ปฏิรูปการบริหารทีมฟุตบอลแบบเยอรมัน

ปฏิรูปการบริหารทีมฟุตบอลแบบเยอรมัน

ผลงานของอินทรีเหล็กไม่ใช่เพราะโชคช่วย แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการและการวางแผนที่มีประสิทธิภาพ

เนื่องจากดิฉันเป็นแฟนบอล (กับเขาบ้าง) เหมือนกัน แม้ไม่ได้เชี่ยวชาญเป็นเซียนบอลตัวฉกาจ แต่ก็สนใจใคร่รู้ว่าเหตุใดทีมฟุตบอลของประเทศเยอรมนีจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นทีมที่เยี่ยมที่สุดในโลก ผลงานของทีมอินทรีเหล็กในการแข่งเวิร์ลคัพที่บราซิลเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมาย่อมเป็นข้อพิสูจน์เป็นอย่างดีว่าผลงานของอินทรีเหล็กไม่ใช่เรื่องฟลุ๊คหรือโชคช่วย แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการและการวางแผนที่มีประสิทธิภาพมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 หลังทีมเยอรมันตกรอบแรกๆของการแข่งบอลยุโรปที่โปรตุเกสในครั้งนั้นโดยที่แพ้ทุกเกมที่มีการดวลแข้งกัน ทั้งนี้เมื่อสิบปีที่แล้วผลงานของทีมชาติอังกฤษยังดูดีกว่ามาก แต่ในวันนี้ทีมสิงโตดูหมดเขี้ยวเล็บโดยสิ้นเชิงเมื่อตกรอบแรกๆของบอลโลก ใครที่เป็นแฟนทีมอังกฤษล้วนคอตกไปตามๆกัน

ดิฉันได้ไปอ่านพบข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับคอบอลและคอบริหารจัดการเมื่อหยิบนิตยสาร Business Life ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ในห้องพักผู้โดยสารมาอ่านฆ่าเวลาระหว่างรอเครื่องบิน (ขอกระซิบว่าดิฉันมักพบข้อมูลที่น่าสนใจจากการอ่านหนังสือช่วงรอไฟล้ท์บ่อยทีเดียว) นิตยสารประจำเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีบทวิเคราะห์ (ที่ไม่ทราบชื่อผู้เขียน)การบริหารทีมฟุตบอลเยอรมันว่าแตกต่างจากทีมอังกฤษอย่างไร โดยบทความเริ่มเล่าเหตุการณ์ตอนปี 2004 หลังการพ่ายแพ้ของทีมชาติเยอรมันดังกล่าวแล้ว โดยสมาคมฟุตบอลเยอรมัน (German Football Association) ได้ให้โค้ช เจอร์เก้น คลินสมัน และโค้ชโจอาคิม เลิ้ว (ซึ่งเป็นโค้ชทีมชาติคนปัจจุบัน) สร้างแผนงานพัฒนาทีมบอลใหม่โดยตั้งใจจะสร้างให้เป็นมาตรฐานแบบเยอรมันเลย ซึ่งก็ได้เน้นการลงทุนในทีมฟุตบอลเยาวชนและทีมของสถาบันการศึกษาอันเป็นการสร้างพื้นฐานความเป็นมืออาชีพตั้งแต่เด็กๆ นอกจากนี้ก็ยังได้สร้างแบบแผนอันเปรียบเสมือนเป็น “พิมพ์เขียว” (Blueprint) ของการทำทีมบอลเยอรมันและเกมการเล่นแบบเยอรมันที่บรรดานักเตะ โค้ช และผู้สนับสนุนเกี่ยวข้องทั้งหลายสามารถเรียนรู้มาตรฐานความเป็นมืออาชีพนี้ได้ ซึ่งผลของการปฏิรูปและลงทุนในเรื่องนี้มาตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เยอรมนีจัดการกิจกรรมเรื่องบอลได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในและนอกสนาม บอลเยอรมันจะไม่พึ่งนักเตะดาวเด่นคนใดคนหนึ่ง แต่จะพยายามสร้างทุกคนให้มีจุดเด่น

