จิตวิญญาณ HR

จิตวิญญาณ HR

ในฐานะผู้บริหารงานด้าน HR คนหนึ่ง บางครั้งผมก็เคยต้องตอบข้อสงสัยของคนที่อยู่ในแวดวงวิชาชีพอื่นๆ เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และอนาคตของงาน HR

อย่างละเอียดอยู่หลายครั้ง รวมถึงคำถามที่ว่าทำไมผมถึงเลือกทำงานด้านนี้?


อาจจะกล่าวได้ว่าในเมืองไทยแม้จะมีบุคลากรที่ทำงานด้าน HR นับรวมกันได้หลักหมื่นคน แต่เส้นทางอาชีพด้าน HR ที่ปรากฏต่อสายตาบุคคลภายนอกก็ยังถือว่าไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก การเรียนการสอนเพื่อเตรียมบุคลากรเข้าทำงานในสายงานนี้ก็มีไม่มากเท่าที่ตลาดแรงงานต้องการ บุคลากรที่ทำงานในวงการ HR มีบุคคลที่ผ่านการศึกษาอบรมด้าน HR มาโดยตรงน้อยมาก และส่วนใหญ่มักจะเป็นบุคคลที่โยกย้ายมาจากสายงานอื่น ในมุมมองของคนภายนอกแล้ว งานของ HR จึงดูค่อนข้างลึกลับ อธิบายยาก คนภายนอกจึงตัดสินจากสิ่งที่ตัวเองเห็นโดยผิวเผิน นั่นคือ HR คงมีหน้าที่แค่ประกาศรับสมัครงาน สัมภาษณ์งาน ปฐมนิเทศ ดูแลสวัสดิการและผลประโยชน์ตามกฎหมาย โอนเงินเดือนให้ตรงเวลา ฝึกอบรมและช่วยควบคุมวินัยพนักงาน อาจเป็นเพราะงานของ HR มีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจต่อโลกภายนอกน้อยเกินไป ประกอบกับบุคลากรจำนวนไม่น้อยทางด้าน HR เองยังขาดความลึกซึ้งในวิชาชีพซึ่งผมคิดว่าน่าจะมาจากการถ่ายทอดความรู้ในวงการนี้ยังมีจำกัดมาก สุดท้ายในสายตาของคนทั่วไป งาน HR จึงมักถูกมองว่าเป็นงานที่ “ใครๆ ก็ทำได้” และไม่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้านมากมาย


ในความคิดของผมนั้นมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ นั่นคือเห็นด้วยที่งาน HR นั้น “ใครๆ ก็ทำได้” เราเปิดกว้างรับผู้คนจากแทบทุกสาขาอาชีพที่สนใจ เพราะไม่แน่ว่าคนเหล่านั้นอาจมีโอกาสได้ปรับใช้ความรู้เดิมของตัวเองให้เข้ากับงาน HR จนกลายเป็นความรู้ใหม่ๆ ก็ได้ เช่น อดีตนักบัญชีอาจจะประยุกต์วิธีคำนวณต้นทุนในการพัฒนาบุคลากร คำนวณวิธีหา ROI (Return on Investment) จากกิจกรรมต่างๆ ที่ HR จัด หรืออดีตวิศวกรอาจนำแนวคิดด้านการปรับปรุงกระบวนการมาออกแบบกระบวนการทำงานของ HR ใหม่ให้รวดเร็วขึ้น ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น อดีตพนักงานสาย IT อาจจะประยุกต์ระบบ E-HR เพื่อให้บริการพนักงานได้อย่างสะดวกสบายและลดเวลาที่เราต้องสูญเสียไปกับเอกสารหรืองานที่ต้องทำซ้ำๆ ออกไป นี่คือข้อดีที่ผมเห็นด้วยในการต้อนรับบุคคลจากสาขาอาชีพต่างๆ มาทำงานด้าน HR


แต่ที่ผมบอกว่ามีส่วนที่ไม่เห็นด้วยก็คือ ผมต้องกำชับเพิ่มว่า “งาน HR นั้นใครๆ ก็มาทำได้ก็จริง แต่ผู้ที่ทำต้องเป็นบุคคลที่มีจิตวิญญาณของ HR เท่านั้น” คำว่าจิตวิญญาณของ HR นั้นเป็นคำที่นิยามได้ยาก แต่ในแวดวงของเราจะรู้กันดีว่าใครมีหรือไม่มีจิตวิญญาณที่ว่านี้ สำหรับผมอาจให้หลักสังเกตสั้นๆ ได้ว่าจิตวิญญาณของ HR ที่ไม่ว่าใครที่กำลังทำหรือจะย้ายมาทำงานด้าน HR ควรมีดังนี้ครับ


