Uber vs. Digital Economy

Uber vs. Digital Economy

ปัญหาที่บริษัทข้ามชาติชื่อดังอย่าง อูเบอร์ กำลังเผชิญอยู่ในเมืองไทยขณะนี้นั้น ผมเห็นว่าเป็นปัญหาจิ๊บจ๊อยมาก

เพราะตั้งแต่ที่ธุรกิจนี้กำเนิดขึ้นมาในโลก ก็เจอปัญหาแบบเดียวกันนี้นับไม่ถ้วนในประเทศต่างๆ ที่เขาไปบุกเบิกธุรกิจ

ซึ่งจะว่าไปแล้วนี่เป็นปัญหาพื้นฐานประการหนึ่งระหว่างรัฐกับเอกชน คือ การที่เอกชนนั้นมีความเร็วในการเปลี่ยนแปลงมากกว่ารัฐเยอะ

เราต้องเข้าใจว่า ธุรกิจยุคใหม่นี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป บนพื้นฐานสำคัญ คือ ความต้องการของผู้บริโภค เมื่อใดที่ธุรกิจหนึ่งไม่อาจตอบสนองตรงนี้ได้ เขาก็จะถูกคู่แข่งแย่งตลาดไป แล้วก็ออกจากธุรกิจในที่สุด ยกเว้นเสียแต่ว่า ธุรกิจนั้น อาจมีกฎหมายบางอย่างให้สิทธิประโยชน์พิเศษ เช่น เป็นธุรกิจผูกขาด ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก หรือ ทางเลือกอื่นที่มีอยู่ ก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าสินค้าหรือบริการนั้น หากเป็นอย่างนี้แล้ว ผลกระทบที่จะเกิดก็จะกระจายเป็นวงกว้างไปสร้างอุปสงค์ใหม่ขึ้นมา ก่อให้เกิดการเติบโตในธุรกิจอื่นที่ไม่ได้เป็นคู่แข่งโดยตรงมาแต่เดิมได้

ยกตัวอย่างเช่น การให้บริการขนส่งสาธารณะในเขตเมือง

หากใครเคยใช้บริการขนส่งสาธารณะที่เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น และกรุงเทพฯ มาแล้ว จะเข้าใจว่า ค่าโดยสารที่กรุงเทพนั้น ถูกที่สุดในบรรดาหัวเมืองใหญ่ที่กล่าวถึง

ทว่าขณะเดียวกัน การเดินทางในกรุงเทพฯ ด้วยรถโดยสารสาธารณะนั้น สร้างความเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่งให้ผู้บริโภค กรุงเทพฯ มีปริมาณรถแท็กซี่มากกว่าเมืองใดในประเทศ แต่บางครั้งกลับรู้สึกว่า จะหารถสักคันเพื่อเดินทางไปจุดหมายกลับยากเย็นแสนเข็ญยิ่ง เนื่องจากปัญหาคนขับปฏิเสธที่จะรับส่งผู้โดยสาร อันเป็นเรื่องตลกร้าย ที่ผู้ให้บริการกลับปฏิเสธการให้บริการอันเป็นงานสร้างรายได้ของตัว

ผู้บริโภคที่พอมีกำลังทรัพยากรจึงซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อใช้รับส่งตัวเองแทน และนั้นยิ่งทำให้ปัญหาการจราจรและการเดินทางหนักขึ้นเข้าไปกว่าเดิม รถแท็กซี่ก็ยิ่งหาเรื่องปฏิเสธได้เหมือนเดิม

โชคดีที่เราอยู่ในยุคสมัยดิจิตอล ทำให้คนหัวใสหลายต่อหลายคน พากันสร้างสรรค์โปรดักส์ใหม่ที่มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแสนสาหัสในการเดินทางของคนเมือง ผ่านการให้บริการบนแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน

อูเบอร์เอง เป็นบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวข้องกับการขนส่งจริง แต่อูเบอร์ไม่ได้มีรถยนต์เป็นของตัวเอง

นี่คือ ความมหัศจรรย์ของเศรษฐกิจฐานดิจิตอล เพราะเราสามารถสร้างธุรกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก โดยสิ่งที่เรานำเสนอเราไม่ได้เป็นเจ้าของได้

นี่คือ มุมคิดและมุมทำงานในโลกใหม่ ที่ว่ากันว่า เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มหรือส่วนต่างได้มากที่สุดเท่าที่มีอยู่ในโลกเวลานี้

ลองคิดดูครับว่า บริษัทที่รวยที่สุดในโลกสี่ห้าบริษัทนั้น ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องดิจิตอลทั้งสิ้น ไม่ว่า ไมโครซอฟท์ เอปเปิ้ล อาลีบาบา เฟซบุ๊ค ฯลฯ พวกนี้หลักๆ คือ การขายความคิดผ่านอากาศ ที่จับต้องไม่ได้ แต่มีมูลค่าสูงมาก

ผมคิดว่า ประเทศไทยเราเดินมาถูกทางแล้วที่ทำเรื่องนี้ เพราะการแข่งขันระดับสากลในเรื่องนี้ เราพอสู้ไหว แต่ในเวลาเดียวกัน เรายังมีปัญหามากมายที่ต้องปวดหัวเพื่อให้เศรษฐกิจดิจิตอลเดินหน้าไปได้

การสั่งให้อูเบอร์ยุติการให้บริการบนฐานของการบังคับใช้ “กฎหมาย” อาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อเสียคือ ผู้บริโภคเซ็ง และจะด่ารัฐแทน เพราะบริการของอูเบอร์นั้น เป็นการเข้าไปแก้ปัญหาโดยตรงให้กับผู้บริโภค

ลองคิดดูว่า ทำไมผู้บริโภคถึงยอมจ่ายแพงกว่า สำหรับบริการโดยสาร ที่แท็กซี่ธรรมดาราคาปกติ ก็อาจทำได้เช่นเดียวกัน?

