หวั่นสร้างปัญหาเพิ่ม

หวั่นสร้างปัญหาเพิ่ม

ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงาน และไม่มีการควบคุมของไทยนั้นผูกเกี่ยวกับปัญหาค้ามนุษย์

      อย่างไม่อาจมองแยกส่วนได้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้บูรณาการหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เนื่องจากเล็งเห็นถึงผลกระทบมากมายที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะกับภาคเศรษฐกิจ เนื่องเพราะสินค้า "ประมง" ไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึงปีละกว่า 2.4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกให้ยุโรป (อียู) มีมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท

     ด้วยเหตุนี้ มาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งกฎหมาย การจัดระเบียบ จึงถูกเข็น ถูกผลักดันออกมาเต็มไปหมด ทว่ายังเป็นไปในรูปแบบของการทำให้เกิด "ผลงาน" เพื่อจะได้มีอะไรที่จับต้องได้ไปชี้แจงและตอบคำถามกับนานาชาติมากกว่าหรือไม่ ยังเป็นคำถาม

     แต่ในขณะที่ภาครัฐกำลังสะสางปัญหาต่างๆ อยู่นั้นก็มีข่าวคราวจากภายนอกประเทศมาซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวต่างประเทศชื่อดัง อ้างถ้อยแถลงของ "มูลนิธิความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม" (Environment Justice Foundation : EJF) ของอังกฤษ ที่ระบุว่า น่านน้ำไทยเป็นหนึ่งในเขตที่มีการทำประมงเกินขนาดอย่างร้ายแรงที่สุดในโลก เนื่องจากทางการไทยไม่ได้ควบคุมเรือประมง เรือประมงหลายลำใช้วิธีจับปลาแบบทำลายล้าง ฯลฯ

     จริงๆ ปัญหาดังกล่าวเป็นผลจากการที่ผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) เข้ามาตรวจสภาพการทำประมงของไทย เมื่อเดือน ต.ค.2557 แล้วพบว่า ไทยอยู่ในข่ายประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงาน และไม่มีการควบคุมแต่ก็ยังให้โอกาสปรับปรุงตัว 6 เดือน

     จากวันนั้นถึงวันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานระดับรองลงไป โดยเฉพาะกรมประมงที่เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบโดยตรงก็กำลังเร่งแก้ไขกันปัญหากันอยู่ ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการประมงไอยูยู 6 มาตรการ ได้แก่

    1.การจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง 2.การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง 3.การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (วีเอ็มเอส) 4.การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ 5.การปรับปรุงพ.ร.บ.ประมงและกฎหมายลำดับรอง 6.การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

     ที่มีการดำเนินการแล้วคือการออก พ.ร.บ.ประมง ฉบับใหม่ การจดทะเบียนเรือประมง และการออกใบอนุญาตทำประมง ควบคู่ไปกับมาตรการปิดอ่าวถึงเดือน พ.ค. รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายกับประมงผิดกฎหมาย และแรงงานผิดกฎหมาย

     ถามว่า "เกาถูกที่คัน" หรือไม่นั้น คนนอกอย่างเราๆ คงบอกได้เพียงว่าต้องติดตามดูกันต่อไป แต่ถ้าถาม "ผู้ประกอบการ" หรือ "ชาวประมง" แล้ว ในงานประชุมใหญ่สามัญ "สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย" เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาคงตอบคำถามนี้ได้เป็นอย่างดี

     ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนาแสดงความคิดเห็น ขอให้รัฐช่วยในเรื่อง "อาชญาบัตร" เรือ เพราะเห็นว่ากรมประมงยังแก้ปัญหานี้ไม่ดีพอ ทำให้เรือบางลำไม่มีอาชญาบัตร หรือมี แต่เป็นอาชญาบัตรผิดประเภท เมื่อออกเรือไปก็ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม

     นอกจากนี้ยังมีเรื่องกฎหมายประมงใหม่ และกฎกระทรวงต่างๆ ที่เตรียมจะออกมายังไม่มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และผู้ประกอบการ ยังไม่นับรวมปัญหาแรงงานจดทะเบียนมีบัตรถูกต้องเรียบร้อยแล้วหนีขึ้นฝั่ง ทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน...ออกเรือไปก็มีแต่ถูกจับดำเนินคดี  

     ที่สำคัญพวกเขาถามหา "ความจริงใจ" มากกว่า เนื่องจากได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดอยู่เสมอๆ ว่า "มีอะไรก็ให้มาคุยกัน" แต่เอาเข้าจริงยังไม่แน่ใจว่าปัญหาต่างๆ ที่ได้ส่งเสียงสะท้อนไปนั้น ไปถึงท่านจริงหรือไม่ และหากเสียงคนข้างล่างไปถึงคนข้างบนแล้ว เหตุใดจึงไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่

     หรือจริงๆ แล้ว มาตรการต่างๆ ที่เร่งคลอดออกมาเพื่อหวังแก้ปัญหาแบบ "ขายผ้าเอาหน้ารอด" ไปก่อน ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็น่าห่วงเพราะนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังอาจสร้างปัญหาใหม่เพิ่มเติมทับถมปัญหาเดิมที่มีอยู่ให้ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

     เฉพาะปัญหาไอยูยูนั้นเดือน ส.ค.นี้จะรู้ผลว่าเป็นอย่างไร หากแก้ปัญหาไม่ได้ ประมงไทยสุ่มเสี่ยงโดน "ใบแดง" งดนำเข้าสินค้าประมงจากไทยทั้งหมด ทำเงินรายได้หายไปอย่างน้อย 3 หมื่นล้านบาทต่อปี...แต่ถึงกระนั้นต้องไม่ลืมว่า ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องไอยูยูเพียงปัญหาเดียว!