Sense of Humanness คือสำนึกและไหวพริบในเรื่อง “คน” หมายถึง รักที่จะทำงานกับคนทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นงานที่จุกจิกและไม่มีวันจบสิ้น มีความรักในเพื่อนมนุษย์ อยากช่วยเหลือและส่งเสริมเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้ประสบความสำเร็จ ผมเชื่อว่าข้อนี้สำคัญที่สุดเพราะเมื่อมีสิ่งนี้แล้วสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นในการทำหน้าที่ด้าน HR ก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ เช่น ความรับผิดชอบในงาน ความผูกพันในหน้าที่และองค์กร จริยธรรมในการปฏิบัติงาน การเป็นแบบอย่างที่ดี ฯลฯ


Sense of Logic and Thinking out of the box คือ สำนึกและไหวพริบด้านการคิดทั้งในและนอกกรอบ กล่าวคือการทำงานด้าน HR นั้นเราจะต้องมีทั้งความชัดเจนและมีกระบวนการคิดเป็น Concept ที่ดีเพื่อให้สามารถออกแบบกระบวนการด้าน HR ได้อย่างราบรื่น ตรงตามความจำเป็นทางธุรกิจ สามารถชี้ขาดปัญหาในการบริหารคนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีหัวพลิกแพลงหรือใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างไรเพื่อผลักดันให้การทำงานนั้นประสบความสำเร็จทีละส่วนย่อยจนทำให้ภาพใหญ่ของงานบรรลุผลตามที่วางแผนไว้ และสร้างความสมดุลให้แก่ชีวิตของพนักงาน


Sense of Continuous Learning เนื่องจากวงการ HR ก็เหมือนวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป กล่าวคือ มีองค์ความรู้ เทคนิค การวิจัยทดลองโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยด้านจิตวิทยาองค์กรใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ ผู้ที่ทำงานด้าน HR ที่ดีจะต้องหมั่นศึกษาความรู้ใหม่ๆ ทั้งจากการอ่านรายงานการวิจัย บทความวิชาการ เข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้มีประสบการณ์เป็นระยะ อย่าสำคัญตัวเองว่าเป็นน้ำเต็มแก้ว มิฉะนั้นท่านจะเป็น HR ที่ล้าหลังและทำหน้าที่ได้เพียงเฉพาะอย่าง ในขณะที่โลกกำลังต้องการ HR ที่มีความรู้ลึกซึ้งและรอบด้านมากขึ้นทุกที


Sense of Dealing with People ในการทำงานด้าน HR นั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเราจะต้องสื่อสารประสานงานกับพนักงานทุกระดับตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับผู้บริหาร ทั้งการประสานงานในเรื่องทั่วไปและยามสถานการณ์ไม่ปกติ หลายครั้งที่เราต้องบริหารความขัดแย้ง ความคาดหวัง และความไม่เข้าใจของพนักงานให้ได้ เช่น หัวหน้างานที่ประเมินผลพนักงานสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง สถานการณ์ข่าวลือในหมู่พนักงาน พนักงานบางส่วนไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานจน HR ต้องเข้าไปดูแล หรือแม้แต่สถานการณ์ฉุกเฉินในองค์กรที่ต้องสื่อสารเพื่อให้พนักงานร่วมแรงร่วมใจกันฟันฝ่าปัญหาสำคัญร่วมกัน ฯลฯ


จะเห็นได้ว่างานของ HR นั้นมีความสลับซับซ้อนลงในรายละเอียดมากและมีความอ่อนไหวต่อความอยู่รอดขององค์กรสูง การมีจิตวิญญาณของ HR เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่บ่งชี้ว่าแต่ละคนมีความเหมาะสมที่จะมาเริ่มทำงานในวิชาชีพนี้หรือไม่ ในโอกาสต่อๆ ไปผมจะนำกรณีศึกษาจากประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกันครับว่าจิตวิญญาณ HR แต่ละด้านนั้นมีความสำคัญต่อการทำงานและส่งผลกระทบที่สำคัญต่อธุรกิจอย่างไรครับ