เศรษฐกิจพอเพียงของเดอะนิวเมียนมาร์สิปปะพลัง

เศรษฐกิจพอเพียงของเดอะนิวเมียนมาร์สิปปะพลัง

ยุคตื่นพลังงาน (Energy rush) เปลี่ยนรัฐที่โดดเดี่ยวตนเองให้กลายเป็นว่าที่มหาอำนาจใหม่ของอาเซียน

ในชื่อที่รู้จักกันว่า “เดอะนิวเมียนมาร์”

ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันและพลังน้ำทำให้การดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้กฎอัยการศึกกว่า 50 ปีที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อยาวนานที่สุดในโลกถึง 15 ปีกำลังจะกลายเป็นเพียงความหลังสีจางๆ

แม้เมียนมาร์จะเป็นชาติที่ยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะ 99% ของประชากรเกือบ 60 ล้านคนยังยากจนอยู่แต่ การให้สัมปทานแก่บริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่อย่างเทเลนอร์ (Telenor) และออเรดู (Ooredoo) ส่งผลให้เมียนมาร์เข้าสู่การปฏิวัติความรู้ครั้งใหญ่ผู้คนกำลังโหยหาข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ใหม่ๆ จากโลกออนไลน์และไอโฟน ธุรกิจยาสมัยใหม่จากโลกตะวันตกเติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับโคคาโคล่าที่เชื่อมเมียนมาร์เข้ากับประชาคมโลกไว้อีกครั้งการลงทุนในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศเพื่อนบ้านที่บริโภคพลังงานมากที่สุดของโลกอย่างจีนกำลังสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาลและช่วยถ่วงดุลอำนาจของประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและอินเดียเอาไว

แต่อย่าลืมว่าเบื้องหลังประตูที่ถูกปิดตายจากสังคมโลกภายนอกมานานกว่า 60 ปีนั้นประชากรกว่า 2 ใน 3 ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนผู้ที่มีไฟฟ้าไว้ใช้ก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ไฟฟ้าดับรายวันหรือดับวันละหลายครั้ง คนทั่วโลกมองว่าเมียนมาร์ขาดโครงสร้างพื้นฐานและโรงไฟฟ้าแต่ชาวไทใหญ่ที่เชียงตุงเห็นว่าเป็นการจงใจที่แฝงนัยแห่งอำนาจและการควบคุมดังนั้นการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองจาก “ช๋าง” หรือ “โลงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ (Village hydros)” ในแง่หนึ่งจึงเป็นการแสวงหาความหลุดพ้นโดยใช้ความเพียร อีกมุมหนึ่งคือการประกาศอิสรภาพของรัฐฉานที่ไม่ยอมจำนนต่อข้อจำกัดใดๆ

สายน้ำไหลผ่านแอ่งที่เกิดจากแก่ง (Riffle-pool sequence) ในลำธารภูเขาอันคดเคี้ยวของเชียงตุงคือความมหัศจรรย์ที่ทำให้เมียนมาร์ได้เปรียบประเทศอื่น เพราะเต็มไปด้วยพลังงานมากมายและหินแม่น้ำขนาดใหญ่ น้ำช่วยหมุนมอเตอร์เพื่อปั่นไฟฟ้าแล้วส่งตามสายไปให้ตู้เย็น ไฟส่องสว่าง หรือใช้ดูโทรทัศน์เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่จะใช้พร้อมกันไม่ได้เพราะกำลังการผลิตมีจำกัดและต้องคอยรักษาสมดุลน้ำในช๋างให้สูงประมาณ 1 ฟุตอยู่ตลอดเวลาโดยใช้หินแม่น้ำ

