นวัตกรรมกับความเจริญทางเศรษฐกิจ

นวัตกรรมกับความเจริญทางเศรษฐกิจ

ในช่วงหลังจะมีการพูดถึงนวัตกรรม (innovation) กันมากว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญทางเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองว่าหากประเทศไทยลงทุนด้านนวัตกรรมมาก เศรษฐกิจก็จะเจริญเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มักจะมองไปถึงรายจ่ายด้านนวัตกรรมว่าควรคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1% ของจีดีพี เป็นต้น และมักจะมีความเข้าใจว่ารัฐบาลจะต้องเป็นตัวตั้งตัวตีในการขับเคลื่อนการใช้จ่ายด้านนวัตกรรมดังกล่าว

บทความของนาย Rod Hunter อดีตผู้อำนวยการอาวุโสด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสภาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีบุช (คนลูก) ซึ่งตีพิมพ์ใน Wall Street Journal วันที่ 30 ธันวาคม 2014 (ในขณะที่คนส่วนใหญ่อยู่ในบรรยากาศ “อยากหยุดพักผ่อน” มากกว่าทำงาน ซึ่งรวมถึงผมด้วย) ให้ความเห็นต่าง

มุมที่น่าสนใจดังนี้

หลายประเทศสำคัญเช่นจีนได้ปรับปรุงแผน 5 ปีเพื่อตั้งเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอินเดีย Narendra Modi ประกาศว่าต้องการให้อินเดียมีนวัตกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ในระดับที่พึ่งพาตนเองได้ โดยเชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศของตน แต่นาย Hunter แย้งว่ามีหลายกรณีที่ประโยชน์สูงสุดจากนวัตกรรมมักจะไม่ได้เป็นผลมาจากนโยบาย (หรือการวางแผน) ของรัฐบาล แต่ปัจจัยสำคัญคือการนำเอานวัตกรรมดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (application and adoption of technical breakthrough) ทั้งนี้ ไม่สำคัญว่าใครจะเป็นผู้ค้นพบนวัตกรรมหรือเกิดขึ้นที่ประเทศใด ตัวอย่างเช่น worldwideweb (www) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายกันทุกวันนี้ (และนับวันก็จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปเรื่อยๆ) เป็นสิ่งประดิษฐ์ของห้องทดลองด้านฟิสิกส์ของบริษัท CERN ซึ่งตั้งอยู่ใกล้นครเจนีวา แต่แน่นอนว่าสวิตเซอร์แลนด์นั้นมิได้เป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่จาก www อย่างแน่นอน กล่าวคือ ประเทศที่จะสามารถตักตวงผลประโยชน์สูงสุดจาก www จะต้องเป็นประเทศที่คนมีความสามารถในการนำเอา www มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้มากที่สุด

นาย Hunt เล่าต่อไปว่านโยบายของรัฐที่ส่งเสริมการแข่งขันนั้นก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง โดยตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงทศวรรษ 1990 ถึงต้นทศวรรษ 2000 บริษัทต่างๆ ในประเทศหลักของยุโรปก็ได้ลงทุนด้านไอทีทั้งด้าน software และ hardware คิดเป็นมูลค่าใกล้เคียงกับสหรัฐในเชิงของสัดส่วนต่อจีดีพี แต่ผลปรากฏว่าผลิตภาพ (productivity) ของประเทศในยุโรปขยายตัวต่ำกว่าผลิตภาพของสหรัฐในช่วง 1995-2000 กล่าวคือผลิตภาพของฝรั่งเศสและเยอรมนีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.1% และ 1.5% ต่อปีตามลำดับ แต่ผลิตภาพของสหรัฐเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี ทั้งนี้ บริษัท McKinsey ได้ทำการวิเคราะห์ความแตกต่างดังกล่าวและสรุปว่านโยบายของยุโรปที่บิดเบือนการแข่งขัน (จากการออกมาตรการต่างๆ ในแต่ละอุตสาหกรรม) เช่นมาตรการกำหนดราคาและการจำกัดการแข่งขันจากรายใหม่ในฝรั่งเศสและเยอรมนี ทำให้บริษัทต่างๆ ไม่สามารถรวมตัวกันได้และเมื่อเป็นบริษัทขนาดเล็ก (industry fragmentation) จึงไม่คุ้มค่าที่จะนำเอาเทคโนโลยีด้านไอทีมาใช้อย่างแพร่หลายทำให้ผลิตภาพของบริษัทต่างๆ ขยายตัวในอัตราที่ช้ากว่าสหรัฐ

