ชักเละ

ชักเละ

บอกตรงๆ ว่าความนิยมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) กำลังลดฮวบฮาบ

       ที่บอกนี่ไม่ได้รู้สึกเอง (แต่ตัวเองก็รู้สึก) ทว่าเป็นข้อมูลที่ฟังมาจากหลายกลุ่ม หลายวง แม้แต่ "วงทหาร" ซึ่งเป็นลูกน้องสายตรงของท่านนายกฯเอง

       ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้ "คณะทำงาน" ของทหารหลายๆ คณะที่ตั้งขึ้นมาตามกลไก คสช.บ้าง กลไกของกองทัพบ้าง เพื่อช่วยขับเคลื่อนงานต่างๆ โดยเฉพาะ "งานปฏิรูป" ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับ "มาสเตอร์พีซ" นั้น กำลังคิดกันหัวแทบแตกว่าจะทำอย่างไรเพื่อดึงเรทติ้งของรัฐบาลให้กลับมาดูดีเหมือนตอนยึดอำนาจใหม่ๆ

       วงพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการหลายวงยอมรับว่า รายการคืนความสุขให้คนในชาติ หรือ "ประยุทธ์ทอล์ค" ที่พูดอยู่คนเดียวเป็นชั่วโมงทุกๆ วันศุกร์นั้น แทบไม่มีคนดูแล้ว ขณะที่สื่อกระแสหลักก็เกือบจะไม่มีประเด็นสรุปมาเป็นข่าว

       นับจากยึดอำนาจผ่านมา 9 เดือน คณะทำงานของฝ่ายทหารเองก็ยอมรับว่า คสช.และรัฐบาลยังไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย

       หนำซ้ำยังถูกองค์กรแม่น้ำ 5 สายบางองค์กร ทำเรื่องให้วุ่นหนักขึ้นไปอีก...

       หลายคนเริ่มเห็นความเชื่อมโยง หรือ "คอนเนคชัน" ของคนจากรั้วสถาบันอุดมศึกษาบางแห่ง ที่ได้เข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์ในองค์กรแม่น้ำบางสาย กับการทำงานในลักษณะ "ผลัดกันชง-ผลัดกันตบ"

       เช่น เขียนกฎหมายตั้งองค์กรในลักษณะควบคุมคุณธรรมนักการเมืองขึ้นมา ขณะที่พรรคพวกตัวเองก็มีองค์กรแนวๆ นั้นรองรับอยู่แล้ว อย่างนี้เป็นต้น

       หรือการเขียนรัฐธรรมนูญบางหมวด บางมาตรากำลังกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะ "ส.ว.ลากตั้ง 200 คน" ที่ตอกย้ำจุดยืน "ไม่เชื่อถือประชาชน" หรือ "มองคนไม่เท่ากัน" จริงไม่จริงเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่คนจำนวนไม่น้อยเขารู้สึกแบบนั้น

       การสรรหาจากบุคคลหรือองค์กรในระดับที่เรียกกันว่า "อรหันต์" แม้บางบริบทอาจจะดี แต่ระยะหลังๆ คนที่ถูกเลือกจากองค์กรเหล่านี้ก็สร้างปัญหา แล้วคำถามสำคัญในบ้านเมืองยุคปัจจุบันคือ "เอาประชาชนไปไว้ที่ไหน?" เพราะทั่วโลกเขามีแต่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ที่เมืองไทยพยายามจำกัดการมีส่วนร่วม แล้วพยายามให้สังคมเชื่อมั่นตัวบุคคลหรือหน่วยงานที่เชื่อกันว่าเป็น "คนดี-องค์กรดี"

       แต่ปัญหาคือ ความดีในบ้านเมืองนี้มันไม่ได้มีมาตรฐานเดียวกันอีกแล้วน่ะสิ

       หรือบางเรื่องก็สร้างหลักการใหม่ขึ้นมาจนสับสนวุ่นวาย จนไม่รู้ว่ายืนอยู่บนหลักอะไรแน่ เช่น ถ้านายกรัฐมนตรีแพ้โหวตในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ แทนที่นายกฯจะต้องลาออก หรือพ้นจากตำแหน่ง แล้วเปิดทางให้มีการซาวเสียงหานายกฯคนใหม่ การณ์กลับกลายเป็นว่าให้สภาต้องพ้นสภาพไปด้วย

       แล้วอย่างนี้มันจะตรวจสอบถ่วงดุลกันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติได้อย่างไร

       ขณะที่ระบบการเลือกตั้งที่ควรจะ "ง่าย" และ "โปร่งใส" ก็ทำให้มันซับซ้อน ซ่อนเงื่อน สวนทางวิถีไทยที่ชอบ "สบายๆ คือไทยแท้" ถ้าสุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับจริงออกมาเนื้อหาแบบนี้ ยังไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะวุ่นวายขนาดไหน

       ที่ยกมานี้เป็นแค่ตัวอย่าง ยังมีอีกหลายประเด็นที่เป็นปัญหา แต่บอกได้คำเดียวว่าเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้มีแต่เละกับเละ และคนที่รับเละในที่สุดก็หนีไม่พ้น "คสช." ที่เป็นธารของแม่น้ำ 5 สายนั่นเอง

       ด้วยเหตุนี้บรรดาคณะทำงานทั้งหลายจึงต้องมานั่งสุมหัวกันคิดหาผลงานให้รัฐบาล เพื่อ "ตีตั๋ว-ต่ออายุ" จนจบภารกิจ ล่าสุดมีการมองไปที่ปัญหา "ภัยแล้ง" ด้วยหวังให้ฝ่ายความมั่นคงกลายเป็น "พระเอกขี่ม้าขาว" เหมือนตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ที่ทำให้ค่ายสีเขียวฟื้นภาพลักษณ์จากความล้มเหลวของการรัฐประหารปี 49 จนแข็งแกร่งกลับมารัฐประหารได้อีกรอบ

       ต้องรอลุ้นต่อไปว่าสุดท้ายจะได้เป็นพระเอกสมใจ หรือกลายเป็นผู้ร้ายกันแน่!