ฝันค้าง? เงินหยวนเป็นเงินตราระหว่างประเทศ

ฝันค้าง? เงินหยวนเป็นเงินตราระหว่างประเทศ

ก่อนหน้าปี 2004 จีนไม่อนุญาตให้เงินหยวนออกนอกประเทศเลย ตั้งแต่ปลายปี2004เป็นต้นมา ฮ่องกงได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจเงินหยวนกับบุคคลธรรมดาได้

ในเรื่องเงินฝาก บัตรเครดิต การรับส่งเงิน และ การแลกเปลี่ยนเงิน ปี 2007 China Development Bank ได้ออกพันธบัตรสกุลเงินหยวนในฮ่องกงเรียกว่า ติ่มซำบอนด์ ซึ่งน่าจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นการดูดซับสภาพคล่องเงินหยวนไม่ให้เหลืออยู่นอกประเทศมากเกินไป


ปี 2008 จีนเริ่มอนุญาตให้ใช้เงินหยวนในการทำการค้าชายแดนตามมณฑลต่างๆ ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน จีนได้ทำสัญญา Bilateral Currency Swap (BSA) กับประเทศอื่นๆ จำนวนทั้งสิ้น 28 ประเทศ ปี 2009 เป็นปีที่เริ่มต้นจึงมียอดเงินทำสัญญาสูงถึงประมาณ 700 พันล้านหยวนและลดลงมา จนมาเพิ่มถึงระดับ 700 พันล้านหยวนอีกครั้งในปี 2013 ที่มีประเทศทางยุโรปเข้ามาร่วมด้วย ธุรกรรมการใช้เงินหยวนก็เริ่มเปลี่ยนจากการค้ามาครอบคลุมถึงการลงทุนด้วยในปี 2010


นโยบายต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ อาจจะไม่ได้มีการประกาศชัดเจนว่ามีวัตถุประสงค์ใด แต่ก็คงเดาได้ไม่ยากว่า จีนมีความต้องการที่จะเห็นหยวนกลายเป็นเงินตราระหว่างประเทศ เนื่องจากได้เห็นการเอาเปรียบประเทศอื่นของสหรัฐอเมริกาจากฐานะที่เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินตราระหว่างประเทศ


อย่างไรก็ตาม การทำให้เงินหยวนจัดหาได้ง่ายไม่ได้นำไปสู่การใช้เงินหยวนเสมอไป เนื่องจากผู้ใช้และผู้รับเงินหยวนมีอิสระที่จะเลือกได้ว่าจะยอมรับหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ผู้นำเข้าสินค้าของจีนเลือกจะคิดราคาเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ แล้วชำระเป็นเงินหยวนเนื่องจากจะใช้เงินหยวนน้อยลงเมื่อเทียบกับวันสั่งของจากสาเหตุที่ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดเวลา กรณีเช่นนี้อาจทำได้กับฮ่องกง แต่อาจทำไม่ได้กับประเทศอื่นที่ยังไม่ยอมรับเงินหยวน เพราะว่ามีฮ่องกงเท่านั้นที่อยากจะใช้เงินหยวนเพื่อซื้อสินค้าจากจีนอยู่แล้ว อีกด้านหนึ่ง จีนให้เงินหยวนแก่ผู้สั่งสินค้าจากจีนกู้ยืมโดยการให้กู้ยืมหรือ BSA แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากผู้สั่งสินค้าจากจีนโดยใช้เงินหยวนจะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนในเงินสกุลของตัวเอง สภาวะเช่นนี้สะท้อนออกมาในลักษณะที่ปริมาณเงินหยวนตามสัญญา BSA ส่วนใหญ่ใช้ไม่หมด ซึ่งก็เป็นตัวชี้ความนิยมต่อมาตรการนี้ได้ดี


ในทำนองเดียวกัน การออกติ่มซำบอนด์ได้รับการต้อนรับอย่างดีทั้งในฮ่องกงและในยุโรป เนื่องจากค่าเงินหยวนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ผู้ถือติ่มซำบอนด์จะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้เงินสกุลของตนเอง แต่ผู้ออกติ่มซำบอนด์เองไม่น่าจะได้รับผลดี นอกจากผู้นั้นจะใช้เงินไปลงทุนในจีน ตัวอย่างเช่น ธนาคารหรือธุรกิจของจีนเอง แมคโดนัลด์ หรือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย


ดังนั้น ธุรกรรมที่ใช้เงินหยวนจึงเกิดความไม่สมดุลอย่างยิ่ง โดยที่จะเอียงไปที่สินค้านำเข้าและสินทรัพย์ทางการเงินที่ส่งออก การตั้งสาขาของธนาคารจีนในต่างประเทศให้เป็นศูนย์หักบัญชีธุรกรรมเงินหยวนก็เป็นการอำนวยความสะดวกหรือส่งเสริมให้ใช้เงินหยวนอย่างหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ


แนวทางอีกอย่างหนึ่งที่จีนใช้คือ การให้เงินกู้สกุลหยวนแก่ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาและแอฟริกามาตั้งแต่ปี 2010 และ มาผลักดันอย่างแรงในปี 2015 นี้เองในรูปของ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) ซึ่งจีนถือหุ้นประมาณครึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ และมีประเทศอื่นๆ อีก 26 ประเทศถือส่วนที่เหลือ ที่น่าสนใจคือ ประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาอย่างนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย และ เกาหลีใต้ ได้ประกาศจะเข้าร่วมด้วย ในองค์กรใหม่นี้จีนจะมีเสียงมากขึ้นโดยไม่ต้องอดทนกับอิทธิพลของสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นใน Asian Development Bank (ADB) เป็นที่คาดการณ์กันว่า ความต้องการใช้เงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆ ในเอเชียจนถึงปี 2020 จะคิดเป็นจำนวนเงินถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในที่สุดแล้วจีนอาจไม่ต้องทะเลาะกับ ADB ก็ได้ เพราะว่ามีปริมาณเค้กให้แบ่งกินได้เหลือเฟือ


ไม่ว่าลึกๆ แล้ว จีนจะมีความต้องการให้หยวนเป็นเงินตราระหว่างประเทศหรือไม่ แต่จีนหรือไม่ว่าประเทศไหนๆ ก็ทราบดีว่า เงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะที่เป็นเงินตราต่างประเทศมีผลประโยชน์เพียงใดแก่ประเทศเจ้าของเงินตราสกุลนี้ สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ การพิมพ์กระดาษออกมาแลกกับสินค้าของประเทศอื่นๆ ซึ่งเปรียบเสมือนได้มาเปล่าๆ ดังนั้น ขั้นตอนต่างๆ ที่จีนดำเนินการอยู่กับเงินหยวนจะได้อะไรบ้าง สมควรแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง


จีนก็เหมือนประเทศที่มีการชำระเงินระหว่างประเทศเกินดุลทั่วไป คือ มีปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศมากเกินกว่าที่จะใช้หนุนหลังปริมาณเงินหมุนเวียนของตน ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศที่มากเกินไปจะทำให้เกิดปริมาณเงินสกุลของตัวเองมากเกินไปจนต้องออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยตลอดเวลา ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศซึ่งเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเสียส่วนใหญ่ก็มีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง ทำให้ธนาคารกลางขาดทุนตลอดเวลา


การใช้เงินหยวนชำระสินค้านำเข้าแทนเงินดอลลาร์สหรัฐจะลดปริมาณสภาพคล่องที่จะต้องดูดซับและการขาดทุนดอกเบี้ยในเบื้องต้น แต่ผู้ได้รับเงินหยวนก็ต้องนำเงินกลับไปใช้ที่จีนหรือไม่ก็เป็นเงินฝากที่จีน สภาพคล่องจึงไม่ลดลงในที่สุด ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศจะมีปริมาณมากกว่ากรณีที่ไม่ใช่เงินหยวนสำหรับสินค้านำเข้า หรือไม่ ในกรณีที่เงินหยวนอยู่ต่างประเทศก็ต้องออกติ่มซำบอนด์ดูดซับเช่นเดียวกันและด้วยอัตราดอกเบี้ยโดยส่วนใหญ่สูงกว่าในประเทศ ดังนั้น การใช้เงินหยวนเพื่อชำระสินค้านำเข้าหรือการให้สินเชื่อแก่ต่างประเทศเป็นเงินหยวนเพื่อชำระสินค้าส่งออกเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ จะได้อะไรบ้าง?


ในเชิงของผู้นำเข้าจีน ผลดีคือ กำไรจากแนวโน้มค่าเงินหยวนที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ประเทศโดยรวมไม่ได้อะไร แถมเกิดผลเสียในรูปส่วนต่างดอกเบี้ย แต่ในเชิงของผู้ส่งออกซึ่งส่วนใหญ่ได้รับใบสั่งจากประเทศที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ผลที่เกิดขึ้นจะตรงกันข้าม ส่วนการออกติ่มซำบอนด์ในต่างประเทศนั้นไม่มีความจำเป็นเพราะว่าสภาพคล่องในประเทศก็มากเกินพอแก่ความต้องการเนื่องจากการเกินดุลชำระเงินอยู่แล้ว ดังนั้นการใช้เงินหยวนกับการค้าระหว่างประเทศจึงไม่เกิดผลดีแก่ประเทศโดยรวม ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ก็ยังใช้เงินดอลลาร์สหรัฐและได้รับผลเสียจากการใช้เงินหยวนชำระค่าสินค้าจากจีน


แล้วเงินหยวนจะกลายเป็นเงินตราต่างประเทศในกรณีใด? คำตอบอยู่ที่บทความของผู้เขียน ซึ่งได้ตีพิมพ์ไว้ในกรุงเทพธุรกิจเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยมีใจความโดยสรุปดังนี้


ในสมัยศตวรรษที่ 13-17 ฟลอเรนซ์ เจนัว และ เวนิส เป็นศูนย์กลางการเงินเนื่องจาก (1) ธุรกิจกรรมทางการเงินเกิดขึ้นในระหว่างเมืองตั้งแต่ 2 เมืองขึ้นไป (2) การใช้เงินทุนกับแหล่งเงินทุนเกิดขึ้นพร้อมกันในเมืองเดียวกัน (3) การให้กู้เงินแก่รัฐบาลต่างประเทศ และ (4) การแปลงเงินกู้ยืมที่ให้แก่รัฐบาลต่างประเทศเป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อขายได้ ศูนย์กลางการเงินอย่าง แอนต์เวิร์ป อัมสเตอร์ดัม และลอนดอน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ก็มีลักษณะของข้อ (2) ข้อ (3) และ (4) ข้างต้นอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน อีกทั้งมีธุรกิจภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญนอกไปจากรัฐบาลประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของศูนย์กลางการเงินคือ รัฐบาลของประเทศอันเป็นที่ตั้งรับประกันว่าการให้กู้ยืมแก่รัฐบาลของตนเองจะต้องมีขีดจำกัด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าค่าของเงินตราจะไม่เสื่อมถอยเนื่องจากมีปริมาณเงินมากเกินไป ด้วยปริมาณธุรกิจอันมากมายมหาศาลของอังกฤษที่มีอาณานิคมทั่วโลกในยุคนั้น อังกฤษจึงกลายเป็นศูนย์กลางการเงินเพียงแห่งเดียวและเงินปอนด์กลายเป็นเงินตราระหว่างประเทศเพียงสกุลเดียวที่ทรงอิทธิพลที่สุด


ในศตวรรษที่ 20 สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศเจ้าหนี้ที่ใหญ่ที่สุดและมีปริมาณธุรกรรมมากที่สุดอันเนื่องมาจากรายได้ประชาชาติที่มากที่สุด อีกทั้งสถาบันการเงินอเมริกันออกไปทำธุรกิจในประเทศอื่นๆ อย่างขนานใหญ่ เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจึงกลายเป็นเงินตราระหว่างประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุด อันเนื่องจากบทบาทที่ลดน้อยลงของเงินปอนด์ด้วย แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีสถานะเปลี่ยนเป็นลูกหนี้ในทศวรรษที่ 1980 แต่ก็เป็นลูกหนี้รายใหญ่ของโลกในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังคงได้รับความเชื่อถือในฐานะที่เป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ทั่วโลก หรือ ถ้าหากผู้ถือเงินดอลลาร์สหรัฐจะนำไปซื้อสินค้าและบริการในสหรัฐอเมริกาเองก็ยังเชื่อว่าจะสมความปรารถนา


การพิจารณาว่า เงินตราของประเทศใดจะกลายเป็นเงินตราระหว่างประเทศต้องกระทำจากคุณสมบัติของประเทศต่างๆ ดังที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น ซึ่งน่าจะครอบคลุมกรณีต่างๆ ได้ค่อนข้างครบถ้วน การพิจารณาเฉพาะประเทศหนึ่งประเทศใดและเฉพาะช่วงเวลาหนึ่งเวลาใดเหมือนอย่างที่ Barry Eichengreen and Masahiro Kawai ของ Asian Development Bank Institute เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาเฉพาะในทศวรรษที่ 1910-1920 มองข้ามประเด็นสำคัญที่สหรัฐอเมริกากลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของโลกในยุคนั้น


เมื่อเป็นเช่นนี้ จีนจะเทียบได้กับกรณีไหนล่ะ จีนเป็นประเทศที่มีการชำระเงินระหว่างประเทศเกินดุล จึงน่าจะมีลักษณะใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1910-1970 ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ แต่เนื่องจากจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่เฉพาะกับสหรัฐอเมริกาซึ่งมีเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินตราระหว่างประเทศอยู่แล้ว จีนจึงควรจะสร้างความเป็นเจ้าหนี้กับประเทศที่เหลือทั้งหมด ซึ่งก็คือการทำให้การชำระเงินระหว่างประเทศด้านเงินทุนติดลบมากๆ นั่นเอง การผลักดัน AIIB จึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องอย่างหนึ่ง การเปิดสาขาธนาคารของจีนในประเทศต่างๆ เพื่อให้เงินกู้ยืมแก่ธุรกิจหรือรัฐบาลในแต่ละประเทศก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง แต่จีนจะต้องผลักดันแนวทางทั้งสองให้มากกว่านี้ ซึ่งอาจจะหักล้างกับแรงกดดันต่อค่าเงินหยวนที่เกิดขึ้นจากดุลชำระเงินเดินสะพัดเป็นบวกได้ด้วย ค่าเงินหยวนโดยรวมจึงน่าจะมีเสถียรภาพมากกว่าในปัจจุบันนี้และผ่อนคลายแรงกดดันต่อมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศของจีนในทางลบได้ดีกว่ากรณีที่พยายามกำจัดเงินดอลลาร์สหรัฐโดยการสั่งสินค้าเข้าหรือให้กู้ยืมออกไป


อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายเงินหยวนเป็นเงินตราระหว่างประเทศคงต้องใช้เวลาอีกพอควร แต่ถ้าหากจีนยังคงใช้วิธีให้เงินหยวนไปชำระสินค้านำเข้า ความฝันที่จะให้เงินหยวนเป็นเงินตราต่างประเทศคงจะต้องค้างไปอีกนานกว่าที่ควรจะเป็น