มีแต่เงินก็ใช่ว่าจะเป็นเจ้าของสโมสรทีมฟุตบอลเยอรมันได้

ผู้วิเคราะห์ของนิตยสาร Business Life มองว่าในประเทศอังกฤษ ธุรกิจบอลพรีเมียร์ ลีกเหมือนสนามวิ่งเล่นของอภิมหาเศรษฐีเงินพันล้าน กลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจ (Oligarchs) และชีคส์ (Sheikhs – ผู้นำหรือหัวหน้าของชาวตะวันออกกลาง) ที่ร่ำรวยและนิยมลงทุนในทีมฟุตบอลดังๆ แต่ในเยอรมนีนั้นมีแบบแผนที่ต่างกันโดยที่มีกฏออกมาว่านักลงทุนสามารถมาลงทุนซื้อหุ้นเป็นเจ้าของสโมสรทีมฟุตบอลได้ก็จริงแต่สมาชิกผู้ถือหุ้นรายย่อยจะมีสิทธิ์เป็นเจ้าของมากกว่าอย่างน้อยหนึ่งเปอร์เซนต์ (ตามกฎ 50%+ 1) ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้นายทุนเงินใหญ่มีเสียงมากกว่าสมาชิกสโมสรส่วนมากในการบริหารทีมฟุตบอล ยกตัวอย่างทีมบาเยิร์น มิวนิคซึ่งเป็นทีมชั้นนำของเยอรมนีนั้น มีสมาชิกรายย่อยเป็นเจ้าของสโมสรถึง 82% และมีบริษัทขายอุปกรณ์กีฬาอดิดาส กับบริษัทผลิตรถยนต์ออดี้ เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนหลัก คริสเตียน ไซเฟิร์ท CEO ของสมาคมฟุตบอลเยอรมันกล่าวว่ากฎ 50% + 1 นี้เป็นแบบจำลอง (Model) ที่ตอบโจทย์ทุกข้อในเรื่องการบริหารทีมบอล เพราะมันสร้างหลักประกันให้เกิดเสถียรภาพ ความยั่งยืน ความผูกพันของสมาชิกต่อสโมสร และป้องกันมิให้มีเม็ดเงินที่มากล้นเกินไปไหลเข้าสู่สโมสร (ซึ่งมีผลทำให้นายทุนที่มีแต่เงินแต่ไม่รักและไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับฟุตบอลจริงมาสามารถมีอำนาจชี้นำสโมสรมากกว่าสมาชิกรายย่อยอื่นๆที่เข้าใจทีม รักและผูกพันกับสโมสรนับเป็นสิบๆปี) ไซเฟิร์ทยังกล่าวต่อไปอีกว่า “เราไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องเสียประโยชน์ที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับกลุ่มทุนจากภายนอก นักลงทุนที่อยากเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของสโมสรต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีความรับผิดชอบผูกพันกับบุนเดสลีกา (ระบบการแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศเยอรมนี เริ่มก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1963 – ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย) แฟนบอล และคู่แข่งอย่างแท้จริง นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงมีข้อบังคับว่าผู้ร่วมทุนหลักของสโมสรต้องเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนสโมสรมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ยกตัวอย่างเช่น บริษัทไบเออร์ และโฟล์คสวาเก้นที่เป็นผู้สนับสนุนหลักของสโมสรเลเวอร์คูเซนและสโมสรโวล์ฟสบวร์ก เป็นต้น

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ความต้องการของประดาแฟนบอลไม่เพียงแต่จะมีเสียงมากกว่านักลงทุน แต่ความต้องการของเขายังได้รับความสนใจจากผู้บริหารสโมสรนำไปปฏิบัติอีกด้วย เปรียบเทียบกับที่ในอังกฤษ บรรดาแฟนบอลสมาชิกผู้สนับสนุนรายย่อยของสโมสรต้องเดินขบวนถือป้ายไปประท้วงหน้าสโมสร ผู้บริหารสโมสรจึงจะให้ความสนใจ ในขณะที่ในเยอรมนี แฟนบอลไม่ต้องประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารฟังเสียง พวกเขาเป็นคนออกเสียงเลือกตั้งผู้บริหารสโมสรโดยตรง ใครอยากได้ใครเป็นผู้บริหารสโมสรก็เลือกคนนั้น ไม่ชอบใครก็ไม่ต้องเลือก ไม่เหมือนทีมบอลที่มีอภิมหาเศรษฐีเป็นเจ้าของที่มีเสียงใหญ่ในการจะเลือกใครมาบริหารหรือสั่งผู้บริหารให้ทำตามใจตัวเองได้

ฟุตบอลเป็นของประชาชน (มากกว่า)

นอกจากกฎเรื่องการถือหุ้นและการมีสิทธิ์เสียงของสมาชิกในการบริหารสโมสรฟุตบอลของเยอรมนีที่ต่างจากอังกฤษแล้ว เรื่องของราคาตั๋วดูฟุตบอลก็ยังต่างกันด้วย โดยตั๋วชมฟุตบอลบุนเดสลีกาลีกในเยอรมนีมีราคาต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับตั๋วชมฟุตบอลลีกชั้นนำอื่นๆของยุโรปซึ่งได้แก่ พรีเมียร์ ลีกของอังกฤษ ลาลิก้า ของสเปน ฟรานซ์ ลีก 1 ของฝรั่งเศส และอิตาลี ซีรี่ เอ ของอิตาลี โดยเฉลี่ยแล้วราคาตั๋วดูบอลบุนเดสลีกาสำหรับดูบอลแมตช์หนึ่งราคาประมาณ 10 ปอนด์ (ประมาณ 520 บาท) ในขณะที่ราคาตั๋วดูพรีเมียร์ ลีกนั้นราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 28 ปอนด์ (ประมาณ 1,450 บาท) ส่วนราคาตั๋วสำหรับดูบอลทีมชั้นนำ ตลอดฤดูกาลนั้น ในเยอรมนีเฉลี่ยตกอยู่ที่ 207 ปอนด์ (ประมาณ 10,700 บาท) ของอังกฤษอยู่ที่ 486 ปอนด์ (ประมาณ 23,430 บาท) และเมื่อเร็วๆนี้สโมสรบาเยิร๋น มิวนิคเพิ่งประกาศราคาตั๋วตลอดฤดูกาลหน้าของสโมสรอยู่ที่ 104 ปอนด์ (ประมาณ 5,400 บาท) ในขณะที่สโมสรอาร์เซนอลในอังกฤษประกาศราคาตั๋วทั้งฤดูกาลอยู่ที่ต่ำกว่า 1,000 ปอนด์ (ประมาณ 50,100 บาท)เพียงเล็กน้อย