ในภาษาสตาร์ทอัพ (startup) เขาจะบอกว่า อูเบอร์นั้นไปแก้ไปที่จุดเจ็บปวด (pain point) ของผู้บริโภค หรือ ภาษาวัยรุ่นยุคก่อนก็จะบอกว่า บริการของอูเบอร์นั้น “โดน”

ขณะที่ข้อดีของการปิดอูเบอร์ได้สำเร็จนั้น (หากจริงในระยะยาว) ก็คือ จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมอื่นเข้ามาแทนที่มากยิ่งขึ้น อันนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศ

เพราะปัญหาได้ถูกสะกิดแล้ว เมื่ออูเบอร์นำร่องได้ผล แม้จะถูกปิดตัว (ชั่วคราว) ก็ยิ่งทำให้คนในธุรกิจดิจิตอลนี้ เห็นโอกาสของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ที่สมควรสามารถปิดข้อบกพร่องเชิงกฎหมายอย่างที่อูเบอร์ประสบ

อันที่จริง ผมค่อนข้างเชื่อว่า เดี๋ยวอูเบอร์ก็กลับมา บริษัทนี้ถูกฟ้องมาเยอะในหลายประเทศ แต่ในเวลาเดียวกันธุรกิจก็โตเอาโตเอา ไม่มีทีท่าจะเล็กลงแต่อย่างใด ล่าสุดเพิ่งได้เม็ดเงินลงทุนใหม่จากไป่ตู้ (Baidu) มากถึง 600 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงประเทศไทยหรอกครับ ธุรกิจอย่างอูเบอร์ไม่มีแท็กซี่ประเทศไหนในโลกชอบ แม้ว่าแท็กซี่ในหลายประเทศจะให้บริการที่ดีกว่าแท็กซี่ไทยก็ตาม ยังแพ้อูเบอร์เลย ทั้งที่อูเบอร์ไม่ได้เป็นเจ้าของรถลีมูซีนที่ให้บริการสักคัน

เมื่อราวสองปีที่แล้ว ก่อนที่อูเบอร์จะมาสร้างฐานในเมืองไทย ผมเคยพบกับผู้จัดการเทคโนโลยีของเขา เราพูดคุยกันหลายเรื่อง ประเด็นหนึ่งก็คือ การแข่งขันทางธุรกิจกับบริการขนส่งสาธารณะแบบเดิม ผมได้รับคำตอบที่น่าสนใจมาก และเปิดมุมมองให้ผมหลายอย่าง

สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ ในเศรษฐกิจแบบดิจิตอลนี้ รัฐไทยยังต้วมเตี๊ยมเยอะไปหน่อย ทั้งข้อระเบียบ กฎหมาย วิธีคิด และวิธีการส่งเสริมของรัฐ ยังติดอยู่ในกรอบเดิมอยู่มาก

ลองคิดดูครับว่า ถ้าหากเราเอากฎหมายเข้ามาจับ เราจะมีปัญหากับอะไรอื่นๆ ได้อีก?

การขายของออนไลน์ทุกวันนี้ เสียภาษีเงินได้กันอย่างไร?

นักออกแบบที่สร้างสติ๊กเกอร์หรือตัวคาแรกเตอร์ในแอพพลิเคชั่นต่างๆ เมื่อเขามีรายได้ มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายกันอย่างไร? ใครเป็นผู้เก็บเงินส่วนนั้นไว้?

บริษัทจองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินในต่างประเทศ มีการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต หากเกิดปัญหาฟ้องร้องกันขึ้น เราจะบังคับใช้กฎหมายของประเทศไหน?

บริการให้ที่พักพร้อมอาหารเช้าในบ้านหรือที่อยู่อาศัยของตัวเอง ผ่านเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง airbnb จะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อธุรกิจโรงแรมให้บริการทั่วไป ได้รับผลกระทบเข้าอย่างจัง?

การจะตอบคำถามที่ซับซ้อนพวกนี้ให้ได้นั้น เราต้องไม่ลืมว่า นี่เรากำลังพูดถึงธุรกิจใหม่ในระบบเศรษฐกิจใหม่

เมื่อเป็นนวัตกรรม ก็ย่อมหมายความว่า จะต้องมีการทำลายล้างของเดิม ธุรกิจเดิมในระบบเศรษฐกิจเดิมลงไปบ้าง เฉกเช่นเดียวกับที่ทีวีสีมาแทนที่ทีวีขาวดำ กล้องดิจิตอลมาแทนที่ฟิล์ม แต่นั้นเป็นการทำลายที่สร้างสรรค์

เศรษฐกิจดิจิตอลจึงย่อมมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงแน่นอน ย่อมมาพร้อมกับผลกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมเดิมแน่นอน

การจะจัดการเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพ จึงต้องใช้มุมมองใหม่ ซึ่งต้องมาพร้อมกับความรวดเร็วในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางอย่างเพื่อรับมือ พัฒนาการของเศรษฐกิจจึงจะเดินหน้าไปอย่างที่คาดหวัง

ไม่อย่างนั้น ดิจิตอลอีโคโนมีของเราจะเป็นได้อย่างมากก็เพียง “มโนอีโคโนมี” เท่านั้นเอง