ราคาน้ำมันลดส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิต

ราคาน้ำมันลดส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิต

ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงมาอย่างมากในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

แม้จะส่งผลในด้านบวกสำหรับผู้บริโภคที่สามารถใช้น้ำมันได้ในราคาที่ถูกลง แต่ก็ส่งผลกระทบในด้านลบแก่ผู้ผลิตน้ำมัน

ทั้งในด้านผู้ผลิตแต่ละราย อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และในภาพรวมของรัฐ หรือประเทศที่มีรายได้หลักจากการขายและส่งออกน้ำมัน

ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ ต่างทราบว่า การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญมากต่ออัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกตราสารจะต้องจ่าย และหมายถึงราคาของตราสารหนี้ด้วย

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือขนาดใหญ่ในโลกนี้มี 3 บริษัท คือ มูดี้ส์อินเวสเตอร์เซอร์วิส (Moodys) เอสแอนด์ พี (S&P) และ ฟิทช์เรทติ้ง (Fitch Ratings) ซึ่งล่าสุดได้มีการทยอยออกเอกสารเกี่ยวกับแนวโน้มเครดิตของรัฐหรือประเทศผู้ผลิตน้ำมันออกมา สะท้อนให้ผู้ลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในตราสารของประเทศหรือรัฐต่างๆเหล่านี้

ประเทศที่ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2558 ที่ผ่านมาคือ รัสเซีย โดย ฟิทช์เรทติ้ง ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัสเซีย จาก BBB เหลือ BBB- เนื่องจากปัญหาทั้งราคาน้ำมัน ค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลงอย่างมาก เรื่องการถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากหลายประเทศ จนส่งผลกระทบอย่างแรงต่อเศรษฐกิจทั้งนี้ มูดี้ส์ ยังคงให้อันดับเครดิตรัสเซียเท่ากับ Baa2 (เทียบเท่า BBB) และ เอสแอนด์พี ให้ BBB- อยู่แล้ว โดยทั้งสองผู้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ ให้แนวโน้ม เป็นลบ แก่รัสเซีย

อีกประเทศหนึ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าคือ เวเนซุเอลา ซึ่งมีปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนราคาน้ำมันลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในปัจจุบันเท่ากับ CCC โดยฟิทช์ ในขณะที่ มูดี้ส์ให้ Caa3 (เทียบเท่า CCC-) และ เอสแอนด์พี ยังให้ดีกว่าเล็กน้อยคือ CCC+ แต่แนวโน้ม เป็นลบ ทั้งนี้เวเนซุเอลามีหนี้ต่างประเทศอยู่ 33,771 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีนักวิเคราะห์ทำนายว่าเวเนซุเอลาคงจะต้องเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ในไม่ช้า มิฉะนั้นจะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงมาก โดยบลูมเบิร์กได้คำนวณจากสัญญาณที่เกิดขึ้นในตลาด Credit Default Swap ว่าใน 5 ปี เวเนซูเอล่ามีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 97.86%

ไนจีเรีย ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าเป็นห่วง นอกจากราคาน้ำมันที่ลดลงจะทำให้รายได้ของประเทศลดลงแล้ว เงินทุนสำรองต่างประเทศของไนจีเรียยังอยู่ในระดับต่ำ จึงจะได้รับผลกระทบมากทีเดียว

หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาพึ่งพารายได้จากน้ำมัน ที่พึ่งพามากที่สุดน่าจะเป็นรัฐอลาสกา โดยประมาณ 90% ของแหล่งที่มาของงบประมาณของรัฐอลาสกา มาจากรายได้น้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันลดลงไปมาก มูดี้ส์อินเวสเตอร์เซอร์วิส ก็ประกาศในเดือนธ.ค.2557 ปรับแนวโน้มเครดิตของรัฐอลาสกาจาก มีเสถียรภาพ เป็น เป็นลบ

รัฐอลาสกาได้ประกาศว่าเพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับภาษีต่างๆ ที่รัฐจะเก็บได้น้อยลง รัฐจะลดการลงทุนของรัฐลงประมาณ 50% เลยทีเดียว

นอกจากรัฐอลาสกาแล้ว รัฐอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกาที่พึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นสัดส่วนที่สูงคือ รัฐนอร์ธดาโกต้า รัฐโอกลาโฮมา ไวโอมิง หลุยเซียน่า และเท็กซัส โดยมีการคาดการณ์ว่า หากราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำเช่นในขณะนี้ คือ ประมาณ 50ดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงกลางปีนี้ คาดว่าบริษัทน้ำมัน และบริษัทให้บริการสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำมันในสหรัฐอเมริกา อาจจะมีการเลิกจ้างครั้งใหญ่ หลายหมื่นคน

