ตัดสินใจให้ได้แบบนักบินอวกาศ

ตัดสินใจให้ได้แบบนักบินอวกาศ

ชีวิตนี้มีเรื่องให้ตัดสินใจมากมาย ทั้งเรื่องเล็ก..จะตื่นกี่โมง กลางวันจะสั่งอาหารอะไร

จนถึงเรื่องใหญ่..จะลาออกหรือไม่ จะขยายหรือยุบธุรกิจดี

และอีกร้อยพันการตัดสินใจในระหว่างกลาง

กระนั้นก็ดี น้อยคนนัก ที่มีดีกรีแก่กล้า พร้อมลุกขึ้นมาประกาศว่า ข้าพเจ้าเก๋าเรื่องการตัดสินใจ แถมไม่เคยพลาด ตัดได้ขาดและคมกริบ

ผู้บริหารทั้งงานราษฎร์งานรัฐ จึงมักถูกจัด และ “อัด” ว่าชักช้าในการตัดสินใจ หรือไม่ก็ตัดสินใจไม่ได้เรื่อง ไม่โปร่งใส ไม่ “เป็น”

หลากหลายปัจจัยก่อให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด แม้คนชาญฉลาด ประสบการณ์นานนับสิบปี พี่ก็ไม่ได้รับการยกเว้น

จากผลการศึกษาเจาะลึกเรื่องการตัดสินใจของ อาจารย์ Chip Heath และ Dan Heath ท่านฟันธงว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจได้ไม่แม่น มีแก่นจาก มุมที่เรามองปัญหา ความมั่นใจเกินไป และอารมณ์ขณะที่ต้องฟันธง
ลองมาดูแต่ละประเด็นกันค่ะ

1. มุมที่ใช้มองเรื่องที่ต้องตัดสินใจ

เมื่อมีปัญหา จะแก้ได้หรือไม่ ย่อมมาจากความเข้าใจสถานการณ์และที่มาที่ไป

หากคนตัดสินใจ มองสถานการณ์จากมุมเอียงๆ เถียงจากฝั่งเดียว ทั้งขาดความเข้าใจ เพราะไม่มีมุมมองที่ส่องจากรอบด้าน

การตัดสินใจย่อมเบี้ยว เลี้ยวผิดทางอย่างไม่ต้องสงสัย

วิธีแก้คือ ต้องลองมองให้กว้างขึ้น และหาทางเลือกที่หลากหลาย ก่อนตกลงปลงใจกับทางใดทางหนึ่ง

อาทิ หากคุยกับหัวหน้าเท่าไหร่ เขาก็ไม่ฟัง ข้อเสนอหนูออกดี พี่ยังตัดสินใจตีตก

ก่อนจะสรุปว่าพี่เบาด้านปัญญา ทดลองมองจากมุมหัวหน้าบ้างว่า เขามีอุปสรรค หรือข้อจำกัดใด ที่เราอาจยังมองไม่เห็น เช่น พี่ไม่ชอบความเสี่ยง พี่อยากเลี่ยงการมีปัญหากับฝ่ายอื่น ฯลฯ

หากเข้าใจประเด็นเหล่านี้ อาจทำให้สามารถลองหาวิธีอื่นๆที่ตอบโจทย์พี่เขาด้วย ถือว่าช่วยให้พี่ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

2. มั่นใจเกินพัน

จากการติดตามศึกษาการตัดสินใจของหลายวิชาชีพ อาทิ วงการแพทย์ ปรากฏว่า เมื่อคุณหมอตัดสินใจวินิจฉัยโรคด้วยความมั่นใจอย่างยิ่ง สิ่งที่นักวิจัยพบ คือ 40 ใน 100 ครั้ง คุณหมอยังพลาด

ความมั่นใจเป็นสิ่งดีที่มืออาชีพต้องมีอย่างยิ่ง

แต่หากมั่นใจเกินร้อย ให้พันยังน้อยไป

กรุณาเรียนรู้ที่จะกระตุกตนเองบ่อยๆ แล้วค่อยๆคลี่ดูว่าทางที่เลือก อาจมีความเสี่ยง หรือข้อผิดพลาดใดได้บ้าง เพื่อเผื่อเตรียมทางเลือกอื่นใดไว้รับมืออย่างทันท่วงที

3. อารมณ์

อุปสรรคอันหนักอึ้งของการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ อารมณ์ของคนนั่นเอง

ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง อคติ และอัตตา สามารถทำให้ใครๆ เลือกตัดสินใจทำอะไรได้แปลกประหลาดยิ่ง

