแปดปีก็ใช้เวลาอยู่หน้าจอวันละ 2 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 8 ถึง 18 ก็ใช้เวลาวันละ 7.5 ชั่วโมงอยู่หน้าจอต่างๆ)


นอกเหนือจากเวลาที่เราใช้กับหน้าจอต่างๆ แล้ว ยังมีการสำรวจที่พบอีกว่า โดยเฉลี่ยแล้วเราจะหยิบโทรศัพท์ของเราขึ้นมาโดยเฉลี่ยวันละ 150 ครั้ง และยังมีการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกและพบว่าหนึ่งในสี่ของกลุ่มที่สำรวจหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูทุก 30 นาที ในขณะที่หนึ่งในห้าหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาทุก 10 นาที


การที่เราใช้เวลาอยู่หน้าจอนานเกินไป นอกเหนือจากข้อเสียต่อสายตาของเราแล้ว ถ้าเราอยู่หน้าจอและหลงไปในโลกออนไลน์จนสุดท้ายหลงไปแบบหาทางออกไม่ได้ ก็พอจะถือว่าเป็นอาการเสพติดอย่างหนึ่งครับ โดยเป็นการเสพติดดิจิทัล (Digital Addiction) ซึ่งอาการของการเสพติดดิจิทัลนั้น มีหลายระดับครับ ตั้งแต่ไม่แสดงอาการใดๆ หรือ ก่อให้เกิดความรำคาญกับบุคคลอื่น หรือ การไม่สามารถหักห้ามใจตนเองให้หยุดหรือเลิกใช้ได้ จนกระทั่ง ส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัว การศึกษา การทำงาน ซึ่งผู้ที่มีอาการดังกล่าวมักจะปฏิเสธต่ออาการดังกล่าว


วิธีแก้หรือลดอาการของการเสพติดดิจิทัลดังกล่าวทำได้ไม่ยากครับ เพียงแต่ท่านผู้อ่านต้องเริ่มต้นดูก่อนว่าท่านมีอาการเสพติดดิจิทัลหรือไม่ ซึ่งก็ดูไม่ยากครับ เริ่มจากดูจากจำนวนชั่วโมงต่อวันที่ท่านเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล จากนั้นอาจจะกำหนดเวลาในชัดเจนในแต่ละวันเลยว่าจะอยู่หน้าจอ หรือ เข้าไปในโลกดิจิทัลในช่วงไหนบ้าง หรือ แม้กระทั่งวิธีที่ง่ายและเห็นผลสุดคือ ปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้เราตกอยู่ในกับดักของโลกดิจิทัลเสีย หรือ ถ้าท่านผู้อ่านไม่สามารถหักดิบขนาดนั้นได้ ก็พอจะมีเคล็ดอื่นๆ เล็กๆ น้อยๆ ครับ เช่น โทรศัพท์มือถือนั้น แทนที่จะพกใส่ในกระเป๋ากางเกง ก็ให้พกไว้ในกระเป๋าถือหรือเป้แทน หรือ การไม่นำโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ในลักษณะเดียวกันเข้าไว้ในห้องนอน (เพื่อลดอาการอยากเข้าโลกดิจิทัลก่อนนอน)


อย่าลืมสำรวจตัวเองก่อนนะครับว่าท่านผู้อ่านเป็นโรคเสพติดดิจิทัลหรือไม่ และ ถ้าเป็นก็ต้องรีบหาทางบำบัดตนเองนะครับ ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือปิดเครื่องทุกอย่างเสีย