ช่วงที่แอ่งน้ำลดระดับต้องนำหินแม่น้ำมาทำฝายแม้วชั่วคราวเพื่อทดน้ำ เมื่อน้ำขึ้นต้องรื้อฝายออกแล้วยกหินไปวางไว้ที่พื้นน้ำหน้าช๋างเพื่อกั้นไม่ให้ระดับน้ำในช๋างสูงเกินไปหินบางก้อนหนักเกือบสิบกิโลกรัม การยกหินเรียงในนิเวศน้ำไหลที่เย็นเฉียบในหน้าหนาวไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเรียนรู้ที่จะสร้างที่พึ่งของตน (นาถกรโณ) โดยอาศัย “สิปปะ” หรือความรอบรู้ศิลปะในมงคลสูตรที่เกิดจากการหมั่นสังเกตความเร็วของกระแสน้ำและระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาต้องมีความรู้เรื่องการควบคุมน้ำที่เป็นองค์ความรู้สำคัญของวิศวกรรมแม่น้ำแบบพื้นบ้านของชาวไทใหญ่ต้องรู้จักใช้เท้าเพื่อทำความรู้จักกับกรวดและพลวัตของโลกใต้น้ำและรู้จักใช้มือจัดวางหินโดยรักษาระดับน้ำให้สอดคล้องสัมพันธ์กับช๋างกว่า 30 โลงของเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบช๋างจึงช่วยสร้างสันติภาพในการดำรงชีวิตให้อยู่ใน “สีละ” หรือ มรรยาทของสังคม

พลังงานหมุนเวียนจะถูกเก็บเกี่ยวมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อคนมีความรอบรู้ในศิลปะให้เวลากับการพัฒนาทักษะและเห็นว่าการดูแลรักษาระบบพลังงานหมุนเวียนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงสิปปะและสีละนอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่โลกทั้ง 2 คือโลกของตนเองและโลกของเพื่อนบ้านแล้ว ยังทำให้โลกเจริญขึ้นทั้งทางวัตถุและจิตใจ สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นส่วนสำคัญในการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางพลังงานของอาเซียน

ในโลกแห่งพลังงานนั้น เมียนมาร์คือเศรษฐกิจชีวมวล (Bio-energy economy) ที่มั่งคั่งเพราะมีชีวมวลมากถึง 62% ขณะที่มีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติอยู่เพียง 23% การเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกทำให้ได้แกลบจำนวนมหาศาล ร้านอาหารที่ตลาดมัตตะยา เมืองมัณฑะเลย์จึงใช้แกลบดิบเป็นเชื้อเพลิงเหลือใช้แทนฟืนโดยแลกแกลบกับน้ำตาลจากเจ้าของโรงสี ผู้คนสะสมน้ำตาลไว้ใช้ทำขนมมงคลในงานบวชเณรประเพณีสำคัญของชาวเมียนมาร์เพราะเป็นการบวชตลอดชีวิตที่คนทั้งหมู่บ้านต่างร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ขี้เถ้าที่เหลือ เจ้าของร้านจะตระเวนไปทิ้งไว้ตามทุ่งนาเพื่อเพิ่มปุ๋ยชั้นดีให้กับนาข้าว ขี้เถ้าบางส่วนเก็บไว้ผสมกับผงซักฟอกใช้ขัดก้นหม้อ

การแลกแกลบกับน้ำตาลและการคืนขี้เถ้าเป็นปุ๋ยให้นาไม่ใช่การแลกเปลี่ยนในความหมายทั่วไป (Barter system) แต่มี “จาคเจตนา” อันเป็นเหตุให้บริจาคทานหรือการสร้างความดี โดยให้วัตถุที่พึงให้เป็นของสักการะแก่ผู้อื่นแม้แกลบก็จัดเป็นวัตถุทานที่มีผลของทานที่ยิ่งใหญ่เพราะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจร้านอาหารทำให้อาหารมีราคาถูกลง และช่วยสืบสานพระศาสนา

การสร้างความมั่นคงทางพลังงานจึงมิใช่แค่การพัฒนาเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ต้องฟื้นจิตวิญญาณทางศิลปะและวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ในสถาปัตยกรรมพลังงานหมุนเวียนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้พลังงานหมุนเวียนถูกเก็บเกี่ยวมาใช้อย่างยั่งยืนถึงเวลาเริ่มต้นค้นหาและพัฒนาศิลปะการสร้างพลังงานด้วยตัวเองกันแล้ว เพราะ “โลกหลังการตื่นพลังงาน” จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้....