เรื่องของการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์นั้นหากนึกถึงเครื่องเล่นเทปวีดิโอ ผมจำได้ว่าเดิมทีบริษัทสหรัฐเป็นผู้คิดค้น (แม้แต่โทรทัศน์เองก็เป็นนวัตกรรมของสหรัฐ) แต่ต่อมาบริษัท Sony เป็นผู้ที่นำมาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ โดยการผลิตเครื่องเล่นวีดีโอ Betamax แต่พยายามผูกขาดเอาไว้ไม่ยอมแบ่งปันฟอร์แมทดังกล่าวกับผู้ผลิตรายอื่น จึงเกิดการแข่งขันกับฟอร์แมท VHS ซึ่งเป็นฟอร์แมทเปิดจนในที่สุด VHS กลายเป็นผู้นำตลาด จนกระทั่งเครื่องวีดีโอก็ล้าสมัยไปเพราะถูกแทนที่โดยดีวีดี และดีวีดีก็กำลังถูกแย่งตลาดโดย blue ray ซึ่งเป็นเรื่องของนวัตกรรมและการแข่งขันในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดยไม่ต้องมีการกะเกณฑ์หรือชี้นำจากภาครัฐแต่อย่างใด

ตรงกันข้ามนาย Hunt มองว่าการ “ตั้งเป้า” ของภาครัฐอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดีเพราะรัฐมีศักยภาพในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมากและในเชิงการเมืองนั้นจะทำเสมือนกับการมุ่งมั่นให้ได้มาซึ่ง “เหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก” เช่นการพัฒนาเครื่องบิน concord ซึ่งบินด้วยความเร็วเหนือเสียงได้ 2 เท่าตัว แต่ในที่สุดก็ประสบความล้มเหลวในเชิงพาณิชย์และต้องล้มเลิกไปในที่สุด หมายความว่านวัตกรรมที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในการเพิ่มผลิตภาพนั้นมิได้ต้องเกิดขึ้นเพราะนโยบายของภาครัฐและประเทศที่จะได้ประโยชน์จากนวัตกรรมดังกล่าวก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะหากเป็นนวัตกรรมของจีนหรืออินเดียหรือเยอรมนี หากคนไทยมีความสามารถในการนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ผลประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นกับคนไทยและเศรษฐกิจไทย

ตัวอย่างของการนำเอาเทคโนโลยีไอทีมาใช้จนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งคือ Uber หรือบริการรถโดยสารส่วนบุคคลที่เข้ามาแข่งขันกับแท็กซี่ในหลายประเทศทั่วโลก การนำเอาเทคโนโลยีไอทีที่มีอยู่มาใช้ทำให้สามารถเรียกรถโดยสารได้รวดเร็วกว่า (เพราะจะใช้ GPS หารถรับจ้างที่ใกล้เคียงที่สุด) และมักจะเป็นรถที่มีสภาพใหม่กว่าและพนักงานขับรถก็สุภาพเรียบร้อย (เพราะจะถูกลูกค้าประเมินได้ทันทีและผลประเมินก็จะเปิดเผยให้เห็นในโทรศัพท์มือถือได้ตลอดเวลา) และในหลายประเทศค่าโดยสารก็ถูกกว่าแท็กซี่ปกติอีกด้วย กล่าวคือเป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในการให้บริการรถยนต์รับจ้างที่ถูกกว่าบริการแบบเดิมที่จะต้องให้รัฐเข้ามาตั้งกฎเกณฑ์มากมายและมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงทำให้เกิดแรงต่อต้านจากผู้ประกอบการเดิม ซึ่งเข้าใจได้เพราะทั้งกลุ่มผู้ประกอบการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกำลังได้รับผลกระทบ เนื่องจาก Uber คือการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในเชิงที่เรียกว่าสร้างความระส่ำระสาย (disruptive technology) ที่อาจเป็น game changer

ที่ผมนำมากล่าวถึงเพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยรัฐบาลยังเขียนแผน Digital Economy ไม่เสร็จด้วยซ้ำ แต่ที่น่าสนใจคือท่าทีของภาครัฐและฝ่ายที่เสียประโยชน์ว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธ Uber เพราะนี่คือตัวอย่างของนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ที่จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลิตภาพและประสิทธิภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคตครับ