แปร "ไก่ตรุษจีน" เป็น "พลังฝูงผึ้ง"

แปร "ไก่ตรุษจีน" เป็น "พลังฝูงผึ้ง"

ผมจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนแรกที่เปรียบเปรย ปัญหาความขัดแย้งของคนไทยเหมือน "ไก่ตรุษจีน" แต่ครั้งแรกที่ได้ยินก็เห็นภาพค่อนข้างชัดเจน

       ใครเดินตลาดใกล้ช่วงตรุษจีนจะเห็นเล้าไก่วางขายกันเกลื่อน ไก่จะส่งเสียงดัง และเพราะต้องอยู่ในเล้าแคบๆ เดียวกัน ก็จะจิกตีกันเอง ส่งเสียงดังจ้อกแจ้ก โดยไม่สำนึกว่าอีกไม่นาน ไม่ว่าไก่ตัวไหนจะสามารถเอาชนะไก่อีกกี่ตัวในเล้านี้ก็ตาม ก็จะถูกจับไปฆ่าเป็นอาหารสำหรับวันตรุษจีนกันทั้งนั้น

       วันก่อน นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดกับนักข่าวเรื่องวันตรุษจีน ก็เอ่ยอ้างถึง "ไก่ตรุษจีน" อีกครั้งหนึ่ง

       ท่านบอกตอนหนึ่งว่า "วันนี้วันตรุษจีน อยากเป็นเหมือนไก่ตรุษจีนกันก็เอาสิ ต่างเก่งต่างก็จิกตีกันตลอดเวลาที่อยู่ในเข่ง สุดท้ายถึงเวลาก็ถูกนำไปฆ่าเชือดทั้งเล้า ตายทั้งเข่ง อยากทำตัวเป็นไก่ตรุษจีน ผมไม่ได้ว่าตัวเองดีหรือเก่งกว่าใคร แต่สื่อชอบออกมาตำหนิรัฐบาลแย่ เข้ามาแล้วไม่ทำอะไร ไม่มีผลงาน แต่ความจริงของเก่าไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องราวเลย ทำไมสื่อไม่ไปถามรัฐบาลที่แล้วบ้าง ทำไมถึงมีปัญหาเช่นนี้ ทำไมปล่อยให้รัฐบาลประยุทธ์ต้องมาแก้ปัญหา ไปถามรัฐบาลคนดีคนเก่งของท่านดู น่ารำคาญจริงเลยพวกนี้..."

       ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องสื่อวิจารณ์รัฐบาลกับไก่ตรุษจีนนั้นเกี่ยวข้องโยงใยกันอย่างไร แต่บทบาทระหว่างรัฐบาลกับสื่อนั้นแตกต่างกัน ต่างคนต่างมีหน้าที่ทำงานเพื่อประชาชน หากรัฐบาลเห็นว่าสื่อวิพากษ์ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะแสดงเหตุแสดงผลต่อสาธารณชนเพื่อแย้งกับสิ่งที่สื่อนำเสนอ

       ขณะเดียวกันสื่อสารมวลชนมีหน้าที่รายงานและนำเสนอความคิดเห็นจากแง่มุมต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับของรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเป็นธรรม สนับสนุนสิ่งที่รัฐทำเพื่อประชาชน และวิเคราะห์วิจารณ์อะไรที่เห็นว่าจะขัดกับการทำหน้าที่ของรัฐบาลต่อประชาชนเช่นกัน

       จึงไม่น่าจะเข้าข่าย "ไก่ตรุษจีน" ในความหมายที่ว่าคนไทยทะเลาะกันเอง ตีกันเอง ไม่รู้จักปรองดอง ไม่รู้จักหาวิธีการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องตั้งหน้าตั้งตาจะขัดแย้งกัน จะเอาชนะคะคานโดยไม่สนใจว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ท้ายที่สุดหากยังหาเรื่องวิวาทกันไม่จบสิ้น ไม่หาทางออกของบ้านเมืองร่วมกัน ก็จะต้องเผชิญชะตากรรมเหมือนกันนั่นคือทั้งสังคมไปไม่ถึงไหน ต้องถูกพาไปเชือดกันหมด

      "ไก่ตรุษจีน" เป็นอุทาหรณ์ที่ชัดเจน เห็นภาพของไก่ที่จิกตีกันเองโดยไม่สำนึกว่าทั้งหมดที่อยู่ในเล้าเดียวกันนั้นล้วนมีชะตากรรมเดียวกัน รอดก็รอดด้วยกัน ตายก็ตายด้วยกัน  อีกทั้งคนที่เดินมาสำรวจเล้าทั้งหลายในตลาดนั้นมีเป้าหมายประการเดียว คือจะเอาไปฆ่าทำเป็นอาหาร โดยจะไม่ถามว่าที่จิกกัดกันเองนั้นเป็นเพราะอะไร หรือใครถูกใครผิด

       ตรงกันข้ามกับ "ฝูงผึ้ง" ที่แบ่งหน้าที่งานการกันอย่างเป็นระบบ ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการสร้างรังผึ้งอย่างประณีตบรรจง

       ยุคดิจิทัลนี้ การสร้างพลังของคนจำนวนมากที่สามารถร่วมกันสร้างสรรค์อย่างแรงกล้า เรียกว่า crowdsourcing อันหมายถึงการเปิดกว้างให้ผู้คนในทุกแวดวงสามารถมาร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ของสังคมร่วมกัน

       แทนที่จะเป็น Me ก็แปรเป็น We

       ไม่ใช่ถามว่า "ฉันจะได้อะไร?" แต่ให้ถามว่า "เราจะได้อะไรร่วมกัน?"

       เพราะในการสร้างชาติสร้างบ้านเมืองนั้น ไม่มีใครเป็นพระเอกแต่เพียงคนเดียวได้ ต้องรวมตัวกันอย่างแข็งขันและสร้างระบบของการเอาความเห็นที่แตกต่างมากลั่นกรองเป็นทิศทางร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่มีผลทางด้านปฏิบัติอย่างแท้จริง

       แปร "ไก่ตรุษจีน" ให้เป็น "พลังฝูงผึ้ง" จึงจะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้อย่างมีความหวังเปี่ยมล้น