จีนทุ่มทุนปั้นธนาคาร AIIB และ NDB เพื่ออะไร

จีนทุ่มทุนปั้นธนาคาร AIIB และ NDB เพื่ออะไร

ในปีนี้สีจิ้นผิง ผู้นำเบอร์หนึ่งของจีนกลายเป็นเสี่ยสั่งลุยหว่านเงินสร้างผลงานเพื่อขยายบทบาทผู้นำทางเศรษฐกิจจีน

ทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค มีทั้งการร่วมมือกับเพื่อนในกลุ่มบริคส์ (BRICS) คือ บราซิล รัสเซีย อินเดียและแอฟริกาใต้ จัดตั้งธนาคาร New Development Bank (NDB) และตั้งกองทุนเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement : CRA) โดยกลุ่มนี้มีท่าทีชัดเจนในการร่วมมือกันลดทอนความสำคัญของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (Dedollarization) และลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนของโลกที่มีอยู่เดิมอย่างธนาคารโลก (World Bank) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติตะวันตกมานาน

นอกจากนี้ ความเป็นเสี่ยสั่งลุยของจีนที่เกี่ยวข้องกับไทยและอาเซียนโดยตรง คือ การจัดตั้งกองทุน Silk Road Fund มูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการเป็นโต้โผใหญ่ในการจัดตั้งธนาคาร Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) โดยการควักกระเป๋าลงขันไปก่อนในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นธนาคารภูมิภาคแห่งใหม่ขึ้นเทียบชั้นกับธนาคาร Asian Development Bank (ADB) ที่ริเริ่มโดยญี่ปุ่น

น่าคิดมั้ยคะ พญามังกรจีนตั้งใจทุ่มเงินมหาศาลเพื่อสร้างผลงานขนาดนี้ไปเพื่ออะไร

หากฟังจากปากผู้นำจีน จะได้รับคำตอบว่า “ทั้งกองทุน Silk Road และธนาคาร AIIB จะเป็นแหล่งเงินสำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินและภาคการผลิตอุตสาหกรรม ตลอดจนการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ” สิ่งเหล่านี้ช่างสอดรับกับแนวคิดการปลุกคืนชีพ “เส้นทางสายไหม” ของผู้นำจีนมาตั้งแต่ปี 2013

แน่นอนว่า สิ่งที่อยู่ในใจของผู้นำจีนในการปลุกปั้นผลงานเหล่านี้ขึ้นมา ก็เพื่อคานอำนาจกับสหรัฐ โดยเฉพาะการหวนกลับมาพัวพันกับชาติต่างๆ ในเอเชียในยุคโอบามา

ที่สำคัญ เบื้องหลังในการตั้งใจใช้เงินเพื่อจัดตั้งธนาคารแห่งใหม่ทั้ง AIIB และ NDB รวมทั้งกองทุน Silk Road และสารพัดกองทุนอื่นๆ ที่จีนควักกระเป๋าจัดตั้ง แท้จริงแล้ว ก็มุ่งเพื่อใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศก้อนมหาศาลของจีนให้เกิดประโยชน์โภชน์ผลให้มากขึ้น

แม้ว่าจีนจะมีทุนสำรองฯ มากที่สุดในโลกสูงกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ส่วนใหญ่ถูกลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ โดยเฉพาะในรูปของการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐด้วยมูลค่ากว่า 1.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้จีนกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ แต่ผลตอบแทนที่ได้ค่อนข้างต่ำเพียงแค่ร้อยละ 2-3 ต่อปี และมีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้น การกระจายนำทุนสำรองฯ ก้อนมหาศาลของจีนไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น การลงขันในการจัดตั้งบรรดาธนาคารทางเลือกใหม่ทั้ง AIIB และ NDB ตลอดจนการใส่เงินลงไปในกองทุนต่างๆ จึงเป็นการช่วยให้ทุนสำรองฯ ของจีนได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า และยังช่วยกระจายความเสี่ยงในการถือครองพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐที่มากเกินไปด้วย

นอกจากนี้ ทั้ง 2 ธนาคารแห่งใหม่และกองทุนต่างๆ ที่จีนจัดตั้งขึ้น ยังเป็นช่องทางสำคัญในการผลักดันให้เงินหยวนถูกใช้ในระดับโลกให้มากขึ้น ด้วยความฝันที่จะเห็นเงินหยวนของตนได้ผงาดขึ้นเป็นอีกสกุลเงินหลักของโลกต่อไป เพราะในขณะนี้ แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าต่างประเทศมากที่สุดในโลก และมีทุนสำรองฯ มากที่สุดในโลก แต่เงินหยวนของจีนก็ยังไม่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเงินสกุลหลักของโลก

รัฐบาลจีนอาจจะใช้วิธีตั้งเงื่อนไขกับรัฐบาลประเทศที่จะมาใช้เงินจากกองทุนหรือแหล่งเงินทุนที่จีนหนุนหลัง โดยทำข้อตกลงสัญญาในการว่าจ้างวิสาหกิจจีนให้เป็นผู้ก่อสร้างและใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันในรูปของสกุลเงินหยวน เป็นต้น จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้บรรดาบริษัทจีนได้ออกไปลงทุนรับงานสร้างโครงการก่อสร้างพื้นฐานจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่จะกู้เงินจากธนาคารที่จีนตั้งขึ้นมา รวมไปถึงโอกาสในการส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนไปยังประเทศที่จะมาพึ่งพาแหล่งเงินเหล่านั้น เป็นต้น

อีกคำถามสำคัญ คือ การมีธนาคาร AIIB จะเป็นประโยชน์กับไทยและภูมิภาคเอเชียอย่างไร แน่นอนว่า ธนาคารแห่งใหม่ในเชิงหลักการ ย่อมจะเป็นอีกทางเลือกของแหล่งเงินทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะในห้วงยามนี้ ซึ่งมีอุปสงค์ส่วนเกินในการแสวงหาแหล่งเงินจำนวนมหาศาลมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หากแต่มีความขาดแคลนของสถาบันการเงินที่มีอยู่เดิมอย่างธนาคาร ADB ที่ไม่สามารถเติมเต็มความต้องการและความจำเป็นทางการเงินเหล่านั้น เคยมีรายงานคาดการณ์ว่า “ภายในปี 2020 การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชียต้องใช้เงินสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ” ดังนั้น ถ้าอาศัยองค์กรสถาบันการเงินที่มีอยู่เดิมในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ

แล้วธนาคาร AIIB ที่จีนปลุกปั้นมากับมือจะตอบโจทย์สนองความต้องการทางการเงินเหล่านี้ได้หรือไม่ หากพิจารณาเปรียบเทียบกับแหล่งเงินระดับโลกและระดับภูมิภาคในแต่ละทางเลือกที่แสดงในตาราง พบว่า ธนาคาร AIIB ยังมีวงเงินลงทุนไม่มากและเพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ จึงต้องรอลุ้นดูต่อไปว่า จะมีการขยายวงเงินลงทุนของว่าที่ธนาคารฯ น้องใหม่แห่งนี้ไปได้อีกมากน้อยแค่ไหน

แม้ว่าจะมี 20 ประเทศร่วมลงนามใน MOU กับจีนเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมก่อตั้งธนาคาร AIIB แต่ในทางปฏิบัติ ประเทศเหล่านี้จะสามารถใส่เงินลงทุนไปได้จริงมากน้อยเพียงใดก็ต้องติดตามดูต่อไป ซึ่งคาดว่า จะมีการใส่เงินลงขันตามสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจ GDP ของแต่ละประเทศ

ในส่วนของไทยคาดว่า จะสามารถร่วมใส่เงินลงทุนในธนาคาร AIIB ได้ประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังของไทยที่ต้องหาเงิน เช่น การออกพันธบัตร เพื่อระดมทุนไปร่วมลงขันใน AIIB ทางสศค. เคยระบุว่า จะใช้ระยะเวลาระดมทุนในส่วนของไทยประมาณ 5-7 ปี

นอกจากนี้ ยังขาดความชัดเจนในรายละเอียดของ AIIB ว่าจะมีรูปแบบและกลไกการดำเนินงานต่อไปอย่างไร แล้วจะมีจุดเด่นที่จูงใจหรือมีความแตกต่างกับธนาคารที่มีอยู่เดิมอย่าง ADB อย่างไร จึงต้องรอลุ้นและรอดูผลอย่างเป็นรูปธรรมของการก่อตั้งธนาคาร AIIB ต่อไปค่ะ