EquityCrowdfundingเข้าถึงทุน

EquityCrowdfundingเข้าถึงทุน

หนุนธุรกิจ พิชิตฝัน เศรษฐกิจมั่นคง

ท่านผู้อ่านครับ ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงโลกไปมากนะครับ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่สามารถระดมพลังจากมวลชน หรือ crowd power ได้อย่างไร้พรมแดน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจกิจการที่กำลังเริ่มต้น หรือ startup สามารถใช้ crowdfunding หรือการระดมทุนของกิจการจากคนจำนวนมากโดยแต่ละคนลงทุนกันไม่มากนัก และส่วนใหญ่ทำผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet-based crowdfunding) เพื่อการทดสอบตลาดว่าแนวคิดหรือผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอได้รับการตอบรับมากน้อยเพียงใด หากได้รับการตอบรับมาก ผลที่ได้รับก็คือการสนับสนุนเงินทุนอย่างมากและรวดเร็ว ธุรกิจก็จะสามารถระดมทุนและขยายธุรกิจให้เติบโตและแข่งขันได้ เป็นการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วยครับ 

การระดมทุนในรูปแบบ crowdfundingกระทำผ่านผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์“funding portal” รูปแบบcrowdfundingโดยทั่วไปมีอยู่ 4 ลักษณะด้วยกันครับ ได้แก่ (1) donation-basedcrowdfunding ซึ่งเป็นการรับบริจาคเงิน และผู้บริจาคจะไม่ได้รับผลตอบแทน เว้นแต่อาจได้รับประโยชน์ในรูปของการหักลดหย่อนภาษี (2) reward-basedcrowdfunding ผู้ลงทุนจะได้รับสิ่งของ สินค้า หรือสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่กิจการจะผลิตในอนาคต (3) peer-to-peer lending crowdfunding การที่ผู้ประกอบการกู้ยืมจากผู้ลงทุนโดยไม่มีการออกหลักทรัพย์ตอบแทน ทั้งนี้ ผลตอบแทนที่ผู้ให้กู้ยืมได้รับจะอยู่ในรูปของดอกเบี้ยและการชำระเงินต้นคืน และ (4) equitycrowdfunding คือการระดมทุนโดยการเสนอหุ้นตอบแทนแก่ผู้ลงทุน

เมื่อวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้สนับสนุนการจัดงานสัมมนาระดับนานาชาติ ชื่อว่า CrowdFunding Asia? Thailand Summit 2015 ครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) และธุรกิจเกิดใหม่ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย เกี่ยวกับการนำ crowdfundingมาใช้ประโยชน์เพื่อการระดมทุนและขยายธุรกิจ ให้เติบโตและแข่งขันได้ รวมทั้งส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตมีผู้ร่วมงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนกว่า 200 คน บรรยากาศในงานทั้งสองวัน เต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางจากผู้ที่มีประสบการณ์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำกับดูแล ผู้ประกอบการ และผู้ลงทุน จากหลากหลายประเทศครับ

เงินอาจจะเป็นปัญหา ทั้งแก่ผู้ที่มีและผู้ที่ไม่มีหรือมีไม่พอ สำหรับผู้ที่มีเงิน ปัญหาก็อาจจะเป็นว่า จะรักษาและทำให้เงินงอกเงยได้อย่างไร และสำหรับผู้ที่ต้องการเงิน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม ก็คงจะมีคำถามว่าจะหาเงินมาต่อยอดธุรกิจหรือทำความฝันให้เป็นจริงได้อย่างไร

crowdfundingเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาข้างต้นครับ ทางเลือกนี้ผู้ที่มีเงิน จะมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมในช่วงเริ่มต้น (innovative startup) ก็จะมีช่องทางให้เข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มขึ้น และสามารถนำเงินทุนไปสร้างนวัตกรรมให้เกิดสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้สำหรับผลที่จะเกิดขึ้นในภาพรวมก็ได้แก่ การส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้า

เกิดการสร้างงานที่มีมูลค่าเพิ่ม ประชาชนก็จะมีรายได้สูงขึ้น เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ระดับปานกลาง (Middle Income Trap) ด้วยการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานการผลิต(Product-driven Economy) ไปสู่เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นคุณค่าของสินค้า (Value-driven Economy) ทำให้ประเทศไทยสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปได้ครับ

ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาให้ธุรกิจที่มีศักยภาพ และมีความพร้อม มีช่องทางในการระดมทุนที่เหมาะสมผ่านตลาดทุนมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทุน ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมด้วย ในส่วนของ crowdfunding นอกจาก ก.ล.ต. จะสนับสนุนการจัดสัมมนาเพื่อเป็นเวทีให้สาธารณชนตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากการระดมทุนด้วยวิธีนี้แล้ว ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแลตลาดทุนก็อยู่ระหว่างพัฒนากฎเกณฑ์ที่จะส่งเสริมและกำกับดูแล equity crowdfundingซึ่งในการกำหนดหลักเกณฑ์นั้น จะพิจารณาให้เกิดความสมดุลทั้งในส่วนของการเอื้ออำนวยให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการระดมทุน และการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุน

แนวทางในการกำกับดูแลจะอยู่บนหลักการที่ว่าการเสนอขายหลักทรัพย์แบบ crowdfunding นั้น กิจการต้องเสนอขายผ่านทาง funding portal ที่ ก.ล.ต. กำกับดูแลครับ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลจะแบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ ๆ กล่าวคือ(1) หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นโดยจะพิจารณาให้เหมาะสมกับขนาดของกิจการและไม่ก่อภาระอันเกินควร (2) การกำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ของ funding portal ซึ่งทำหน้าที่ตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างกิจการและผู้ลงทุน โดย funding portal จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการระดมทุน ด้วยการช่วยเข้ามากลั่นกรองกิจการและเผยแพร่ข้อมูลของกิจการที่จะเข้ามาระดมทุนในระดับหนึ่ง (3) การกำหนดมาตรการเพื่อจำกัดความเสียหายและคุ้มครองผู้ลงทุน เนื่องจากการระดมทุนด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงสำคัญบางประการ เช่น การที่มิจฉาชีพอาจเข้ามาหลอกลวงโดยแฝงมาในรูปของกิจการที่ต้องการระดมทุน หรือความเสี่ยงที่ธุรกิจที่เกิดใหม่ซึ่งอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเพื่อจำกัดความเสียหาย เช่น การจำกัดเงินที่จะลงทุน และอาจกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องผ่านแบบทดสอบเกี่ยวกับความเข้าใจในการลงทุนเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนเข้าใจความเสี่ยงของกิจการที่ระดมทุน

ในการส่งเสริม equitycrowdfuding นี้ ก.ล.ต. ยินดีเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกท่านเพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวทางพัฒนาและการกำกับดูแลครับ นอกจากนี้ ขอสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ crowdfundingในประเทศไทยเพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดูแลสร้างวินัยกันเอง(Self-Discipline Organization : SDO) โดยสมาชิกสามารถประกอบด้วยหลายฝ่าย เช่น ผู้ให้บริการ fundingportal ผู้ระดมทุน ที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้ลงทุน เป็นต้น เพื่อที่จะช่วยกันร่วมคิด ร่วมสร้าง และขยายผล ให้crowdfundingในประเทศไทยสามารถเป็นอีกหนึ่งช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้กิจการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ในเร็ววัน ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อประเทศครับ