ให้รัฐสำรวจปิโตรเลียมเอง ได้ไม่คุ้มเสีย

ให้รัฐสำรวจปิโตรเลียมเอง ได้ไม่คุ้มเสีย

ถึงแม้ว่าทั้งนายนพ สัตยาศัย และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญ

            ในการคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม จะมีเจตนาดีที่ต้องการจะให้รัฐแยกเอาขั้นตอนของการสำรวจปิโตรเลียม ออกมาจากขั้นตอนของการผลิต เพื่อดำเนินการเอง จะได้รู้ว่าทรัพยากรปิโตรเลียมที่ยังเหลืออยู่มีปริมาณเท่าไหร่กันแน่ 

            โดยให้เหตุผลว่า ในเมื่อรัฐให้สัมปทานเอกชนไปแล้ว เอกชนก็ว่าจ้างบริษัทสำรวจซึ่งเป็นที่รู้จักในวงการมาดำเนินการแทนอยู่แล้ว  และในหลุมที่สำรวจไม่พบปิโตรเลียม บริษัทผู้รับสัมปทานก็สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในหลุมที่มีการสำรวจพบและผลิตได้ทั้งหมดอยู่แล้ว นั่นก็หมายความว่าในที่สุดรัฐก็ต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงแทนเอกชนอยู่ดี  

            ดังนั้นไหนๆ รัฐจะต้องจ่ายอยู่แล้ว ทำไม่จึงไม่แยกการสำรวจออกมาทำเอง เพราะหากรัฐเจอปิโตรเลียมแหล่งใหญ่ ก็จะได้เลือกใช้วิธีการแบ่งปันผลผลิตที่รัฐได้ประโยชน์มากกว่า แทนที่จะเป็นระบบสัมปทาน

            ข้อเสนอของทั้งคู่บนเวที สัมมนา ”เดินหน้าประเทศไทย เพื่อความมั่นคงพลังงานที่ยั่งยืน” ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา ทำให้คนในวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีความกังวลอยู่มากพอสมควร และยิ่งทั้งคู่ ได้เข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ในคณะกรรมาธิการพลังงาน ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม 2514 อยู่ด้วย ก็อาจจะยิ่งไปกันใหญ่ หากมีการแก้ไขกฎหมายในประเด็นนี้เข้าจริงๆ

            ปกติในขั้นตอนของการสำรวจปิโตรเลียม นั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ 1.การสำรวจทางธรณีวิทยา(Geological Survey) ซึ่งเป็นการสำรวจเบื้องต้นทางธรณีวิทยาเพื่อหาลักษณะรูปแบบการวางตัวของชั้นหินและชนิดของหิน โดยอาศัยข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ และรายงานทางธรณีวิทยา เพื่อวิเคราะห์หาองค์ประกอบการกำเนิดเป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม   2.การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ (Geophysics Survey) เป็นการสำรวจหาข้อมูลการวางตัวของชั้นหินใต้ผิวโลก โดยใช้วิธีการวัดคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Survey) ข้อมูลที่ได้จะทำให้ทราบขอบเขตของแอ่งสะสมตะกอนและรูปแบบการวางตัวของหิน  และขั้นตอนที่ 3 ซึ่งสำคัญคือ การเจาะหลุมสำรวจ (Drilling)  เพื่อพิสูจน์ว่ามีปิโตรเลียมภายในแหล่งกับเก็บที่ทำการแปรผลข้อมูลออกมาแล้วหรือไม่

            นาย ชยุติพงศ์ นันท์ธนะวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  ยกตัวอย่างให้เห็นจากข้อมูลจริงของการให้สัมปทานรอบที่ 20 เมื่อปี 2550 จำนวน 28 แปลงสำรวจว่า  มีการคืนแปลงสำรวจมาแล้ว 20 แปลง และอยู่ในระหว่างดำเนินการอยู่ 10 แปลง ซึ่งใน 10แปลงนั้นพบปิโตรเลียมใน 1 แปลงมีปริมาณสำรองไม่มากนัก ซึ่งกรณีนี้หากรัฐเป็นผู้ดำเนินการสำรวจเอง รัฐจะต้องสูญงบประมาณที่ใช้ไปประมาณ 16,000 ล้านบาท ใน 10 แปลงสำรวจที่ไม่พบปิโตรเลียมและต้องส่งคืนกลับมา ซึ่งก็ต้องถามประชาชนผู้เสียภาษีว่า จะยอมให้รัฐสูญเงินไปเปล่าๆ แบบนี้หรือไม่

            ในขณะที่ นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ออกมาย้ำด้วยว่า แปลงสำรวจที่เปิดให้สัมปทานรอบที่ 21 ทั้ง 29 แปลงนั้น ล้วนเป็นแปลงสัมปทานเดิมที่เคยเปิดให้เอกชนสำรวจไปแล้วแต่ยังสำรวจไม่พบปิโตรเลียม  จึงนำกลับมาเปิดใหม่ ดังนั้นรัฐมีข้อมูลจากเอกชน ที่เคยยื่นขอสัมปทานอยู่มากพอสมควรอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องเสียงบประมาณไปทำการสำรวจเอง  ที่สำคัญไปกว่านั้น คือหากรัฐทำเองแล้วไม่พบปิโตรเลียม ก็จะไม่มีเอกชนรายใดมายื่นขอสำรวจในแปลงสำรวจเหล่านั้นอีก เพราะรัฐไปการันตีเองว่าไม่มีปิโตรเลียม จึงเป็นการปิดโอกาสของประเทศในการที่จะนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์

            ฟังข้อมูลจากภาครัฐที่ออกมาแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้แล้ว ฝั่งที่อยากจะให้รัฐสำรวจปิโตรเลียมเอง คงจะต้องมีข้อมูลมาหักล้าง ยกเว้นว่า จะมีใครแอบสั่งให้เดินหน้าเพราะอยากจะตั้งงบประมาณสำรวจก้อนใหญ่แล้วขอกำกับดูแลการใช้งบประมาณแผ่นดินเอง 

            แล้วเราคงจะได้เห็นความสูญเปล่าของรัฐซ้ำรอยหลายๆ โครงการในบางรัฐบาล ที่เตือนกันแล้วไม่ฟัง