ระยะเปลี่ยนผ่านและจุดดุลยภาพใหม่ของเศรษฐกิจการเมืองไทย (2)

ระยะเปลี่ยนผ่านและจุดดุลยภาพใหม่ของเศรษฐกิจการเมืองไทย (2)

การเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็งจะนำมาสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง อันเป็นฐานสำคัญในการแปรสภาพความขัดแย้ง (transforms conflict)

ของผลประโยชน์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ไปสู่ ความร่วมมือและความปรองดอง ด้วยกระบวนการปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วม


การกดทับความขัดแย้งด้วยวิธีการที่มิใช่ประชาธิปไตย รังแต่จะทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงขึ้นในระยะยาว เนื่องเพราะการกดทับความขัดแย้งจะนำมาสู่การสะสมพลังความรุนแรงมากขึ้นจนไม่มีช่องระบายนั่นเอง


คสช. และ รัฐบาลประยุทธ์ ควรจะเอาเวลาผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปในหลายเรื่อง ส่วนเรื่องของท่านอดีตนายกฯและคณะหากทำอะไรไม่ถูกต้องเอาไว้ก็ต้องให้กระบวนการทางกฎหมายและกระบวนศาลสถิตยุติธรรมเข้าจัดการ
เพื่อยืนหยัดหลักนิติรัฐ


เราต้องช่วยกันปฏิเสธสภาวะเขย่าอำนาจใหม่ และ รุกไล่อำนาจเก่า เพราะสภาวะดังกล่าวจะนำมาสู่การเผชิญที่รุนแรงมากขึ้นมากขึ้น


It is dangerous to be right when the government is wrong (Voltaire 1694-1778)


ถ้อยความนี้ อาจจะเป็นการให้สติเราระมัดระวังกับสถานการณ์ที่รัฐบาลทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องและใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม (ไม่ได้กล่าวถึง รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งเป็นการเฉพาะแต่พูดถึง สัจธรรม ที่เกิดขึ้นได้ในทุกที่ทุกเวลา)


แต่หลายคนอาจจะมองว่า สอนให้เราขี้ขลาดและไม่มีความกล้าหาญในการต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง


สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าในวันนี้ คือ เราต้องพิจารณาปัญหาทุกอย่างด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความมีสติ เราจะเห็นได้ชัดว่า ทุกอย่างเป็นสีเทา ไม่มีขาวดำชัด


เมื่อไม่มีขาวมีดำชัด เส้นแบ่งระหว่างเทพกับมาร คุณธรรมกับไม่มีคุณธรรมมันไม่ชัด


ใครคือเผด็จการ ใครคือประชาธิปไตย ก็ถูกทำให้ดูพร่ามัว ทุกฝ่ายต่างอ้างจุดยืนประชาธิปไตยกันทั้งสิ้น แม้นกระทั่งผู้ที่มีเสื้อคลุมเผด็จการ


ทุกคนรู้ดีว่า ถึงที่สุด เราต้องกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอยู่ดี ครับ


ประเทศชาติได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเมื่อ 17 ปีที่แล้ว และ ถึงจุดหักเหครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 35
ระบบการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญของประชาชนปี 40 กำลังถูกแทนที่กติกาสูงสุดที่ที่ร่างโดยคณะบุคคลที่คัดสรรโดยคณะรัฐประหาร คมช. เมื่อปี 50 และวันนี้ก็กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกภายใต้อำนาจ คสช.


ระบอบทักษิณ กำลังจากไป ระบอบอำมาตยาธิปไตยกำลังกลับมาด้วยความเข้มแข็งกว่าเดิม คนไทยกำลังเผชิญสภาพ “หนีเสือ ปะจระเข้” โปรดติดตามกันต่อไป ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ตอนนี้


การดำเนินการเพื่อพิจารณาการกระทำความผิดของกลุ่มการเมืองตามพื้นฐานของข้อเท็จจริง ตามเนื้อผ้า ไม่สองมาตรฐาน และให้ความเป็นธรรม ย่อมทำให้สังคมกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น


หากมีการไล่ล่าฝ่ายตรงข้าม โดยไม่ยึดหลักนิติธรรม และ ไม่ยึดแนวทางสมานฉันท์เลย สังคมไทยจะเป็นสังคมที่จะยิ่งแตกแยก และ สะสมความรุนแรงและความขัดแย้งเอาไว้ พร้อมที่จะปะทุขึ้นได้ตลอดเวลา


สังคมจะอยู่ท่ามกลางการโต้กลับไปมาของขั้วอำนาจ ยากที่จะหาความสงบสุข ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อน


สิ่งที่เห็น ตำตา และ เกิดขึ้นทุกวันที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกเราว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นได้เสมอหากเราในฐานะเพื่อนร่วมชาติไม่พยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการทำความเข้าใจกัน


ไทยจะอยู่ในทศวรรษแห่งความไร้เสถียรภาพทางการเมืองหากร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลที่มีมาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ


แนวโน้มใหญ่ทางเศรษฐกิจกำลังเผชิญหน้ากับสภาวะขาลงทั้งที่เพื่อนบ้านประชาคมอาเซียนกำลังสดใส


ปัญหาฐานะทางการคลังและหนี้เสียครัวเรือน เป็น ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ


ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจระยะสั้นกำลังผงกหัวขึ้นในช่วงครึ่งแรกปีนี้ แนวโน้มระยะสั้นจะเปลี่ยนแนวโน้มใหญ่ให้เป็นขาขึ้นได้หรือไม่


มีหลายเหตุปัจจัยที่มีพลวัตสูงจนยากที่จะคาดการณ์ได้อย่างถูกต้องในวันนี้


ในหนังสือเล่มหนึ่งของ บิดาแห่งลัทธิทุนนิยมอย่างอดัม สมิธ “Theory of Moral” ได้ตั้งสมมติฐานในการมองธรรมชาติมนุษย์ว่าถูกกระตุ้นด้วยแรงผลักดัน 6 ประการ ได้แก่ ความรักตัวเอง ความเห็นอกเห็นใจ ความต้องการเป็นอิสระ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ ความขยันขันแข็งในการทำงาน และ ความโน้มเอียงที่อยากติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนกัน


เมื่อปล่อยให้มนุษย์ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการผลิต การบริโภค การลงทุน การค้าขายแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกลมกลืนกับแรงผลักดัน 6 ประการ ผลที่สุดจะทำให้เกิดมือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand) ของกลไกตลาดที่จะช่วยจัดการให้การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนของมนุษย์ กลายเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลผลิต และ ผลประโยชน์ร่วมกันของสังคม


แต่อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวของกลไกตลาดเกิดขึ้นเสมอ มือที่มองไม่เห็นบางครั้งก็ไม่ทำงาน ความเป็นธรรมทางสังคมทางเศรษฐกิจไม่เกิดขึ้น จึงต้องมีการปรับกระบวนทัศน์เพื่อให้เป็นทางออกให้กับประเทศด้วยความคิดใหม่ๆ


ในระบบเศรษฐกิจไทย มีปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจ และ การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Rent-Seeking) เกิดขึ้นตลอดเวลา กลุ่มแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจบางกลุ่มยืนยงได้ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม บางกลุ่มก็มีชะตากรรมขึ้นลงไปพร้อมกับอำนาจการเมือง


ค่าเช่าเหล่านี้ คือ สภาวะที่กิจการ (ทั้งกิจการเอกชนและรัฐวิสาหกิจ) สามารถแสวงหารายได้สูงกว่าปกติด้วยอำนาจผูกขาด ซึ่งในสภาวะที่มีการแข่งขันไม่ควรจะเกิดขึ้น ภาวะแบบนี้ทำให้มีการดึงทรัพยากรและผลประโยชน์ไปปรนเปรอกิจการผูกขาด ทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพ หากการกระจุกตัวของอำนาจเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากๆ ย่อมแปรเปลี่ยนสู่อำนาจทางการเมืองที่มีผลเสียต่อสถาบันประชาธิปไตย


ขณะที่การอำนาจผูกขาดที่เกิดจากนวัตกรรมและความสามารถในการจัดการที่ดีกว่า มีความแตกต่าง จากอำนาจผูกขาดที่อาศัยเส้นสายแห่งอำนาจรัฐ ผลงานวิจัยเชิงประจักษ์พบว่า อำนาจผูกขาดจากนวัตกรรมมีผลสุทธิเป็นบวกต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เป็นผลบวกต่อการกระจายรายได้


สภาพการผูกขาดและไม่เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจจะเกิดเพิ่มมากขึ้นด้วยอำนาจทางการเมืองในระบบปิด สิ่งนี้จะไปลดทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว


ภารกิจเฉพาะหน้าของสังคมไทยวันนี้ คือ ทำให้อย่างไรไม่ให้เกิด “ประชาธิปไตยสีเทา” และ “การโฆษณาชวนเชื่อทางเศรษฐกิจ” ขึ้นอีก เพราะทำให้เราไม่สามารถฝ่าข้ามแรงกดดันของปัญหาในประเทศ และ กระแสเชี่ยวกรากแห่งโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดนไปได้ ครับ


หนทางที่ดีที่สุดในการสร้างดุลยภาพเศรษฐกิจการเมืองไทย คือ ฟื้นฟูประชาธิปไตย ผลักดันการปฏิรูป และคืนอำนาจประชาชน