ประธานสโมสรบาเยิร์น มิวนิค อธิบายเหตุผลของการตั้งราคาตั๋วที่ต่ำลงว่า “เราไม่คิดว่าแฟนบอลนั้นเปรียบเสมือนแม่วัวที่เราคอยรีดนมมัน ฟุตบอลควรเป็นของสำหรับทุกคน (ที่จะดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงเกินไป) และนี่คือความแตกต่างมากที่สุดระหว่างเรากับอังกฤษ” และแม้ว่าสโมสรฟุตบอลเยอรมันจะไม่มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและมีราคาค่าตั๋วต่ำกว่า สองปัจจัยนี้ก็มิได้ทำให้บุนเดสลีกามีผลงานและผลประกอบการที่น้อยหน้าแต่อย่างใด ตรงกันข้ามรายงานประจำปีแสดงว่าสโมสรต่างๆในบุนเดสลีกาสามารถสร้างรายได้มากกว่าปี 2012 – 13 ถึงกว่า 1.73พันล้านปอนด์ (ประมาณเก้าหมื่นกว่าล้านบาท) และสามารถสร้างผลกำไรรวมกันได้ถึง 303 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1 หมื่น 5 พันล้านบาท) ทั้งนี้มีจำนวนสโมสรชั้นท้อปรายงานว่าทำผลกำไรได้ถึง17 สโมสร จากจำนวนทั้งหมด 18 สโมสร และในสโมสรชั้นรองลงมาจำนวนทั้งหมด 18 สโมสร มีที่ทำกำไรได้ 15 สโมสร หันมาดูทางอังกฤษบ้าง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเงินของธุรกิจฟุตบอลจากบริษัทที่ปรึกษาดีล้อยต์รายงานว่า สโมสรจำนวน 20 สโมสรในพรีเมียร์ ลีกสร้างรายได้เมื่อปีที่ผ่านมาได้รวมกันประมาณ 2.52 พันล้านปอนด์ (ประมาณ เกือบๆ 1 แสน 3 หมื่นล้านบาท) แต่สร้างผลกำไรได้เพียง 82 ล้านปอนด์ (ประมาณ 4 พัน 2 ร้อยกว่าล้านบาท) และมีเพียง 13 จาก 20 สโมสรเท่านั้นที่รายงานว่าสร้างผลกำไร มองดูตัวเลขเปรียบเทียบแล้วก็จะเห็นว่าบุนเดสลีกามีประสิทธิภาพมากกว่าพรีเมียร์ ลีกทั้งในแง่ผลงานของนักฟุตบอล ผลงานของสโมสรในลีก และผลกำไรโดยรวม ทั้งนี้ผลต่างของกำไรมิได้แสดงถึงความสามารถในการบริหารเพียงอย่างเดียว แต่มันยังแสดงว่าทางอังกฤษใช้เงินมากกว่าในการจ่ายค่าแรงนักเตะ คิดเป็นอัตราส่วนสูงกว่า 70% ของรายได้ ในขณะที่ทางเยอรมนีจ่ายที่อัตราส่วนประมาณ 39% ของรายได้ ดีทมาร์ ฮามันน์ อดีตมิดฟีลด์ทีมชาติเยอรมันที่ถูกลิเวอร์พูลซื้อตัวไปแสดงความเห็นว่า “มันก็ไม่ใช่ว่านักเตะของบุนเดสลีกาได้ค่าตัวต่ำ แต่แน่นอนที่พวกเขาได้ค่าตัวต่ำกว่านักเตะของพรีเมียร์ ลีก นี่คือเหตุผลว่าทำไมพรีเมียร์ ลีกจึงมีนักเตะต่างชาติมาก และมัน (การที่มีนักเตะต่างชาติมาก) ก็มีผลเสียกับ (การทำ)ทีมชาติโดยรวม” ทั้งนี้โดยภาพรวม สโมสรของเยอรมันจะมีความต้องการใช้นักเตะต่างชาติน้อยกว่าทางอังกฤษ ทั้งนี้เพราะพวกเขาจะมุ่งให้ความสนใจกับการสร้างนักเตะจากสโมสรบอลเยาวชนในประเทศมากกว่า

เนื้อที่หมดเสียแล้ว คราวหน้ามาคุยกันต่อเรื่องการสร้างนักเตะ และทีมผู้ค้าแข้งแบบเยอรมันกันต่อนะคะ