ตัวอย่างเห็นจากพาดหัวข่าวฉาวโฉ่ ที่มีให้เห็นเป็นรายวัน

อาทิ องค์กรชั้นครูบาอาจารย์ ที่ใช้การงานยักยอกเงินนับร้อยนับพันล้านบาท เพราะขาดวิธีควบคุมสติและความโลภ

ที่สำคัญ การตัดสินใจผิดพลาด เกิดบ่อยยามเราขาดสติ

ดังนั้นหากอยากตัดสินใจให้มีคุณภาพมากขึ้น ต้องคุมอารมณ์ให้ได้ ไม่ให้วอกแวก

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ วิธีการที่องค์กร NASA ใช้ในการฝึกนักบินอวกาศ เพื่อกันการผิดพลาดในการตัดสินใจ

เพราะในอวกาศ ตัดสินใจพลาด ต้องใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน

ตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อปี 1960 ที่สหรัฐฯประกาศว่าจะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์

เขาต้องฝึกนักบินอวกาศมากมายหลายเรื่อง เพราะภารกิจที่ทั้งเสี่ยงทั้งซับซ้อน มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาและสถานการณ์ฉุกเฉินเกินพอดีได้ทุกเสี้ยววินาที

การที่มนุษย์ต้องเผชิญกับปัญหาอย่างโดดเดี่ยวเวิ้งว้าง ในห้วงอวกาศที่มืดมิด พลาดผิดแม้น้อยนิดไม่ได้ ถือเป็นสูตรสำเร็จที่จะส่งให้ใครๆสติแตกได้ไม่ยาก

การคุมอารมณ์ไม่ได้ ส่งผลให้ตัดสินใจผิด คิดไม่กระจ่าง คิดไม่ครบ จบทั้งชีวิต ทั้งโครงการนับหมื่นๆล้านเหรียญสหรัฐ

โจทย์สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้มนุษย์กลุ่มนี้ มีสติ และตัดสินใจได้แม่นยำ ยามเผชิญสภาวะคับขัน บีบคั้นแบบสุดๆ

วิธีการหลัก คือ สร้าง “ความรู้สึกว่าเขาควบคุมสถานการณ์ได้” “a feeling of being in control”

ดังนั้น นักบินอวกาศ ถูกฝึกซ้อมให้ผ่านสถานการณ์ที่เขาต้องประสบในอวกาศซ้ำแล้วซ้ำอีก

ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ทุกแสง ทุกเสียง ทุกการขยับขับเคลื่อน ทุกแรงสั่นสะเทือนที่ต้องสัมผัส

จนเขาคุ้นเคย จนชิน

จนเขามั่นใจ

ทหารหน่วยจรยุทธ์พิเศษ อาทิ Navy Seals ของกองทัพเรือสหรัฐฯ หรือ SAS ของกองทัพอังกฤษก็เช่นกัน ถูกฝึกซ้ำแล้ว ซ้ำอีก จนคุ้นเคย จนชิน จนมั่นใจ

แม้เชี่ยวชาญ และช่ำชอง ก็ยังต้องฝึกหนักต่อเนื่อง

เวลาทำงาน 100 ชั่วโมง เขาปฏิบัติการจริงเพียง 25 ชั่วโมง ที่เหลืออีก 75 คือการฝึกซ้อม ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จนเข้าไปในสายเลือด

“a feeling of being in control”

อีกหนึ่งวิธีที่เขาใช้ คือ ให้นักบินอวกาศและนักรบหน่วยพิเศษ ฝึกสมาธิ กำหนดลมหายใจ จะได้ควบคุมสติได้

นักวิจัยติดตามวัดชีพจรของบุคคลเหล่านี้ตอนฝึกผ่านสถานการณ์คับขันเข้มข้น ที่คนธรรมดาสมควรสติแตก ชีพจรพุ่งสูงกระเจิง

แต่ชีพจรของคนกลุ่มนี้ กลับสงบนิ่ง บ่งชี้ว่าเขา“เย็น” ได้ในความร้อนระอุของวิกฤต

ผลคือ เมื่อมีสติ ย่อมตัดสินใจได้ตามที่ฝึกไว้ ไม่พลาด

พวกเราคนไทยคุ้นเคยดีกับแนวทางการเจริญสติ และกำหนดลมหายใจ

เหลือแต่นำมาฝึกใช้ให้นิ่ง แน่วแน่ ไม่หวั่นไหว บวกความรอบรู้ และใจที่เป็นกลาง คือ หนทางแห่งการตัดสินใจขั้นครู

หากใช้ได้ดี แต่ยังมีพลาดบ้าง

ถือว่าสุดวิสัย ไม่ว่ากันค่ะ