แม้ว่ารัฐเท็กซัสจะมีรายได้จากอุตสาหกรรมและธุรกิจอื่นด้วย แต่ก็เป็นรัฐที่ผลิตน้ำมันดิบถึง 40% ของน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงที่ผ่านมาการค้นพบน้ำมันและก๊าซในชั้นหินดินดาน หรือ Shale Oil/ Shale Gas ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ข้อมูลบอกว่า รัฐเท็กซัสแห่งเดียวเป็นผู้ครองตลาดถึง 90% ของกำลังผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

รายงานข่าวแจ้งว่าเพียงในเดือนต.ค. และพ.ย.2557 สองเดือนซึ่งราคาน้ำมันยังสูงกว่าปัจจุบัน อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในรัฐเท็กซัส มีตำแหน่งงานลดลงไปถึง 2,300 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ บริษัทน้ำมันและบริษัทที่เกี่ยวข้องในสหรัฐอเมริกา มีการจ้างงานประมาณ 10 ล้านคน

ใครบ้างที่มีโอกาสถูกกระทบอีก นอกจากบริษัทผู้ผลิตและขุดเจาะน้ำมันซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากรายได้ที่ลดลงแล้ว เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบไปด้วยค่ะ หลายคนอาจหลุดจากทำเนียบอภิมหาเศรษฐีพันล้านเหรียญไปชั่วคราว

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันในสัดส่วนที่สูง ก็จะได้รับผลกระทบ โดยธนาคารในรัฐเท็กซัสที่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ผลิตน้ำมันขนาดกลางและเล็ก คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ไม่ใช่แต่ธนาคารเท่านั้น ผู้ปล่อยกู้ ซึ่งรวมถึงผู้ลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้ประเภท high yield ของบริษัทที่ทำการสำรวจและผลิตน้ำมันในชั้นหินดินดาน ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย หากราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำนานเกินไป และผู้ผลิตเหล่านั้นไม่แข็งแรงพอ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนประเภทนี้ก่อนค่ะ

ประเทศผู้มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันในตะวันออกกลาง ก็ถูกกระทบเช่นกัน แต่ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีภาครัฐที่แข็งแกร่ง มีหนี้ต่างประเทศน้อย จึงยังคงมีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดีอยู่ เช่น ซาอุดีอารเบีย มีหนี้ต่างประเทศ 8,769 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้รับอันดับเครดิต Aa3 (เทียบเท่า AA-) โดยมูดี้ส์ ในขณะที่ฟิทช์ให้ AA และ เอสแอนด์พีให้ AAะ

สำหรับคูเวต มีหนี้ต่างประเทศ 11,939 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้อันดับเครดิตเทียบเท่า AA จากทุกค่ายค่ะ (Aa2 จากมูดี้ส์และ AA จาก เอสแอนด์พีและฟิทช์)

ไม่มีใครตอบได้ว่าราคาน้ำมันจะยืนอยู่ในระดับต่ำนานแค่ไหน แต่การที่เจ้าชายอัลวาลีด์ แห่งซาอุดีอารเบีย ตรัสเมื่อต้นปีนี้ว่า คงจะไม่ได้เห็นราคาน้ำมันที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อีกตลอดไป ก็ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันรู้สึกหนาวมากยิ่งขึ้น โดยตอนนี้ก็เฝ้าแต่หวังว่า ราคาจะกลับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ในเวลาอีกไม่นาน

ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงนี้ ทำให้ความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อหดหายไปหมด ตอนนี้เงินเฟ้อไม่ได้เป็น ผู้ร้าย อีกต่อไป ตรงกันข้าม สำหรับญี่ปุ่นแล้ว อยากให้มี เงินเฟ้อ เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้ปรับขึ้นเงินเดือนและค่าจ้างให้พนักงานบ้าง

ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันอย่างไทยเรานี้ ผู้บริโภคก็จะได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกลง อาจจะลดต้นทุนการผลิตได้บ้าง แต่อยากเตือนว่า แม้จะราคาถูก แต่ก็ควรจะใช้อย่างประหยัดต่อไปนะคะ ยังต้องสร้างสำนึกของการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าค่ะ