"ปรองดอง"อย่างไรจึงไม่"เกี้ยเซี้ย"?

"ปรองดอง"อย่างไรจึงไม่"เกี้ยเซี้ย"?

คำว่า “รัฐบาลแห่งชาติ” หรือ “รัฐบาลเพื่อความปรองดองแห่งชาติ” ฟังเหมือนจะเป็นของแสลงสำหรับการเมืองไทย

     เพราะเอ่ยสูตรนี้คราใด ก็จะมีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ “ซูเอี๋ย” หรือ “ฮั้ว” กันของกลุ่มการเมืองเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะได้อะไรจริงจัง

    แต่คนที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้บอกว่า ถ้าไม่หาสูตรการเมืองใหม่ เลือกตั้งครั้งใหม่เสร็จ ฝ่ายที่ขัดแย้งกันมาหลายปีก็จะกลับมาตีกันอีก

    เป็นความห่วงกังวลที่คนไทยจำนวนไม่น้อยคิดตรงกัน จึงทำให้บางคนเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเร็ว เพราะการเมืองเน่า ๆ จะกลับมาอีก แต่ก็มีอีกบางคนที่เชื่อว่าถ้าเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อย ๆ ก็จะสร้างความขัดแย้งอยู่ดี

    เพราะทุกคนต้องการ “ประชาธิปไตย” ที่ประชาชนคนไทยมีสิทธิเสรีภาพเพื่อปกครองตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้ “การเมืองแบบเก่า ๆ”  หวนกลับมา เพราะไม่ต้องการเห็นความวุ่นวายปั่นป่วนที่หลอกหลอนคนไทยก่อนหน้านี้ จนบ้านเมืองไม่เป็นอันเดินไปข้างหน้าได้

    การที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบให้มี “คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ” จำนวน 15 คน จึงน่าสนใจว่าจะตอบโจทย์นี้ได้หรือไม่

    คณะกรรมการอิสระฯ ชุดนี้แบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ฝักใฝ่การเมืองหรือความขัดแย้ง

    คณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่กรรมการเพื่อการ “เกี้ยเซียะ” หรือ “ต่อรอง” แต่มีหน้าที่หาข้อยุติความขัดแย้ง รวมถึงศึกษาหาข้อเท็จจริง การเยียวยา การดูแล รวมถึงเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ เมื่อบุคคลได้ให้ความจริงและสำนึกผิดต่อกรรมการ รวมถึงเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองบอกว่า แนวทางการปรองดองที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนั้นเชื่อว่าจะทำให้เกิดข้อยอมรับของ 2 ฝ่ายพอสมควร โดยให้ทุกฝ่ายช่วยในการปฏิรูปและการปรองดอง ไม่ให้บ้านเมืองกลับไปสู่ความขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา

    วิธีหนึ่งคือการสร้างกลไกให้พรรคคู่ขัดแย้ง สามารถทำงานกันได้ในรัฐสภา โดยไม่ผลักให้เป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แม้สองพรรคจะไม่ชอบกันก็ต้องทำงานร่วมกันได้

    ดร.เอนก บอกว่า “นี่ไม่ใช่การจูบปาก หอมแก้ม แต่เป็นความร่วมมือร่วมใจกัน และต้องไม่ใช่ให้ทหารเข้ามาสืบทอดอำนาจด้วย”

    มีคำถามว่านี่เป็นการเสนอให้ตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” หรือไม่ คำตอบยังไม่ชัด แต่แนวโน้มดูเหมือนจะเป็นการเขียนกติกาให้ฝ่ายที่เคยขัดแย้งต้องทำงานร่วมกันทั้งในสภาและในรัฐบาล เพื่อไม่ให้บรรยากาศของความวุ่นวายปั่นป่วนกลับมาอีกครั้ง

    ที่บอกว่า “ไม่ผลักดันให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล” น่าจะเป็นประเด็นที่น่าวิเคราะห์ว่า ประเทศไทยจะออกแบบการเมือง “ประชาธิปไตยแบบปรองดอง” ให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติจริงจังได้หรือไม่

    เพราะหากเป็นเพียงการเขียนสูตรปรองดองบนกระดาษ ไม่สามารถนำไปปฏิบัติอย่างได้ผลจริงจัง ก็จะเป็นเพียงลีลาของเจตนาดีที่ไม่อาจป้องกันปัญหาในอนาคตอันใกล้นี้ได้

    สังคมไทยก็จะกลับไปสู่ภาวะสิ้นหวังอีกครั้งหนึ่ง และคราวนี้จะเป็นความสิ้นหวังที่หนักหน่วงรุนแรงกว่าที่ผ่านมาด้วยซ้ำ

    เพราะเราจะก้าวจาก “ประชาธิปไตยฉ้อฉล” สู่ “เผด็จการเบ็ดเสร็จ” และข้ามไปสู่ “ประชาธิปไตยปั่นป่วน” อีกรอบหนึ่ง

    เพราะเราจะยังสาละวนอยู่กับการแสวงหา “ประชาธิปไตยในอุดมคติ” ขณะที่คุณภาพนักการเมืองยังห่างจากจุดแห่งอุดมการณ์เหลือเกิน

   เพราะหากหาสูตรปรองดองที่แท้จริงไม่ได้ นั่นแหละ “เสียของ” จริง ๆ